ผลลัพธ์และระยะเวลาการฝึกอบรม

ผลลัพธ์ของการฝึกอบรม/หลักสูตร

เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรม แพทย์ผู้เข้าอบรมต้องมีคุณสมบัติ และความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะหลักทั้ง ๖ ด้านดังต่อไปนี้
 

การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care)

๕.๑.๑ ประเมินลักษณะทางคลินิกของโรคหรือปัญหาสุขภาพที่สำคัญและพบบ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Clinical assessment)

๕.๑.๒ ตรวจหาสาเหตุและวิเคราะห์โรคหรือปัญหาสุขภาพที่สำคัญและพบบ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Patient investigation)

๕.๑.๓ ให้การดูแลรักษาหรือบรรเทาอาการต่างๆที่พบบ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Symptom palliation) เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ทั้งการดูแลที่เป็นการใช้ยา เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ การแพทย์ทางเลือกและแบบผสมผสาน และวีธีการดูแลอื่นๆที่จำเป็น โดยอ้างอิงจากเวชปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ 

๕.๑.๔ ดูแลสุขภาพของผู้ป่วยระยะประคับประคองและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม (Holistic care)

๕.๑.๕ ให้การป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่สำคัญและพบบ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคองได้ (Health prevention) 

๕.๑.๖ ให้การดูแลผู้ป่วยและครอบครัวเมื่อผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิต (Impending death and peri-death management)

๕.๑.๗ ประเมิน ติดตาม และดูแลสมาชิกครอบครัวหรือผู้ดูแลที่มีภาวะเศร้าโศก รวมทั้งสามารถทำงานประสานกับวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามดูแลครอบครัวหรือผู้ดูแลที่มีภาวะเศร้าโศกที่ผิดปกติได้อย่างเหมาะสม (Grief and bereavement care)

๕.๑.๘ ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง ผู้ดูแล หรือครอบครัวที่บ้านหรือในชุมชนได้อย่างเหมาะสม (Community-based care)
 

ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน

(Medical Knowledge and Skills)

๕.๒.๑ ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของร่างกายและจิตใจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง เช่น ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สรีรวิทยา พยาธิวิทยา และเภสัชวิทยาคลินิก เป็นต้น

๕.๒.๒ ความรู้ ความเชี่ยวชาญในโรคหรือปัญหาสุขภาพที่สำคัญและพบได้บ่อยในผู้ป่วยระยะประคับประคอง 

๕.๒.๓ มีทักษะในวิชาชีพ สามารถทำหัตถการที่จำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองได้ด้วยตนเอง

๕.๒.๔ ความรู้ทางด้านกฎหมายและหลักการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
 

การเรียนรู้จากการปฏิบัติและการพัฒนาตนเอง (Practice-based Learning and Improvement)

๕.๓.๑ วิพากษ์บทความและงานวิจัยทางการแพทย์เพื่อใช้ในการพัฒนาตนเองให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

๕.๓.๒ เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ 

๕.๓.๓ สามารถใช้สารสนเทศทางการแพทย์เพื่อพัฒนาวิชาชีพของตนเองอย่างเหมาะสม 
 

ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)

๕.๔.๑ นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

๕.๔.๒ ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แพทย์หรือนักศึกษาแพทย์

๕.๔.๓ สื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เข้าใจความต้องการด้านสุขภาพ เป้าหมาย และความคาดหวังในการดูแลของผู้ป่วยหรือครอบครัว 

๕.๔.๔ ให้โอกาสผู้ป่วยและครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางการดูแลรักษาของตนเอง รวมทั้งเพื่อวางแผนการดูแลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อเนื่องจนผู้ป่วยเสียชีวิต

๕.๔.๕ สื่อสาร ประสานการทำงาน และวางแผนการดูแลร่วมกับทีมสหวิชาชีพอื่น เพื่อให้การดูแลครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ

๕.๔.๖ ให้ความรู้แก่ทีมสหวิชาชีพและประชาชนทั่วไปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง
 

ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)

๕.๕.๑ มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย ชุมชน และผู้ร่วมงานสหวิชาชีพ โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพและกฎหมาย

๕.๕.๒ มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

๕.๕.๓ มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ค้นคว้า เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

๕.๕.๔ สามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้
 

การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based Practice)

๕.๖.๑ มีความรู้เกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง

๕.๖.๒ มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย

๕.๖.๓ มีความรู้เรื่องรูปแบบของการจัดบริการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่เหมาะสมในแต่ละบริบท เช่น ในโรงพยาบาล ที่บ้าน (Home ward) สถานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice) การดูแลด้วยเครือข่ายภายในชุมชน รวมทั้งวิธีการส่งต่อระหว่างระบบบริการและการจัดการทรัพยากรสุขภาพที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย

๕.๖.๔ การใช้ทรัพยากรสุขภาพเข้ามามีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเหมาะสม และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ 
 

ระยะเวลาของการฝึกอบรม

การฝึกอบรมมีระยะเวลาทั้งสิ้น ๑ ปี โดย แพทย์ที่เข้าอบรมต้องได้รับการฝึกอบรมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของระยะเวลาการอบรมทั้งหมด และเวลาของการฝึกอบรมในแต่ละส่วนย่อยของหลักสูตรต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการประเมินเพื่อประกาศนียบัตร
 

ปีที่เริ่มการฝึกอบรม ปีการศึกษา ๒๕๖๒ (ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึง ๓๐ มิถุนายน ของทุกปี)