6 อาการวิกฤต เข้าได้ทุกรพ. อยู่ใกล้

   ข่าวสารประชาสัมพันธ์  (ดูทั้งหมด)

 เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาว ในปีนี้เป็นวันหยุดต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจำนวนมากซึ่งทำงานอยู่ต่างถิ่นจะได้เดินทางกลับบ้านหรือไปเยี่ยมญาติ รวมทั้งมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆ ในช่วงเทศกาลนี้ สำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองนั้น หากในระหว่างที่เดินทางไปต่างจังหวัดและมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล

แบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามอัตราที่กำหนด แต่ไม่ใช่ว่ามุ่งเจาะจงไปเข้าสถานพยาบาลเอกชน ขณะที่มีสถานพยาบาลรัฐอยู่ใกล้ หากเป็นแบบนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์การใช้สิทธิ ดังนั้นจึงขอแนะนำว่าเบื้องต้นให้เข้ารักษาที่สถานพยาบาลรัฐไว้ก่อน

2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่น แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่ รพ. เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่ยังไม่ถึงขั้นฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ซึ่งกรณีนี้ เป็นไปตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุว่า ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง หากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ ซึ่งสถานพยาบาลอื่นนั้น หมายถึงสถานพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนประจำไว้ และสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเช่นเดียวกันคือแนะนำให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุดไว้ก่อน ไม่ใช่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากมีอัตราการเบิกจ่ายตามระเบียบที่กำหนดไว้

รายละเอียดเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ สพฉ. กำหนดกรณีกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต คือ  หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง   ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม  เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยตนอยากให้ประชาชนยึดหลักของกลุ่ม 6 อาการนี้ไว้สำหรบการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

 และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากการเตรียมหลักฐานสำคัญคือ “บัตรประจำตัวประชาชน” หรือบัตรที่มีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว ยังควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญของการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วได้ เพื่อเป็นความไม่ประมาท ในส่วนของประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง