หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

 

พันธกิจของหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน

เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

วิสัยทัศน์

          เป็นหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน อันดับหนึ่งของประเทศไทย

ค่านิยม

          หลักสูตรฯ ได้สั่งสมประสบการณ์และมองไปยังอนาคตข้างหน้าในฐานะผู้นำของระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ร่วมกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก เป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่ค่านิยมที่จะทำให้บรรลุวิสัยทัศน์ตามพันธกิจได้ ประกอบขึ้นเป็นอักษรย่อ RAER ที่อาจจะย่อมาจาก RAmathibodi Emergency Resident ได้แก่
          Resilience - มีความยืดหยุ่น พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง สามารถดำรงค์ตนได้อย่างมั่นคง
          Altruism - มีส่วนร่วมในการทำเพื่อส่วนรวม มีความเชื่อมั่นในองค์กร
          Expertise - มีความเชี่ยวชาญในทักษะของแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
          Respect - เคารพในความแตกต่าง

พันธกิจ

          1. ผลิตวุฒิบัณฑิตแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณลักษณะ เป็นแพทย์ฉุกเฉินที่มีความเก่งในเวชปฏิบัติ เป็นแพทย์ที่มีความประพฤติดีตามกฎระเบียบของสังคม และดำรงค์ตนอย่างมีสุขได้ เป็นที่พึ่งผู้ป่วยอันเป็นศูนย์กลาง เพื่อนร่วมงานสหวิชาชีพ และระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยได้
          2. บูรณาการเครื่องมือพัฒนาคุณภาพในทุกส่วนของหลักสูตร ตั้งแต่การพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหาหลักสูตร การบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอน การทำวิจัยในหลักสูตร ไปจนถึงการประเมิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่คาดหวัง

ผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร (Competency/ outcome base learning)

          ผลลัพธ์ของหลักสูตรมีหลักการได้มาเช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลและนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและ หลักสูตรฯ จึงกำหนดให้แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ต้องมีคุณสมบัติ และความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง ๖ ด้าน ดังนี้

          5.1 การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient care) มีทักษะในการช่วยเหลือบริบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน
          1) ให้การประเมินและตัดสินใจ ดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินในห้องฉุกเฉิน ให้การกู้ชีพ และการช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วย (cardiopulmonary resuscitation) จนถึงรักษาเสถียรภาพ (stabilization) และประเมินอาการซ้ำ ได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง ทันเวลา (PC1, PC6)
          2) มีทักษะการซักประวัติและตรวจร่างกายที่ตรงประเด็น ทำการเปรียบเทียบและตัดสินใจเลือกส่งการค้นหาทางห้องปฏิบัติการ ภาพรังสี และการตรวจคลื่นความถี่สูงในการวินิจฉัยแบบตรงเป้า (goal-directed ultrasound) ที่เหมาะสม ได้ผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยโดยระมัดระวังรวมถึงแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และสามารถแปลผลที่จำเป็นได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ นำไปสู่การวินิจฉัยและรักษา (PC2, PC3)
          3) ให้การประเมินและวินิจฉัยผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินและเร่งด่วน (emergency and urgency) ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ให้การรักษาเบื้องต้นและทราบแนวทางการรักษาขั้นสุดท้าย (definitive treatment) เพื่อวางแผนการรักษา ส่งปรึกษา และส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมหรือสหวิชาชีพ ได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง ทันเวลา (PC4, PC5)
          4) สามารถทำงานในลักษณะของพหุภารกิจ และสามารถทำหัตถการฉุกเฉินทั่วไปที่มีข้อบ่งชี้แก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ถูกต้องและคล่องแคล่ว (PC7)
          5) สามารถทำหัตถการที่ใช้ในการช่วยประเมิน และดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักปฐมภูมิ (primary assessment) อันได้แก่ การดูแลทางเดินหายใจ (airway management) การบำบัดทางระบบหายใจ (respiratory care) การบำบัดทางระบบไหลเวียนโลหิตไม่คงที่ (circulatory and shock management) และหัตถการเร่งด่วนฉุกเฉินอื่นๆ ด้วยตนเองได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว (PC8)
          6) สามารถให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนได้อย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว อาทิ การทำหัตถการที่มีการจำกัดของทรัพยากร การดูแลระหว่างการนำส่ง การติดต่อประสานงาน และการส่งต่อผู้ป่วยมายังสถานพยาบาลอย่างปลอดภัย (PC9)

          5.2 ความรู้และทักษะเวชกรรม (Medical knowledge) มีความเชี่ยวชาญและความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน
          1) สามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกายและจิตใจ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินได้ถูกต้อง (MK1)
          2) มีความรู้และเชี่ยวชาญทางคลินิกเกี่ยวกับโรคและภาวะฉุกเฉินในทุกสาขาวิชา อาทิ อาการแสดง พยาธิสรีระวิทยาของการเกิดโรค ธรรมชาติของโรค ตลอดจนกระบวนการให้การดูแล หัตถการ ยาที่ใช้รักษา และ การให้การจำหน่ายผู้ป่วยออกจากแผนกฉุกเฉิน (MK2)
          3) สามารถใช้ประโยชน์จากความรู้จำเพาะอันเกี่ยวข้องในสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่จำเป็น เช่น ความรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ความรู้ด้านเวชศาสตร์ภัยพิบัติ ความรู้ด้านเวชศาสตร์การลำเลียง ความรู้ด้านพิษวิทยา ความรู้ด้านโรคและภาวะที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

          5.3 การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (System-based practice) มีทักษะในการปฏิบัติงานเชิงระบบ
          1) มีความรู้ความเข้าใจในระบบการแพทย์ฉุกเฉินและระบบสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบประกันสุขภาพต่าง ๆ ระบบการประกันคุณภาพโรงพยาบาล นโยบายการใช้ยาระดับชาติ บัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นต้น สร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วย มีความสามารถในการวิเคราะห์และบริหารจัดการในด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย (SBP1)
          2) สามารถวิเคราะห์ ออกแบบ และปรับปรุง ระบบรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (emergency care system) ซึ่งประกอบด้วย 4 ระบบหลัก คือ ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉินในโรงพยาบาล (hospital-based emergency department) ระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน (referral system) และระบบการจัดการอุบัติเหตุหมู่และสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข (mass casualties incident and Disaster) (SBP2)

          5.4 การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ (Practice-based learning and improvement)
          1) ออกแบบงานวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลหรือพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อพัฒนาคุณภาพ องค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย และองค์ความรู้ของตนเองให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
          2) สามารถค้นหา วิเคราะห์ วิจารณ์งานวิจัย รายงาน และหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างดี และมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง (PBL1,2)
          3) สามารถประเมินตนเอง (self-assessment and reflection) เพื่อสร้างการเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ (PBL2)

          5.5 ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
          1) เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมอันดี แสดงให้เห็นถึงความมีเมตตากรุณา (compassion) ความซื่อสัตย์ (integrity) และความเคารพต่อผู้อื่น (respect for others) รวมถึงการยึดมั่นในหลักการทางเวชจริยศาสตร์ (PF1)
          2) เป็นผู้มีเคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ แสดงให้เห็นถึงการมีความรับผิดชอบอย่างสูงสุดต่อผู้ป่วย สังคม วิชาชีพ และต่อตนเอง มีความสามารถในการมองเห็นตัวเองและตระหนักถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองผ่านการรับรู้และเข้าใจสภาวะต่างๆ และแสดงออกโดยการควบคุมตนเองได้เป็นอย่างดี (PF2,3)
          3) มีจิตสาธารณะ คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม มีทักษะของการเป็นพลเมืองที่ดี สามารถปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ชุมชน และสังคม

          5.6 ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (interpersonal skills and communication)
          1) สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติได้อย่างเหมาะสม (ICS1)
          2) สามารถสื่อสาร ทำงานร่วมกับสหะสาขาวิชาชีพ ประสานงาน และทำงานร่วมกับบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉินหรือแพทย์เฉพาะทางอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี มีความเป็นผู้นำของทีมกู้ชีพ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน อุบัติเหตุ สถานการณ์ภัยบัติ และสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เหมาะสม เข้าใจบทบาทหน้าที่และสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ICS2)
          3) รวมถึงมีทักษะความเป็นครู สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการแพทย์ฉุกเฉินให้กับนักศึกษา บุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินอื่น ๆ หรือประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี