Principle and Reasons

หลักการและเหตุผลโครงการ ฯ (Principle and Reasons)

  • แหล่งวัตถุดิบเพื่อการทำอาหาร และ พฤติกรรมการบริโภคอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลอย่างสูงถึงสุขภาวะของประชาชน นำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพอย่างมากทั้งตัวผู้ผลิต ผู้บริโภค และ สิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่การปนเปื้อนของสารเคมีใน ข้าว ผักผลไม้ ซึ่งกลายเป็นสารสะสมต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมากของเกษตรกรและผู้บริโภค นอกจากนั้นแล้วระบบเกษตรแบบเคมียังส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมผ่านการปนเปื้อนในดินและน้ำของระบบนิเวศน์ ซึ่งยากยิ่งและใช้เวลาอย่างยาวนานต่อการกำจัดให้หมดไปในภายหลัง
  • ภายใต้การพัฒนางานของภาคีสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. ซึ่งได้มีการทำงานทั้งในฝั่งของมิติผู้ผลิต (ระบบเกษตรอินทรีย์ และ ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน) มิติผู้บริโภค และ มิติของระบบตลาด พบว่าเพื่อทำให้งานทั้งหมดขับเคลื่อนไปได้จริงอย่างยั่งยืน องค์ประกอบทั้งสามส่วนจำเป็นที่จะต้องถูกออกแบบอย่างประสานสัมพันธ์กันไม่สามารถแยกส่วนกันได้ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมคือ ระบบอาหารสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นและเยอรมัน Community-supported Agriculture System  [CSA] ซึ่งเชื่อมต่อผู้บริโภคในชุมชนเข้ากับกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในละแวกพื้นที่ และ สร้างระบบตลาดขายตรงแบบสมาชิกที่ไม่ส่งผักผลไม้ถึงบ้าน ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนไปจาก ผู้ซื้อ-ผู้ขาย ไปเป็น ผู้ผลิต-ผู้บริโภคผ่านระบบตลาดที่มีกิจกรรมและความสัมพันธ์เชิงคุณค่า ทำให้องค์ประกอบทั้งสามเติบโตไปได้ด้วยกันอย่างเกื้อกูลและยั่งยืน
  • จากบทเรียนที่ได้จากกรณีต้นแบบของประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการสร้างผลกระทบในระดับใหญ่มากขึ้น สสส. จึงพยายามออกแบบระบบอาหารสุขภาพในระดับองค์กร [Orgnisation-supported Agriculture System] ขึ้นโดยใช้หลักการเดียวกัน คือเน้นความสัมพันธ์แบบสามฝ่าย โดยมีสมมุติฐานว่าหากองค์กรที่มีความต้องการอาหารในปริมาณมาก ค่อนข้างแน่นอนต่อเนื่องแล้ว ผู้ผลิตเองก็จะมีความมั่นใจที่จะทำการผลิตแบบมีคุณภาพสูง ปลอดภัย ในระบบอินทรีย์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็จะตอบสนองกันได้ผ่านระบบซื้อขายตรงโดยไม่ต้องผ่านกลไกคนกลางเสริมไปกับกิจกรรมสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม เช่น การให้ความรู้เรื่องผลกระทบทางสุขภาพที่มาจากอาหาร การสาธิตการปรุงอาหารสุขภาพ การไปเยี่ยมชมพื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น ก็จะทำให้ระบบที่เกิดขึ้นสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้นแบบระบบอาหารสุขภาพในระดับองค์กรดังกล่าวหากทำสำเร็จก็จะเป็นจุดคานงัดทางยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถทำให้เกิดการทำซ้ำขึ้นได้อย่างมากมายในองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถส่งผลกระทบได้อย่างมากในระดับประเทศ
  • หนึ่งในรูปแบบองค์กรสำคัญที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเริ่มทดลองระบบดังกล่าวได้แก่ โรงพยาบาล มีตัวอย่างจากงานวิจัยทั้งกรณีต่างประเทศและในประเทศที่บ่งชี้ว่า โรงพยาบาลมีปัจจัยอย่างสูงต่อการผลักดันประเด็นเรื่องอาหารสุขภาพ  ประชาชนทั่วไปมีทัศนคติที่เชื่อมโยงเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพกับกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขและโรงพยาบาล กล่าวคือ หากบุคลากรสาธารณสุขและโรงพยาบาลเป็นคนริเริ่มดำเนินการกิจกรรมใดๆ ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะให้ความสำคัญและมีความเชื่อถืออย่างสูง
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะแพทยศาสตร์ที่มีโรงพยาบาลอยู่ด้วย เป็นองค์กรที่มีความสำคัญระดับประเทศที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือของคนไทยมาอย่างยาวนาน มีความพร้อมอย่างสูงในการทดลองดำเนินการในระบบดังกล่าวข้างต้น ทั้งในแง่ของมิติการผลิตที่มีที่ดินเปล่าที่ได้รับบริจาคมาทั้งสิ้น 30 ไร่ มิติของผู้บริโภคที่มีความต้องการวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาลอย่างมากและต่อเนื่อง รวมทั้งมีความสนใจในการริเริ่มสิ่งใหม่ โดยเฉพาะที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ หากมีการเพิ่มเติมองค์ความรู้ในเรื่องระบบเกษตรอินทรีย์และการบริหารจัดการตลาดเพิ่มเติม ก็จะทำให้ระบบดังกล่าวสามารถดำเนินการอย่างครบวงจรได้เป็นอย่างดี
  • กลุ่มเครือข่ายปราชญ์อีสาน เกษตรประณีต มูลนิธิชีววิถี ไร่ปลูกรัก และ มูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งมีประสบการณ์และความสำเร็จอย่างยาวนานในการดำเนินการเรื่องการผลิตระบบเกษตรยั่งยืน จึงมีแผนร่วมกับ สสส. และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการริเริ่มโครงการความร่วมมือนี้ขึ้น เพื่อพัฒนาต้นแบบของระบบอาหารสุขภาพและเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับองค์กร  โดยตั้งเป้าหมายว่าหากดำเนินการได้อย่างประสบความสำเร็จ ก็จะนำโมเดลดังกล่าวไปยกระดับและขยายผลผ่านช่องทางต่างๆของภาคีเชิงยุทธศาสตร์ และ การผลักดันนโยบายสาธารณะที่จำเป็นต่อไป