"เป็นหมอร้องไห้กับคนไข้ได้ไหม" โดย อ.พญ.ดาริน จตุรภัทรพร

ป็นหมอร้องไห้กับคนไข้ได้ไหม?

เสียน้ำตาครั้งที่ 1: งานวันเกิดครั้งสุดท้าย
กับเรื่องราวของคุณทิมที่บอกกับทีมแพทย์ว่า อยากจะจัดงานวันเกิดครั้งสุดท้าย ครบรอบ 71 ปีในอีก 1 สัปดาห์ให้กับภรรยาซึ่งนอนป่วยหนักอยู่ที่บ้าน โดยตั้งใจชวนเพื่อนและญาติพี่น้องมาให้ครบ คุณทิมบอกว่าได้แต่ภาวนาให้ภรรยาเข้มแข็งและอยู่จนถึงวันงาน เค้ารู้ว่าภรรยาจะดีใจมากๆที่ได้เจอคนที่รักทุกคนพร้อมหน้าพร้อมตา

เสียน้ำตาครั้งที่ 2: ขอเพียงจำกันได้อีกสักครั้ง เรื่องราวของคุณจอห์นที่นอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลด้วยโรคมะเร็งมีภรรยาที่ป่วยด้วยโรคความจำเสื่อมเข้ารักษาแบบระยะยาวอยู่ที่ตึกข้างๆ คุณจอห์นบอกว่าเค้ามีชีวิตแต่งงานที่มีความสุข ภรรยาของเค้าเป็นผู้หญิงที่ดีที่สุด เค้าเป็นคนโชคดีที่ได้เจอเธอได้สร้างครอบครัวที่ดีร่วมกันมา แม้วันนี้คุณจอห์นจะป่วยหนักแต่ก็ยังพูดกับหมอว่าตัวเองเป็นคนโชคดี คุณจอห์นบอกว่ามีอย่างเดียวที่ทำให้รู้สึกเศร้าใจในวันนี้ก็คือเวลาที่ได้เจอภรรยาสัปดาห์ละครั้งเนื่องจากจะมีเจ้าหน้าที่เข็นรถมาเยี่ยมที่ตึก เค้ารู้สึกดีที่ได้เจอภรรยาแต่ภรรยาจำคุณจอห์นไม่ได้ ถ้าจะขออะไรได้อีกสักอย่างในชีวิตคุณจอห์นบอกว่าขอแค่ให้ภรรยาจำเค้าได้อีกสักครั้ง เค้าคงจะไม่อยากได้อะไรมากไปกว่านี้อีกแล้ว

เสียน้ำตาครั้งที่ 3: เพื่ออยู่กับเธอ
ที่ประตูหน้าบ้านของคุณ มาร์ธา มีข้อความเขียนไว้ว่า “หากแขกผู้มาเยี่ยมเป็นหวัด หรือไม่สบายด้วยภาวะอื่นๆอยู่ ขอความกรุณางดเยี่ยม เนื่องจากคุณมาร์ธามีจำนวนเม็ดเลือดขาวในร่างกายเพียง 200 ตัว หากติดเชื้ออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้” หากอ่านประวัติคุณมาร์ธาก่อนเข้าเยี่ยม แพทย์ทุกคนคงลงความเห็นว่าประวัติแบบนี้ไม่น่าจะยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่ด้วยกำลังใจที่ดีเยี่ยมจากสามี คุณมาร์ธาสามารถฟันฝ่าภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน จนกลับมาอยู่ที่บ้านได้อีกครั้ง คุณมาร์ธาในวันนี้ น้ำหนักเหลือเพียง 27 กิโลกรัม แตกต่างจากรูปเมื่อ 1 ปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง สิ่งเดียวที่ยังคงทำให้เราจำคุณมาร์ธาจากรูปนั้นได้มีเพียงรอยยิ้มเท่านั้น คุณมาร์ธาเป็นคนไข้ที่อาการหนักที่สุดที่ฉันเคยเห็นที่ยังคงมีสติดี ภาพที่สามีคุณมาร์ธาหยอกล้อภรรยาให้ได้หัวเราะตลอดเวลาเป็นภาพที่น่าประทับใจมาก สามีคุณมาร์ธาบอกว่า บ้านนี้มีเสียงหัวเราะตลอด 60 ปีที่ผ่านมา และมันจะเป็นเช่นนั้นตราบเท่าที่คุณมาร์ธายังอยู่ และเค้าจะทำทุกอย่างให้คุณมาร์ธาอยู่หัวเราะกับเค้าได้นานที่สุด

เสียน้ำตาครั้งที่ 4: กรอบรูปแห่งความทรงจำ คุณแอนโทนีเอากรอบรูปที่เพิ่งซื้อให้ภรรยาเมื่อสัปดาห์ก่อนมาให้ทีมแพทย์ที่ไปเยี่ยมที่บ้านดู มันเป็นกรอบรูปพูดได้ และมันเป็นเสียงของคุณแอนโทนีที่อัดลงไปในส่วนบันทึกเสียงของกรอบรูปว่า “I had been loving you, I love you and I will always love you” คุณแอนโทนีบอกว่าเมื่อเค้าจากไป ภรรยาของเค้าจะได้เอารูปมาดูแลกดฟังเสียงของเค้าได้ เพื่อที่จะได้รู้สึกเหมือนเค้าอยู่ใกล้ๆเสมอ                                                                           


 

เสียน้ำตาครั้งที่ 5: เป็นสุขพอใจกับชีวิตที่ผ่าน
คุณเคทเพิ่งขอออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับมาอยู่ที่อพาร์ทเมนท์ของตัวเองในวัย 90 ปี คุณเคทบอกหมอว่าไม่ต้องการกินยาใดๆทั้งนั้น และตั้งใจกลับมาอยู่ที่อพาร์ทเมนท์จนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ลูกๆ 4 คนของคุณเคทบินมาจากเมืองต่างๆทั่วแคนาดา มาเช่าที่พักอยู่ใกล้ๆเพื่อผลัดเวรกันดูแลแม่ให้ดีที่สุด คุณเคทบอกว่าภูมิใจและเป็นสุขกับชีวิตที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่ภรรยาและแม่อย่างดีที่สุด ลูกของคุณเคทเป็นหมอ 2 คน เป็น ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ 1 คนและวิศวกร อีก 1 คน ในห้องนอนของคุณเคทมีกรอบรูปเรียงรายเป็นแผนภูมิต้นไม้ ซึ่งคุณเคทบ่นบ่อยๆว่ามีแต่รูปหลานสาวเพราะหลานชายไม่ยอมส่งรูปมาให้สักที ทีมแพทย์รู้จากลูกสาวของคุณเคทตอนก่อนจะกลับออกจากบ้านของคุณเคทว่า วันนี้เป็นวันเกิดคุณเคท และลูกๆทั้ง 4 คนตั้งใจทำรูปแผนภูมิต้นไม้ของครอบครัวที่มีสมาชิกครบทุกคนมาให้คุณเคท ซึ่งทุกคนเชื่อว่าเป็นของขวัญที่คุณเคทรอคอย


 

เสียน้ำตาครั้งที่ 6: ได้รักอย่างมีความหมายเพียงพอ
คุณแพมเป็นผู้หญิงอายุเพียง 40 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็ง และทุกข์ทรมานด้วยอาการปวดขั้นรุนแรง แต่คุณแพมที่เราเห็นกลับมีสีหน้ายิ้มแย้ม พูดคุยกับแพทย์อย่างสดชื่น เพียง 1 สัปดาห์หลังจากเจอกันครั้งแรก คุณแพมก็อาการทรุดหนักและจากเราไปอย่างสงบในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา ฉันรู้สึกชื่นชมในความเข้มแข็งของคุณแพมเป็นอย่างยิ่ง ทำให้อยากรู้ว่าอะไรเป็นเบื้องหลังของการตั้งรับความตายอย่างมีสตินี้ พี่สาวของคุณแพมบอกว่า แม้คุณแพมจะไม่ได้แต่งงาน แต่คุณแพมพูดเสมอว่าดีใจที่ได้เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น มีพ่อแม่และพี่ๆ 5 คนที่รักและเข้าใจ ทำให้ได้ดำเนินชีวิตที่ผ่านมาอย่างมีความสุข ในระยะสุดท้าย พี่สาว 2 คนของคุณแพมที่เป็นพยาบาลลางานจากอเมริกามาเพื่อดูแลคุณแพมโดยตรง จนถึงวันที่คุณแพมจากไป ฉันรู้สึกว่าคุณแพมได้ทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ด้วยการสอนผู้คนรอบๆตัวผ่านความเข้มแข็งของเธอ

ฉันเริ่มรู้สึกว่าตัวเองชักจะอ่อนไหวเกินไปหน่อย แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของฉันกลับบอกว่า ไม่เป็นไรหรอกปล่อยให้ตัวเองร้องไห้บ้างเถิด เพราะหมอก็เป็นคนมีชีวิตจิตใจเพียงแต่อย่าให้มากเกินไปจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เสียงานเสียการได้ เรื่องราวเหล่านี้แม้จะเกิดขึ้นต่างเวลาต่างสถานที่ แต่ทุกเรื่องมีความหมายและทำให้ฉันมีทิศทางในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ฉันเชื่อว่าหลังจากเสียน้ำตาแล้วเราก็จะเติบโตขึ้น

อ.พญ.ดาริน จตุรภัทรพร (พี่เป้)

ตั้งแต่เริ่มทำงานเป็นหมอ  Palliative care มาฉันเสียน้ำตาไปก็หลายครั้งอยู่ เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องที่ร้องไห้ ฉันก็พบว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องที่น่าประทับใจที่บังเอิญมาเกิดขึ้นในช่วงที่คนไข้กำลังป่วยหนักเนื่องมาจากโรคมะเร็ง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความประทับใจของคู่ชีวิตในแง่ความรัก ความเอาใจใส่ที่มีให้แก่กัน แต่ฉันไม่เคยร้องไห้เพราะรู้สึกเศร้าใจหรือหดหู่ใจที่ต้องดูแลคนไข้กลุ่มนี้