พิจารณาสักนิด ก่อนคิด “ค้ำประกัน” (ภาคแรก)

พิจารณาสักนิด ก่อนคิด “ค้ำประกัน” (ภาคแรก)

  นายจตุพล  โถคนิตย์
นิติกร   งานกฎหมาย

 

     เมื่อเราไปเซ็นค้ำประกัน (โดยเฉพาะการค้ำประกันเงินกู้อันสุดฮิต) ให้กับเพื่อน ญาติพี่น้อง ฯลฯ       ความรับผิดของเราจะเกิดขึ้นตามสัญญาค้ำประกันดังนี้..

 

  1. ปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆจะกำหนดสัญญาค้ำประกันให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมทั้งสิ้น
  2. เมื่อตกเป็นลูกหนี้ร่วมก็จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ทั้งหมดบวกดอกเบี้ย หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าปรับ      ค่าติดตามทวงถาม รวมถึงค่าทนายความหากถูกฟ้องร้องหรือ เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้สามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระก่อน และ      ผู้ค้ำประกันก็ไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้ไปเรียกเอาจากลูกหนี้ก่อน
  3. เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็อาจถูกฟ้องและตกเป็นจำเลยร่วม ถ้าหากแพ้คดีก็จะต้องถูกบังคับคดีเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เช่น ถูกอายัดเงินเดือน ถูกยึดบ้าน ยึดรถ หรือทรัพย์สินอื่นที่อยู่ในข่ายการบังคับคดีเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้
  4. หากลูกหนี้ (บุคคลธรรมดา) มีหนี้เกิน 1 ล้านบาท และมีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้อาจฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ เมื่อลูกหนี้ถูกพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ก็จะตกเป็นบุคคลล้มละลายอยู่ 3 ปี เมื่อล่วงพ้น 3 ปีแล้วลูกหนี้จะพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายโดยผลของกฎหมาย (ปลดจากล้มละลาย) และหลุดพ้นจากความรับผิด ส่วนผู้ค้ำประกันยังไม่หลุดพ้นจากหนี้ที่ตนค้ำประกัน
  5. ในคดีล้มละลายหากมีการประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย มีผลทำให้ลูกหนี้เท่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดไม่รวมถึงผู้ค้ำประกันด้วยผู้ค้ำประกันยังต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอยู่จนครบจำนวนหนี้
  6. ในคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลเฉพาะตัวของลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันเฉพาะหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนความรับผิดของบุคคลผู้ต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน      ยังคงต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ยังขาด
  7. ในคดีล้มละลายหากเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ย่อมสิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้จากลูกหนี้ แต่ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดในหนี้ที่ตนประกันอยู่ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เนื่องจากไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายนี้ แต่ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ต่อไป
  8. เมื่อลูกหนี้ตายสัญญาค้ำประกันไม่ระงับ  
  9. เมื่อผู้ค้ำประกันตายสัญญาค้ำประกันไม่ระงับเป็นกองมรดกของผู้ตายและตกทอดแก่ทายาทต่อไป 

     ดังนั้น เมื่อเราทราบถึงความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก่อนที่จะไปเซ็น ค้ำประกันให้ใคร ควรคิดพิจารณา ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนนะครับ

     ในภาคแรกจะขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ในภาคต่อไปจะนำเสนอเกี่ยวกับสิทธิของผู้ค้ำประกันว่ามีอย่างไรบ้าง ความระงับของสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นในกรณีใดบ้าง และสาระสำคัญที่แก้ไขใหม่ของกฎหมายเรื่องการค้ำประกัน

                                                                           

                                                       

+++โปรดติดตามตอนต่อไป......To be continued +++