การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาและมารดา

การเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาและมารดา

นายอาคม  เลิศสุภานันท์
นิติกร  งานกฎหมาย

           ปัจจุบันภายในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้พบปัญหาว่า   บุคลากรบางท่านไม่ทราบว่าการเป็นบุตรและการเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น  ในทางกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไรบ้าง  ซึ่งหากเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วจะทำให้เกิดสิทธิในทางกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิเบิกค่าเล่าเรียนบุตร  สิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลของบุตรและของบิดา  หรือการใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิประกันสุขภาพภายในคณะฯ เป็นต้น  ซึ่งการที่มิได้เป็นบุตรหรือเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย  ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิสวัสดิการต่างๆ ภายในคณะฯ ได้  เนื่องจากการจะใช้สิทธิสวัสดิการภายในคณะฯ ได้นั้น          จะต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  

           ดังนั้น  การที่จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาและมารดาจะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในกรณีดังต่อไปนี้ 

  1. ในส่วนของมารดานั้น กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่า เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชายให้ถือว่า เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงและหญิงนั้นก็เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก

     ๒. ในส่วนของบิดานั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า กรณีที่เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับ 
         ชาย จะถือว่า เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชาย และชายเป็นบิดาโดยชอบด้วย 
         กฎหมายของเด็ก  ต่อเมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

         ๒.๑  บิดาและมารดาของเด็กได้ไปจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง

       ๒.๒  บิดาและมารดาพร้อมกับเด็กได้ไปจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร ซึ่งในกรณีนี้มารดา และเด็กจะต้องให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนได้ ซึ่งกรณีนี้เด็กจะต้องมีอายุตั้งแต่ ๗ ปี    ขึ้นไปและสามารถให้ความยินยอมได้(สามารถตอบคำถามเจ้าพนักงานได้)โดยสามารถไปติดต่อ ขอจดทะเบียนรับรองบุตรได้ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ

    ๒.๓ บิดาหรือมารดาหรือเด็กฟ้องคดีต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาว่าเป็นบิดาหรือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

                 ในกรณีที่ได้มีการปฏิบัติ ตามข้อ ๒.๑  ข้อ ๒.๒  และ ข้อ ๒.๓  แล้วนั้น  มีผลให้ถือว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันที่เด็กเกิดเป็นต้นไป

         ดังนั้น  เมื่อบุคลากรภายในคณะฯ มีข้อสงสัยในกรณีการเป็นบุตรหรือการเป็นบิดาและมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วก็สามารถพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว