ขอบเขตการดำเนินงาน

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสาขาวิชาเพื่อ

  1. จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุให้กับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้านทุกภาควิชาที่เกี่ยวข้องของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอื่นๆ ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้หลังจากสำเร็จการศึกษา
  2. การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องผู้สูงอายุ
  3. เป็นแหล่งให้องค์ความรู้ แนวคิด นโยบาย และช่วยพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุแก่หน่วยงานของภาครัฐบาลและเอกชน

 

ขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วย

  • การเรียนการสอน
  1. สอนวิชาวิทยาการชรา และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ แก่นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึงนักศึกษาแพทย์ของสถาบันอื่นๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 จนถึงปัจจุบัน
  2. เป็นสถานที่ฝึกอบรม และดูงานของแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องรวมทั้งพยาบาลเฉพาะทาง (ผู้สูงอายุ) เกี่ยวกับการให้การดูแลผู้สูงอายุทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน
  3. ฝึกอบรมแพทย์ที่สนใจทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งในสาขาอายุรศาสตร์ เวชศาสตร์ครอบครัว รวมถึงแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
  4. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา หรือตรวจสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านการพยาบาลผู้สูงอายุทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  5. สอนบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ เช่น พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติการณ์ในชุมชน และทีมสหสาขาวิชาชีพอื่นๆในเรื่องความรู้และแนวคิดในการดูแลผู้สูงอายุ
  • การบริการผู้ป่วยและการบริการทางสังคม
  1. การบริการผู้ป่วยนอก
    1. ให้บริการด้านการรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ซึ่งมีปัญหาเรื้อรังและซับซ้อน
    2. ให้บริการด้านการดูแลส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในผู้สูงอายุสุขภาพดี
    3. สาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งคลินิกเฉพาะทางในการดูแลผู้สูงอายุ โดยได้รับความร่วมมือจากภาควิชาอื่นๆ และหน่วยงานสหสาขาวิชาชีพในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เช่น ร่วมกับภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จัดตั้งคลินิกความจำสำหรับดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมแบบสหสาขาวิชาชีพ ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว หน่วยสังคมสงเคราะห์ หน่วยเภสัชกรรม หน่วยทันตกรรม การพยาบาลเยี่ยมบ้าน และภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู จัดตั้งคลินิกประเมินผู้สูงอายุแบบครบวงจร เป็นต้น
  2. การบริการผู้ป่วยใน
    1. ให้บริการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่ได้รับไว้เป็นคนไข้ในของโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งดำเนินการให้การดูแลโดยทีมสหสาขาวิชาที่ประกอบด้วยแพทย์ (Geriatrician) พยาบาลที่สนใจด้านการพยาบาลผู้สูงอายุ (Geriatric resource nurses) พยาบาลเยี่ยมบ้าน (Ambulatory nurses) เภสัชกรคลินิก (Clinical pharmacist) และนักโภชนาการคลินิก (Clinical dietitian) เพื่อให้การดูแลแบบครบวงจรให้ผู้ป่วยสูงอายุฟื้นสภาพ จากการเจ็บป่วยได้เร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนและจำนวนวันที่อยู่ในโรงพยาบาล
    2. พัฒนารูปแบบการวางแผนจำหน่วยผู้ป่วย และการดูแลผู้ป่วยที่ซับซ้อนต่อเนื่องที่บ้าน โดยทีมพยาบาลเยี่ยมบ้านจากโรงพยาบาลรามาธิบดี และสถานพยาบาลใกล้บ้านและชุมชน
  3. การบริการวิชาการแก่สังคม
    1. ร่วมกับสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โดยการให้องค์ความรู้และแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในสถานบริการสาธารณสุขระดับต่างๆ และในชุมชน รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่างๆในเชิงนโยบายแก่สถาบัน เพื่อนำไปใช้ในระดับประเทศต่อไป
    2. ให้บริการข้อมูลทางวิชาการโดยการบรรยาย และเอกสารวิชาการแก่บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน เพื่อเจ้าหน้าที่และประชาชนจะได้นำไปปฏิบัติในการวางแผนการให้สุขศึกษา และดูแลสุขภาพร่างกาย เพื่อจะได้เป็นผู้ที่มีอายุยืนยาว และมีสุขภาพดี
    3. ร่วมก่อตั้งสมาคมพฤฒาวิทยา และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย เป็นองค์กรสหสาขาวิชาทางวิชาการ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบุคลากรทางสาธารณสุขที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลักดันเกี่ยวกับนโยบาย ความรู้ การดูแลผู้สูงอายุ
    4. ร่วมก่อตั้งสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ในปี พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นสาขาขององค์กรอัลไซเมอร์นานาชาติ (Alzheimer’s Disease International) ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนให้ผู้ป่วยสมองเสื่อม และผู้ดูแล ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยมีการให้บริการทางวิชาการ (บรรยาย และเอกสารวิชาการ) ตลอดมีสายด่วนตอบปัญหาเกี่ยวกับสมองเสื่อม และการดูแลผู้ป่วย ให้บริการ เยี่ยมบ้านเพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วยให้เหมาะสม จดหมายข่าวให้แก่สมาชิก และผู้สนใจ ห้องสมุดเกี่ยวกับสมองเสื่อม
    5. ร่วมก่อตั้งมูลนิธิแพทย์เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของแพทย์หลายสาขาวิชา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความรู้เพื่อให้คนไทยสามารถดูแลตนเองให้ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ โดยจัดการบรรยายให้ความรู้ประชาชนเดือนละ 1 ครั้ง และจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพตามโอกาส
  • ด้านการวิจัย               

     ในระยะแรกทางสาขาวิชามีการทำวิจัยค่อนข้างจำกัด โดยเน้นงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องกระดูกพรุนและสมองเสื่อมในผู้สูงอายุเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันงานวิจัยของสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุค่อนข้างมีความหลากหลายและเกี่ยวข้องกับแง่มุมต่างๆในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งในระดับเฉพาะโรค และ ฐานข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุไทย อาทิเช่น การศึกษาภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยสมองเสื่อม การศึกษาแผนที่สมองในผู้สูงอายุไทย การศึกษาปัญหาของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ทางสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุยังร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการทำวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

  • ด้านอื่นๆ
  1. ร่วมกับสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุในการแปลและเรียบเรียงแบบทดสอบสมรรถภาพสมอง (MMSE-Thai: Mini Mental State Examination-Thai Version) เพื่อใช้ในการคัดกรองสมรรถภาพสมองของผู้สูงอายุ รวมทั้งให้การอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องในด้านความรู้เกี่ยวกับสมองเสื่อม และวิธีการคัดกรองผู้สูงอายุ นำมาซึ่งการสำรวจสมรรถภาพสมองผู้สูงอายุไทย จำนวนกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ ทำให้ทราบจำนวนผู้สูงอายุที่มีสมรรถภาพสมองผิดปกติ และสามารถให้การวางแผนการพัฒนาบุคลากร และรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะพัฒนาเป็นต้นแบบของการให้การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื้อรังอื่นๆ ต่อไป
  2. ร่วมกับชมรมโรคสมองเสื่อม และสถาบันประสาทวิทยา พญาไท พัฒนา Clinical Practice Guideline เรื่องสมองเสื่อมสำหรับแพทย์ และร่วมนิพนธ์คู่มือเรื่องสมองเสื่อมสำหรับแพทย์ และประชาชน
  3. ร่วมกับสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุทำตำราเกี่ยวกับวิทยาการชรา และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ในปี พ.ศ.2547

Impact ต่อสังคม

  1. สาขาวิชาฯ เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดประชุมวิชาการของสมาคมพฤฒาวิทยา และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย
  2. สาขาวิชาฯ ดำเนินการผลักดันให้มีการจัดกิจกรรมประจำปี เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก ของสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเทศไทย ในเดือนกันยายน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา
  3. อาจารย์ในสาขาเป็นคณะกรรมการทำงานด้านผู้สูงอายุหลายชุด
  4. สาขาวิชาฯ ได้ผลักดันให้เภสัชกรคลินิกเสนอการใช้ยาอย่างเหมาะสมในผู้สูงอายุต่อบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และนำมาซึ่งการดูงานจากด้านเภสัชกรคลินิกจากโรงพยาบาล และสถาบันการศึกษาอื่นๆ และการพัฒนาระบบจ่ายยาผู้ป่วยเพื่อลดผลอันไม่พึงประสงค์จากยา และปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาต่างๆ

จุดเด่นของสาขาวิชา

  1. สาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุได้ริเริ่มการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ โดยทีมสหสาขาวิชาเป็นรูปธรรมเป็นแห่งแรก และทำให้สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาศักยภาพ และการดูแลผู้ป่วยสูงอายุมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับในแวดวงผู้ที่ทำงานด้านผู้สูงอายุ ทีมสหสาขาวิชาที่ได้พัฒนาไปจนมีลักษณะที่โดดเด่นได้แก่ Geriatric Resource Nurse จะช่วยดูแลและประเมินผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นผู้ป่วยใน โดยพัฒนาพยาบาลที่ทำงานในหอผู้ป่วยนั้นๆ ที่สนใจในการดูแลผู้สูงอายุเข้ารับการอบรมและพัฒนาความรู้จนสามารถเป็นผู้ประเมินผู้ป่วยและเป็นศูนย์กลางในการประสานการดูแลระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (ทั้งที่หอผู้ป่วย และพยาบาลที่ตามไปดูแลที่บ้าน) และญาติผู้ป่วยช่วยในการแก้ปัญหาที่เกิดจากความไม่พร้อมของญาติ ครอบครัว ให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ตามศักยภาพเภสัชกรคลินิก (clinical pharmacist) ได้มีการพัฒนาเภสัชกรที่ร่วมให้การดูแลผู้สูงอายุเป็นเภสัชกรคลินิกที่ช่วยดูแลเรื่องการใช้ยาอย่างปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ และได้กระจายการให้บริการสำหรับผู้ป่วยในแผนกอื่นๆ เช่น ศัลยกรรม สูตินรีเวช ออโธปิดิกส์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นต้นแบบของงานเภสัชกรคลินิก ซึ่งเป็นกำลังนวัตกรรมของการดูแลผู้ป่วยที่สอดคล้องกับงานรับรองคุณภาพโรงพยาบาล        
  2. สาขาวิชาฯ ได้ริเริ่มการทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องสมองเสื่อมอย่างจริงจัง ตั้งแต่เรื่องแปล แบบคัดกรอง ประเมินผู้ป่วย ให้การอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการประเมิน การดูแลผู้ป่วย การให้คำปรึกษา (counseling) และกำลังดำเนินการตั้งคลินิกเฉพาะเกี่ยวกับสมองเสื่อม ซึ่งจะดูแลผู้ป่วยโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ จิตแพทย์ อายุรแพทย์ระบบประสาท และการสื่อสารความหมาย รังสีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ นักจิตวิทยา พยาบาลให้คำแนะนำปรึกษา เป็นต้น คาดว่าในอนาคตจะเป็นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมที่สมบูรณ์ และสามารถเป็นต้นแบบของการดูแล (model of care) ให้แก่หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง        
  3. สาขาวิชาฯ ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ได้ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มญาติ ผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข ตั้งเป็นชมรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในภูมิภาค ซึ่งได้สำเร็จลุล่วงในปี พ.ศ.2546 จำนวน 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา และกำลังดำเนินการในอีกหลายจังหวัด คาดว่าภายในสิ้นปี พ.ศ.2547 สามารถก่อตั้งได้อีก 4 จังหวัด ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยที่ครอบคลุมทั้งทุกภาคของประเทศ และรูปแบบการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมนี้จะสามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุทุกสถานะสุขภาพ ตั้งแต่ผู้สูงอายุสุขภาพดี (well-elderly) จนถึงผู้ที่สูญเสียความสามารถ (disability) ทุพพลภาพ (handicap) ร่วมกับการให้การดูแลระยะสุดท้าย (terminal care) อย่างเหมาะสม

แนวทางการพัฒนาหน่วยในอนาคต         

     สาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสาขาให้พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ โดยมีหลักให้ประชากรกลุ่มที่มีสุขภาพดีที่สุดจนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเน้นเรื่องการใช้ชีวิตในช่วยวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ อย่างเหมาะสม การส่งเสริม การป้องกันโรค รวมทั้งผลักดันให้มีการดูแลปรับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้สูงอายุสามารถมีชีวิตอยู่ย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้จะพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในภาวะสุขภาพต่างๆ ตามลำดับขีดความสามารถของสถานบริการสาธารณสุข และชุมชนให้สามารถปฏิบัติได้จริง และมีประสิทธิผล โดยมีแนวทางในการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ ดังนี้                

  1. รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน                
  2. รูปแบบการจัดการบริการผสมผสานให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน โดยชุมชนได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อโอกาสเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดต่างๆ                
  3. พัฒนาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการชรา และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุให้เข้าถึงผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ทุกระดับ ทุกสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ                
  4. ให้มีหลักสูตร และการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เพื่อให้มีแพทย์เฉพาะทางมากขึ้นครอบคลุมการเรียนการสอน การวิจัยด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง