เกี่ยวกับสาขา

ประวัติความเป็นมา

     สาขาโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึมได้รับการก่อตั้งมาตั้งแต่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดดำเนินการในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 โดยมีนายแพทย์สุขสวัสดิ์ เพ็ญสุวรรณ ซึ่งเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาเป็นคนแรกและเป็นอาจารย์ท่านเดียวของหน่วยในตอนนั้น

     ด้วยปณิธานของสาขาโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึมที่ก่อตั้งเพื่อผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงได้เริ่มรับแพทย์ผู้ช่วยอาจารย์รุ่นแรกเข้าฝึกอบรมในปี พ.ศ.2537 คือ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน (อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) และแพทย์หญิงนพวรรณ กิติวัฒน์ หลังจากนั้นได้มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องมา จนขณะนี้มีแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางร่วมกว่า 50 คน

     งานบริการในสาขาเน้นการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึมที่ได้มาตรฐาน ข้อโดดเด่นหนึ่งของทางสาขา คือได้พัฒนาระบบการรักษาผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์อย่างครบวงจร เช่น การวินิจฉัยและติดตามก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์โดยการอัลตร้าซาวนด์ การทำ fine-needle aspiration biopsy และ percentaneous ethanol injection ของก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ อีกทั้งได้มีการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างเป็นระบบโดยสหสาขาวิชาชีพ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้มีความรู้ในการดูแลตนเอง โดยการให้ความรู้แบบกลุ่มและคลินิคนับคาร์โบไฮเดรต ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวได้มีการนำไปเผยแพร่ในระดับประเทศ

     และเนื่องจากการวิจัยเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และวิทยาการใหม่ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป คณาจารย์และบุคลากรในสาขาต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวและมีการดำเนินการวิจัยต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่องโรคของต่อมไทรอยด์ และการขาดสารไอโอดีน โรคทางเมตะบอลิกของกระดูก โรคของต่อมหมวกไต โรคเบาหวานและอื่นๆ โดยทางสาขาวิชาได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากแหล่งทุนที่สำคัญๆ หลากหลายอาทิ เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมูลนิธิประชาธิปกรำไพพรรณี มีหลายงานวิจัยสร้างประโยชน์ต่อสังคม หรือส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนโยบายสาธารณสุขระดับชาติ เช่น

  1. งานวิจัยเกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีนได้รับการนำไปประกอบแผนการรณรงค์ควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ และอาจารย์ของสาขาวิชาได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ
  2. งานวิจัยเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด ได้รับการบรรจุให้เป็นงานประจำของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกที่ให้การบริการการตรวจคัดกรองและพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด และดำเนินการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ 
  3. งานวิจัยเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนในคนไทย ได้รับการนำไปใช้ในการกำหนดปริมาณแคลเซียมที่ควรรับประทานในคนไทย และอาจารย์ในสาขาได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการจัดทำหนังสือ “แคลเซียมเพื่อสุขภาพ” โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโภชนาการแคลเซียม
  4. หน่วยเป็นผู้เริ่มการวิเคราะห์ระดับฮอร์โมนไทรอยด์โดยวิธี radioimmunoassay ในประเทศไทย เป็นการเปิดแนวทางการบริการและการวิจัยเกี่ยวกับโรคของต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึมในคนไทย และนำมาซึ่งการตรวจวิเคราะห์ฮอร์โมนได้เกือบทุกชนิดในปัจจุบัน
  5. การนำเอาผลการศึกษาเรื่อง คะแนนความเสี่ยงของเบาหวาน (diabetes risk score) ในการคำนวณปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานมาปรับเข้าเป็นการประเมินปัจจัยเสี่ยงของกระทรวงสาธารณสุข

     งานวิจัยที่ยังคงกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน มีหลากหลาย เช่น การศึกษาภาวะพร่องวิตามินดีและผลต่อสุขภาพในคนไทย การศึกษาอณูพันธุศาสตร์ของโรคกระดูกพรุนในคนไทย การค้นหากลไกใหม่ของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 การศึกษาภาวะดื้อต่อยาแอสไพริน การศึกษาการนอนหลับและผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

     โดยสรุปแล้ว หน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ได้ผ่านการพัฒนามาตลอด 4 ทศวรรษควบคู่ไปกับภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และกำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 5  ภายใต้ปณิธานของหน่วย คือ “วิจัยเด่น ศึกษาเลิศ บริการเยี่ยม คนดีมีสุข เชิงรุกด้านบริหาร”

หัวหน้าสาขาวิชาจากอดีตถึงปัจจุบัน

·       พ.ศ. 2512 - 2534    ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สุขสวัสดิ์ เพ็ญสุวรรณ

·       พ.ศ. 2534 - 2551    ศาสตราจารย์นายแพทย์กอบชัย พัววิไล

·       พ.ศ. 2551 - 2555    ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญส่ง องค์พิพัฒนกุล

        พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน  ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร

 

หนังสือ ๕๐ ปี ต่อมไร้ท่อ อายุรศาสตร์รามาธิบดี