Home care

             

             การบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน  (Home health care)  หมายถึง  การบริหารให้มีการจัดบริการเต็มรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว รายหนึ่ง ๆ  โดยเริ่มตั้งแต่การประเมินสภาพผู้ป่วยที่บ้าน  การประสายงานกับทีมรักษาว่าจะรักษาที่บ้าน  ที่โรงพยาบาล  หรือส่งต่อ  การมอบหมายให้หน่วยงานหรือแผนกต่าง ๆ รับผิดชอบหน้าที่ใดบ้างเพื่อการดูแลผู้ป่วยรายนั้น ๆ  ร่วมกัน  การประเมินความต้องการด้านต่าง ๆ  ของผู้วป่วยที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจประจำวันได้ตามปกติ  เช่น  หุงหาอาหาร  ไปซื้อข้าวของ  ทำความสะอาดบ้านเรือน  ซักเสื้อผ้า  น้ำกิน  น้ำใช้  ฟืนไฟ  ความปลอดภัยของทรัพย์สินในบ้าน  เป็นต้น
             การเยี่ยมบ้าน (Home Visit)  หมายถึง รูปแบบการบริการที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริการดูแลสุขภาพที่บ้าน  โดยแพทย์จะออกไปเยี่ยมผู้ป่วยและครอบครัวที่บ้าน  อาจไปเยี่ยมครั้งแรกเพื่อประเมินสภาพความเจ็บป่วยของผู้ป่วยและครอบครัว  หลังจากนั้นอาจจะกลับไปเป็นระยะ ๆ เมื่อผู้ป่วยหรือทีมต้องการ  ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบ  แพทย์อาจจะนำทีมออกเยี่ยมบ้านทุกครั้งก็ได้
             การรับปรึกษาสุขภาพทางโทรศัพท์  (House Call)  หมายถึง  รูปแบบการบริการที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริการดูแลสุขภาพที่บ้านและการเยี่ยมบ้าน  โดยเปิิดโอกาสให้ผู้ป่วยและญาติมีช่องทางที่จะดูแลสุขภาพตนเองที่บ้านด้วยการโทรศัพท์มาปรึกษา  และ/หรือขอความช่วยเหลือจากแพทย์และทีมงานที่รู้จักกันให้ไปติดตามเยี่ยมบ้านในบางโอากาส

             วัตถุประสงค์การเยี่ยมบ้าน

  1. เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมีความมั่นใจและสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพที่บ้านได้
  2. เพื่อให้ญาติรู้วิธีในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยที่บ้าน  และร่วมดูแลรักษาผู้ป่วย
  3. เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินทั้งโรค (Disease)  และความเจ็บป่วย (Illness) ที่แท้จริงของผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้อง  ครอบคลุม
  4. เพื่อให้แพทย์ทำความรู้จักและสานต่อความสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วยและญาติในระยะยาว
  5. เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ ต่อสุขภาพของครอบครัวนั้น ๆ และหาแนวทางที่จะลดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น  สามารถโน้มน้าวหรือแนะนำให้มีการเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อความเจ็บป่วย  เมื่่อผู้ป่วยและญาติมีความศรัทธาต่อแพทย์และทีมงานนั้น ๆ มานานพอ

              จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมบ้านและการให้บริการสุขภาพที่บ้าน  มีวัตถุประสงค์หลักในการเสริมสร้างสุขภาพเชิงรุก  โดยเน้นให้ผู้ป่วยและญาติมีศักยภาพและความมั่นใจในการดูแลตนเองที่บ้านมากขึ้น  ไม่ใช่การพยายามกำจัดผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล  หรือ  พยายามลดค่าใช้จ่ายภายในโรงพยาบาล  หรือลดภาระงานของแพทย์และพยาบาล

             ประเภทของการเยี่ยมบ้าน

  1. เยี่ยมบ้านคนป่วย  แบ่งเป็น  3  ประเภท  คือ  โรคฉุกเฉิน  โรคเฉียบพลัน  หรือโรคเรื้อรัง
  2. เยี่ยมบ้านคนใกล้ตาย  เืพื่อดูแลความเจ็บป่วยระยะสุดท้าย  อยู่เป็นเพื่อนขณะที่ตาย  ดูแลญาติจนถึงการตาย
  3. เยี่ยมบ้านเพื่อประเมินสภาวะสุขภาพ  ในรายที่ต้องใช้ยาหรือการรักษาที่ซับซ้อน  ในรายที่มาใช้บริการการรักษาเกินจำเป็น  ในรายที่มารับบริการลำบาก  เช่น  พิการ  ถูกสังคมรังเกียจ  ถูกทอดทิ้ง  ติดยา  ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นต้น
  4. เยี่ยมบ้านเพื่อติดตามผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาล เช่น ในรายที่เพิ่มคลอดบุตร ในรายที่หลังการผ่าตัด หรืออุบัติเหตุ เป็นต้น

             ความคุ้มทุนของการเยี่ยมบ้าน

             เนื่องจากการเยี่ยมบ้านเป็นทักษะการแพทย์ที่หายไปนาน  เมื่อนำมาใช้ใหม่  จึงมีคำถามว่า  "จะคุ้มค่าหรือที่ออกไปรักษาพยาบาลนอกสถานที่  หมอพยาบาลยิ่งมีน้อย  น่าจะเอารวมกันไว้ที่สถานที่เดียว  แล้วให้ผู้ป่วยเดินทางมารับบริหารที่สถานที่นั้น ๆ น่าจะคุ้มกว่า  เดินทาง  1  ครั้ง  เสียค่ารถ  ค่าน้ำมัน  เยี่ยมได้แค่  1-2  บ้าน"  ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่คิดเช่นนี้อาจยังไม่เคยไปเยี่ยมบ้านด้วยตนเอง  จึงมองไม่เห็นประโยชน์เชิงคุณภาพของการเยี่ยมบ้าน
             อันที่จริงจำนวนแพทย์พยาบาลและเทคโนโลยีการแพทย์ที่่มากขึ้นในปัจจุบันน่าจะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว  มีคุณภาพและจำเป็นลดน้อยลง  แต่ความเป็นจริง  ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากรอรับบริการ  ยิ่งโรงพยาบาลโฆษณาแนะนำเทคโนโลยีใหม ๆ มากเท่าใด  ประชาชนยิ่งแห่มารับบริการมากขึ้นเท่านั้น  ประชาชนไม่พยายามดูแลสุขภาพด้วยตนเอง  รอพึ่งแต่เครื่องมือแพทย์  แพทย์เองก็ไม่มีนิสัยที่จะช่วยให้ผู้ป่วยวิเคราะห์ความเจ็บป่วยด้วยตนเองและดูแลตนเองได้  แต่กลับพยายามให้ยาและเทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของตนเองให้มากขึ้น  การดูแลรักษาภายในสถานพยาบาลจึงดูเสมือนไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  เพราะลงทุนมากแต่สุขภาพประชาชนยังไม่ดีึขึ้น  ดังนั้น  การเยี่ยมบ้านจึงเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าการรอซ่อมสุขภาพ
             ในต่างประเทศ  มีการวัดผลความคุ้มค่าของการเยี่ยมบ้านไว้มากมาย  ที่มีหลักฐานชัดเจนที่สุด  ได้แก  การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ต้องใช้เทคโนโลยีการแพทย์ที่บ้านหรือที่เรียกว่า  Home-hospital care  หรือ  High-acuity  home  care  ในผู้ป่วยโรคปวดบวม  โรคหัวใจล้มเหลว  โรคถุงลมโป่งพอง  เป็นต้น  ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ได้แก  น้ำเกลือ  ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าเส้น  ยาพ่น  การให้อาหารทางสายยาง  มีพยาบาลเยี่ยมบ้านวันละ  2  ครั้ง  แพทย์เยี่ยมบ้านวันละ 1 ครั้ง  ในการจัดบริการเต็มรูปแบบดังกล่าวยังพบ่ว่าคุ้มทุนเมื่อเทียบกับการรักษาในโรงพยาบาล  เนื่องจากพบว่า  การเยี่ยมบ้านสามารถลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ  ที่เกิดกับผู้ป่วยสูงอายุที่นอนรักษาตัวภายในโรงพยาบาลลงได้อย่างชัดเจน  ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว  ได้แก  ภาวะสับสน,  delirum, deep  vein  thrombosis,  ท้องผูก,  การติดเชื้อในปอด,  การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการติดเชื้อในโรงพยาบาลชนิดต่าง ๆ  การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ลดอัตราการกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำซาก  ลดอัตราการตาย  เป็นต้น
             นอกเนือจากการวัดความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์คลินิกแล้ว  ยังพบว่าเยี่ยมบ้านก่อให้เกิดผลดีแก่แพทย์และพยาบาลอย่างมาก  กล่าวคือ  เมื่อได้ไปเห็นผู้ป่วยและญาติที่บ้าน  ได้ไปชื่นชมสัมผัสกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของผู้ป่วย  สิ่งแวดล้อม  และชุมชนที่อาศัย  ทำให้เกิดความสุขในวิชาชีพและก่อให้เกิดความผูกพันอันดีกับผู้ป่วยและญาติในระยะยาว
             ในประเทศไทยยังไม่มีการวัดความคุ้มทุนของการเยี่ยมบ้าน  เพราะการเยี่ยมบ้านกลายเป็นทักษะใหม่ที่แพทย์ไทยไม่รู้จัก  แต่ถูกบังคับให้ทำ  ดังที่เคยเกิดขึ้นในยุคหนึ่งมา่แล้วที่แพทย์พยาบาลในเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุขมีประสบการณ์เยี่ยมบ้านที่ไม่ประสบผลสำเร็จและก่อโทษอย่างมหันต์โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ในชุมชน  ซึ่งการบังคับให้ไปเยี่ยมบ้านโดยไม่มีทักษะกำลังถูกทำอีกครั้งในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค)  ซึ่งก่อให้เกิดความอึดอัดทั้งผู้ไปเยี่ยมและผู้ถูกเยี่ยมบ้าน
             การวัดผลความคุ้มทุนของการเยี่ยมบ้านจึงต้องการผู้ที่เข้า่ใจความหมาย  วัตถุประสงค์  และวิธีการเยี่ยมบ้านอย่างลึกซึ้ง  รวมทั้งมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์คลินิกมาช่วยประเมิน  ไม่ใช่การวัดผลเพียงค่าใช้จ่ายต่อครั้งของการเยี่ยมบ้าน  ซึ่งมักจะหมายถึงแต่ค่าใช้จ่ายที่เห็นเป็นตัวเิิงิน (direct  cost)  ซึ่งได้แก่  ค่ารถ  ค่าน้ำมัน  ค่ายารักษาโรค  ค่าเครื่องมือ  ค่าหมอ  ค่าพยาบาล  แต่ต้องประเมินไปถึงผลลัพธ์ของสุขภาพองค์รวมของผู้ป่วยและญาติในระยะยาวเป็นสำคัญ  ผู้บริหารของสถานพยาบาลระดับต่าง ๆ   จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ  และทัศนคติที่เปิดกว้างต่อการบริการรูปแบบใหม่ที่เคยเป็นทักษะทางการแพทย์ที่ดีแต่หายไป  เพื่อจะได้จัดสรรทรัพยากรให้การสร้างเสริมเชิงรุกมากกว่าการลงทุนซื้อเครื่องมือราคาแพงมาคอยซ่อมสุขภาพ

 

                                          ผศ.สายพิณ หัตถีรัตน์ และคณะ. คู่มือหมอครบครัวฉบับสมบูรณ์.