กิจกรรมครอบครัวร่วมใจ ต้านภัยเบาหวาน

หลักการและเหตุผล
    โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง  ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษาทำจำเป็น เช่น การฟอกเลือด ล้างไต  รวมทั้งอาจสูญเสียอวัยวะ เช่น ตาบอด ถูกตัดขา  เป็นผลให้เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเป็นอย่างมาก  ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตแย่ลงและเป็นภาระกับครอบครัวและสังคม ประเทศชาติ
    จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ จาก 135 ล้านคนในปี พ.ศ. 2538 เป็น 151 ล้านคนในปี พ.ศ. 2543 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 221 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2553 โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานจะสูงสุดในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา1 ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย  ความชุกของโรคเบาหวานในประชากรไทยที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ที่สำรวจเมื่อปีพ.ศ. 2543 สูงถึง ร้อยละ 9.62 หรือ 2.4 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน นอกจากนี้ยังพบผู้ที่มี Impaired fasting glucose ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานอีกจำนวนหลายล้านคน
    จากผลการศึกษาและวิจัยพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย  สามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคและป้องกันโรคเบาหวานได้ดีที่สุด  แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเรื่องพูดง่ายทำยาก  การให้ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมได้  คลินิกเบาหวานครบวงจร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว จึงจัดโครงการ ครอบครัวร่วมใจต้านภัยเบาหวานขึ้น   เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้เรียนรู้การปรับพฤติกรรมจากการปฏิบัติจริง และวัดผลได้ด้วยตนเอง  ซึ่งนอกจากจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วยและญาติแล้ว ยังรวมถึงทีมบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักกิจกรรมบำบัด และนักสุขศึกษา อีกด้วย
 

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติ ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการ
     รับประทานอาหาร และการออกกำลังกายที่เหมาะสม
2. เพิ่มทักษะในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเรื่องการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย
    โดยการฝึกปฏิบัติจริง
3. เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติ ได้ซักถาม และแลกเปลี่ยนความรู้ ในกลุ่มผู้ป่วย และญาติร่วมกัน
4. เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ