การศึกษา

 

         ห้องฉุกเฉิน เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของโรงพยาบาลทุกแห่ง หากขึ้นชื่อว่าโรงพยาบาลแล้วจะอย่างไรก็ต้องมีห้องฉุกเฉินหน้าที่หลักของห้องฉุกเฉินคือการให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤติอยู่ระหว่างความเป็นความตาย จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วนและถูกต้อง ซึ่งในการตัดสินใจสั่งการรักษาที่เหมาะสมในเวลาที่จำกัดนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ให้การดูแลรักษานอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถในระดับสูงแล้ว ประสบการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้

 

  หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

 

                                         ในอดีตที่ผ่านมา แพทย์ที่จบมานานแล้วและมีประสบการณ์สูง มักเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง ทำให้ไม่ถนัดในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่นอกสาขาของตน จึงมีความลำบากใจและไม่อยากอยู่ห้องฉุกเฉินที่มีความหลากหลายของผู้ป่วยมาก ห้องฉุกเฉินเกือบทุกแห่งในประเทศไทยถูกทิ้งให้เป็นภาระของแพทย์จบใหม่หรือนักศึกษาแพทย์ ซึ่งยังมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไม่มากนัก เรียกได้ว่าเอาคนที่รู้น้อยที่สุดไปดูแลคนที่เจ็บหนักที่สุด

          หลักสูตรแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อผลิตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ในประเทศไทยได้มีการเปิดอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 โดยโครงการจัดตั้งภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหนึ่งในสถาบันที่เปิดอบรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเป็นครั้งแรก

            

  หลักสูตรเวชศาสตร์ฉุกเฉินสำหรับนักศึกษาแพทย์

 

           ปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้าไปมากความซับซ้อนของผู้ป่วยมากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะในโรงเรียน แพทย์ ผู้ป่วยมารับการรักษามักมีโรคที่มีความซับซ้อนสูงและไม่ค่อยพบบ่อย

          นักศึกษาแพทย์ที่ขึ้นไปเรียนบนหอผู้ป่วย จึงมักจะไม่ค่อยได้พบกับโรคหรือภาวะที่จะพบเป็นประจำเมื่อจบ  ออกไปทำงานในต่างจังหวัด แม้ว่าจะสามารถอ่านจากตำราได้ แต่โอกาสที่จะได้เห็นผู้ป่วยจริงๆ ค่อนข้างน้อย

          ห้องฉุกเฉินเป็นที่รวมของผู้ป่วยมากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมากอยู่ในภาวะวิกฤติ  เป็นโรคที่พบบ่อยแต่ไม่หนักไปจนถึงโรคที่ซับซ้อนและหายาก  หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยทางใจแต่ไม่ป่วยทางกายเป็นต้น

          ด้วยเหตุนี้ ภายในห้องฉุกเฉินนักศึกษาแพทย์จะได้เรียนรู้ และได้ประสบการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยจริงๆ ทั้งผู้ป่วยที่ฉุกเฉินอยู่ในภาวะวิกฤติ รวมไปถึงโรคทั่วไปที่พบได้บ่อย เป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้กับนักศึกษาแพทย์อย่างมาก ก่อนที่จะจบออกไปทำงานจริง