วิธีการประเมินความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองของผู้ป่วยโดยใช้ Palliative Performance Scale (PPS)

PPS (Palliative Performance Scale)

PPS เป็นเครื่องมือที่ได้รับการพัฒนาโดย Victoria Hospice Society ที่รัฐ British Columbia เพื่อช่วยในการประเมินความสามารถในการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันด้านต่างๆของผู้ป่วยPalliative Care PPS มีการแบ่งระดับทั้งหมด 11 ระดับไล่ตั้งแต่ 100% ลงไปถึง 0% เพื่อแยกผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่มย่อยได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ (>70%) ผู้ป่วยระยะสุดท้าย (0-30%) และผู้ป่วยที่อยู่ระหว่าง 2 กลุ่มดังกล่าว (40-70%)

PPS เป็นเครื่องมือใช้ประเมินผู้ป่วยใน 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ ความสามารถในการเคลื่อนไหว กิจกรรมและความรุนแรงของโรค การดูแลตนเอง การกินอาหาร และความรู้สึกตัว

ประโยชน์ของPPSคือ เพื่อใช้ติดตามผลการรักษา, ประเมินภาระงานของผู้ดูแลผู้ป่วย เช่นผู้ป่วยที่มีคะแนน 0-40% หมายถึงว่าผู้ป่วยจะต้องการการดูแลทางด้านการพยาบาลมากขึ้นและญาติผู้ป่วยมักจะต้องการการดูแลทางจิตใจมากขึ้น, ใช้สำหรับสื่อสารกันระหว่างบุคลากรในทีม และใช้ประเมินการพยากรณ์โรคโดยคร่าว

PPSสามารถนำไปใช้ประเมินได้ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล แต่ควรใช้โดยบุคคลากรทางการแพทย์ โดยทั่วไปมักจะเป็นพยาบาลหรือแพทย์

ท่านสามารถ Download PPS ฉบับภาษาไทยได้ที่นี่
 

แบบฝึกหัดการใช้ PPS: จงบอกค่า PPS ในผู้ป่วยตัวอย่างต่อไปนี้ (เฉลยอยู่ข้างล่างแต่อย่าเพิ่งแอบดูก่อนนะคะ)

ตัวอย่างที่ 1: ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากกระจายไปกระดูกใช้เวลาส่วนใหญ่ของแต่ละวันนั่งหรือนอนอยู่บนเตียงเนื่องจากอ่อนเพลีย ต้องการความช่วยเหลือในการเดินแม้จะเป็นระยะสั้นๆ แต่สามารถล้างหน้าแปรงฟันเองได้ สติสัมปชัญญะดี กินอาหารได้ตามปกติ

ตัวอย่างที่ 2: ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะแพร่กระจายนอนอยู่บนเตียงตลอด ไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ ได้ กินอาหารได้น้อยลงมาก ต้องการการช่วยเหลือในการดูแลตัวเองทั้งหมดและต้องอาบน้ำให้ สับสนบ้างเป็นบางครั้ง

ตัวอย่างที่ 3:ผู้ป่วยลุกนั่งเดินยืนได้เองเพิ่งได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งเต้านมแพร่กระจายสามารถทำงานบ้านได้หากได้นั่งพักเป็นพักๆผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือในการอาบน้ำจากผู้ดูแลให้ช่วยหยิบของในห้องน้ำให้แต่ยังอาบน้ำเองได้กินอาหารได้ตามปกติไม่มีอาการสับสน

เฉลย
ตัวอย่างที่ 1 50%
ตัวอย่างที่ 2 30%
ตัวอย่างที่ 3 60%
หมายเหตุ
วิธีแยกการช่วยเหลือตัวเองของ 60% (ผู้ป่วยเดินไปห้องน้ำได้แต่ต้องการการช่วยเหลือเป็นบางครั้ง), 50% (เช่น พาผู้ป่วยไปห้องน้ำแต่ผู้ป่วยสามารถแปรงฟันเองได้) และ 40% (เช่น ต้องพาผู้ป่วยไปห้องน้ำและต้องอาบน้ำแปรงฟันให้ผู้ป่วย)

 

อ.พญ.ดาริน จตุรภัทรพร