ข้อแนะนำ กรณีใช้สิทธิกองทุนทดแทน

   ข่าวสารประชาสัมพันธ์  (ดูทั้งหมด)
ทำไมต้องใช้สิทธิกองทุนทดแทน?

นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป  มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเพื่อเป็นกองทุนในการจ่ายเงินทดแทนนายจ้างให้แก่ลูกจ้าง  ซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือตายเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือเจ็บป่วยเป็นโรค ซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

 

วงเงินค่ารักษา สิทธิกองทุนทดแทนเท่าไหร่?

กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 50,000 บาท

 

ต้องเตรียมเอกสารอะไร หากต้องการให้โรงพยาบาลดำเนินการแทน?

กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานต้องเตรียมเอกสารดังนี้

  • แบบกท.16
  • แบบกท.44
  • ใบรับรองแพทย์
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาตารางการทำงาน / บัตรตอก หรือหนังสือรับรองการการปฏิบัติหน้าที่

กรณีหลักฐานการออกปฏิบัติงานนอกสถานที่

  • หลักฐานการออกปฏิบัติงานนอกสถานที่
  • บันทึกประจำวันตำรวจ(กรณีหลักฐานการออกปฏิบัติงานนอกสถานที่)
  • ยอดค่าใช้จ่ายที่ใช้ไป (กรณีเข้าโรงพยาบาลอื่นๆก่อนย้ายมาที่รพ.รามาธิบดี)

(เซ็นรับรองสำเนาเอกสารทุกฉบับ)

 

หากต้องการให้โรงพยาบาลดำเนินการแทน ยื่นเอกสารได้ที่ไหน?

ยื่นเอกสารได้ที่ หน่วยสิทธิประโยชน์ผู้รับบริการ
 

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ค่ารักษาพยาบาล
ค่ารักษาพยาบาลจ่ายได้ตามกฎกระทรวง  กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย  พ.ศ.  2558  ลงวันที่  30  มกราคม  2558

 

กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน  ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน  50,000  บาท

กรณีที่ค่ารักษาพยาบาล  50,000  บาท  ไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน  100,000  บาท 

สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะ  ดังต่อไปนี้

  • บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
  • บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
  • บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ
  • บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง หรือรากประสาท
  • ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม
  • ประสบอันตรายจากไฟไหม้  น้ำร้อนลวก  ความร้อน  ความเย็น  สารเคมี  รังสี ไฟฟ้า  หรือระเบิด  จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้ตั้งแต่ร้อยละ  25 ของพื้นที่ผิวของร่างกาย
  • ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรัง  ตามที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนด

กรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่มอีกตามข้อ 2  ไม่เพียงพอ  ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก  ทั้งนี้ โดยรวมค่ารักษาพยาบาลทั้ง  ข้อ 1  และ 2 แล้วต้องไม่เกิน 300,000  บาท  

สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 1 ถึง  6  ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป
  • ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 1 ถึง  6  ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก  หอผู้ป่วยวิกฤต  หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ตั้งแต่  20  วันขึ้นไป
  • บาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองหรือไขสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาตั้งแต่  30  วันติดต่อกัน

การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(ก)  เป็นผลให้อวัยวะสำคัญล้มเหลว
(ข)  กรณีอื่นนอกจาก (ก)  ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์

กรณีค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 1 - 3  ไม่เพียงพอ  ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์  แต่รวมกันแล้วไม่เกิน  500,000  บาท

กรณีค่ารักษาพยาบาลทุกกรณีไม่เพียงพอ  ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้น โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต้องไม่เกิน  1,000,000  บาท

เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นจนสิ้นสุดการรักษาแต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท

ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา

ลูกจ้างมีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก  แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ

การจ่ายค่ารักษาพยาบาล ให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์  โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

ในกรณีลูกจ้างเป็นผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง  ค่าอาหาร  ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป  ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว  เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ  1,300  บาท

โดยในปัจจุบัน  ใช้กฎกระทรวง  ดังนี้

กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย  พ.ศ.  2558 ฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2538 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558

กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ฉบับลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 มีผลใช้บังคับกรณีไม่เกิน 2,000,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559

อ่านรายละเอียดกองทุนทดแทนทั้งหมด

ดาวน์โหลดเอกสารแนะนำการใช้สิทธิกองทุนกรณีเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรามาธิบดี