แนวทางการดูแลรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ

 

 

นพ.ธเนศ แก่นสาร
ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว

แนวทางการดูแลรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ

                          แนวทางการดูแลรักษาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดของประเทศไทยส่วนใหญ่ยังอ้างอิงจาก NCEP 3 ซึ่งเป็นแนวทางของฝั่งอเมริกา (ปรับปรุงล่าสุด 2547)1 และขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทาง ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่าการที่เรามักใช้คำว่า “ไขมันในเลือดสูง” นั้นปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น “ไขมันในเลือดผิดปกติ” เนื่องการที่ระดับ HDL ต่ำนั้นก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเหมือนกัน (แต่ HDL ก็ยังไม่ใช่เป้าหมายในการรักษาตามที่ใครหลายคนให้ความสำคัญกับมันมาก)
                         สิ่งที่มักพบในเวชปฏิบัติคือการที่แพทย์หลายๆ คนรวมทั้งผู้ป่วยถูกขู่ให้อยู่ในความกลัว กลัวกับระดับไขมันที่เรามักจะนำตัวเลขมากจากประเทศทางตะวันตก ฉะนั้นเรามาดูสถิติกันดีกว่า ในปี 25522 เราสำรวจประชาชนทั่วประเทศจำนวนประมาณ 20,000 คน เราพบว่าคนไทยที่มีอายุเกิน 15 ปีมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดที่เกิน 200 มก./ดล. มากกว่าร้อยละ 50 นั่นหมายความว่าถ้าเรายึดตามตัวเลข 200 (เวลาไปตรวจสุขภาพก็มักจะเห็นตัวเลข 200 กลัวกันทั้งแพทย์ ทั้งผู้ป่วย) เราอาจจะต้องให้คนเกือบครึ่งประเทศรับประทานยารักษา และถ้าดูกันมากกว่านั้นก็พบว่าประชาชนแถบตะวันตกเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ/ตัน ในขณะที่ประชาชนแถบตะวันออกเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ถ้าอย่างนั้นเราอย่าเพิ่งไปตื่นเต้นกับตัวเลขนั้นมาก ในแนวทางก็บอกว่าถ้าโคเลสเตอรอลเกิน 200 มก./ดล.นั้นเริ่มจะสูง ถ้ามากเกินกว่า 240 มก./ดล.นั้นถือว่าสูง และที่สำคัญกว่านั้นการรักษาเรามุ่งเน้นไปที่ LDL เป็นหลัก และค่า LDL ของแต่ละคนที่ยอมรับได้ก็ไม่เท่ากันอีก ต้องดูตามความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละคนเป็นสำคัญ สรุปว่าการรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติต้องดูผู้ป่วยแต่ละราย ประเมินตามความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเน้นที่ระดับ LDL ถ้าไม่สามารถตรวจได้ก็มาดูที่ระดับ non-HDL หรือระดับโคเลสเตอรอล ส่วนระดับไตรกลีเซอไรค์นั้นความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจากข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่พบว่าไม่มากมายเท่ากับ LDL ฉะนั้นระดับไตรกลีเซอไรค์นั้นถ้าไม่มากจนมีความเสี่ยงต่อการเกิดตับอ่อนอักเสบ ให้แนะนำผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเป็นสำคัญ3 จะให้ยาควบคุมก็ต่อเมื่อระดับ LDL อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับไตรกลีเซอไรค์ได้
                         แพทย์ส่วนใหญ่มักตกอยู่ในกับดักของไขมันในเลือด อาจเนื่องมาจากไม่รู้ ไม่ได้ศึกษาแนวทางอย่างละเอียด ความกลัวที่ถูกปลูกฝังกันมาอย่างยาวนาน หรือข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เช่น ลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ร้อยละ 444 (การลดอัตราการเกิด นั้นหมายความว่า ถ้าไม่กินยาเกิดโรคร้อยละ 1.36 ถ้ากินยาเกิดโรคร้อยละ 0.77 เมื่อนำมาลบกัน และหารกันออกมาก็เป็นอัตราร้อยละ 44 (1.36-0.77/1.36*100) แต่เวลาสื่อสารมักจะละคำว่า ”อัตรา” ไว้) บทความนี้อยากนำเสนอถึงข้อมูลอีกด้านนึง ไม่ได้ต่อต้านการรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ แต่อยากให้พิจารณาระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยแต่ละรายว่าจำเป็นต้องรักษาหรือไม่ เพราะนั่นหมายถึงการต้องกินยาไปตลอดชีวิตในผู้ป่วยบางราย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็มีผลอย่างมาก โดยจะเห็นได้ชัดว่าในผู้ป่วยบางรายให้ยาในขนาดเท่าเดิม นัดติดตามดูระดับไขมันบางครั้งก็อยู่ในเกณฑ์ บางครั้งก็สูง ทั้งๆ ที่ขนาดยาเท่าเดิม นั่นคงไม่ใช่เพราะยาแล้วหล่ะ แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมการกินซึ่งต้องถามผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป  

  1. Grundy SM, Cleeman JI, Merz CNB, et al. Implication of recent clinical trials for the National Cholesterol Education Program Adult Treatment Panel III guidelines. Circulation 2004;110:227-239. [Erratum, Circulation 2004;110:763.]
  2. การสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 [ออนไลน์]. กรุงเทพฯ: บริษัท เดอะ กราฟิโก ซิสเต็มส์ จำกัด; 2552. [เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2556] เข้าถึงได้จาก http://www.hiso.or.th/hiso5/report/report1.php
  3. Reiner Z, Catapano AL, De Backer G, et al. ESC/EAS Guidelines for the management of dyslipidaemias. Eur Heart J. 2011 Jul;32(14):1769-818. Epub 2011 Jun 28.
  4. Ridker PM, Danielson E, Fonseca FAH, Genest J, Gotto AM, Kastelein JJP, et al. Rosuvastatin to Prevent Vascular Events in Men and Women with Elevated C-Reactive Protein. New England Journal of Medicine. 2008;359(21):2195-207.