เกี่ยวกับสาขา

ประวัติสาขาวิชา

     สาขาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้รับการก่อตั้งมาตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาล ปี พ.ศ. 2510 เริ่มแรกมีอาจารย์อยู่ในหน่วยเพียง 2 ท่าน คือ นายแพทย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ และนายแพทย์เกรียงไกร อัครวงศ์ ในระยะต่อมามีแพทย์เพิ่มเติม คือ นายแพทย์อุดม หะรินสุต (ปี พ.ศ.2513) นายแพทย์สุชา คูระทอง (ปี พ.ศ.2516) นายแพทย์ประวิทย์ เลิศวีระศิริกุล (ปี พ.ศ.2520) นายแพทย์จรินทร์ โรจนบวรวิทยา (ปี พ.ศ.2524) นายแพทย์วีระศักดิ์ ว่องไพฑูรย์ (ปี  พ.ศ.2524) แพทย์หญิงชุติมา ประมูลสินทรัพย์ (ปี พ.ศ.2526) แพทย์หญิงโฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์ (ปี พ.ศ. 2536) แพทย์หญิงอาภัสณี โสภณสฤษฏ์สุข (ปี พ.ศ.2541) แพทย์หญิงพนิดา ทองอุทัยศรี (ปี พ.ศ.2542) นายแพทย์นรินทร์ อจละนันท์ (ปี พ.ศ.2544) นายแพทย์สุชาติ วงศ์จรัสรวี (ปี พ.ศ.2544) นายแพทย์ มล.ทยา  กิติยากร (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551) นายแพทย์พงษ์ภพ  อินทรประสงค์ (วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552) และนายแพทย์ภัทรพงศ์ กมลาภรณ์ (วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2552) ปัจจุบันมีอาจารย์ในหน่วยทั้งหมด 6 ท่าน                  

     สาขาโรคทางเดินอาหารและตับ ของภาควิชาอายุรศาสตร์รามาธิบดี มีความแตกต่างจากสาขาโรคทางเดินอาหารของคณะแพทยศาสตร์อื่น ที่ได้รวมวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อนไว้ด้วย เพราะผู้เริ่มก่อตั้งหน่วยคือ นายแพทย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ เห็นว่าโรคทางเดินอาหารในประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อที่พบในเขตร้อนเป็นอย่างมาก

     ผลงานวิจัยและการแต่งตำราของหน่วยในระยะแรกที่สำคัญคือ นายแพทย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ ได้รับเชิญให้เขียนบทความในตำราแพทย์ Oxford Textbook of Medicine ได้แก่ เรื่อง Eosinophilic Meningoencephalitis จากพยาธิ Angiostrongylus Cantanensis และ Gnathostomiasis ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยและสำคัญในประเทศไทย โดยได้ศึกษาระบาดวิทยา การเกิดพยาธิสภาพ จนถึงลักษณะทางคลินิกโดยสมบูรณ์ และได้ศึกษาวิจัยระบาดวิทยาของโรคตับอักเสบจากไวรัส บี ในคนไทย ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นการค้นพบใหม่ นอกจากนี้ได้ศึกษาและรายงานเรื่องโรคไข้จับสั่นที่มีภาวะแทรกซ้อนทางปอดที่เป็นภาวะที่พบใหม่ และโรคไข้เลือดออกที่มี DIC โดยศึกษาร่วมกับศาสตราจารย์แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล แห่งหน่วยโลหิตวิทยาของคณะ เรื่องสุดท้ายคือได้เริ่มศึกษาโรคเมลิออยโดซิสจนทำให้รู้ว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญและพบบ่อยมากในประเทศเรา เป็นต้น โดยในระยะแรกได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ที่มาช่วยโรงเรียนแพทย์ และจากทุนของเอกชน เพราะในระยะนั้นไม่ได้ทุนวิจัยจากหน่วยงานของรัฐ               

     จุดเด่นที่ถือเป็นผลงานของหน่วยฯ คือการสอนวิชาโรคทางเดินอาหาร โดยได้รวมกลุ่มกับคณะศัลยแพทย์ คือ นายแพทย์จินดา สุวรรณรักษ์และ นายแพทย์ทองดี ชัยพานิช และรังสีแพทย์ คือ นายแพทย์จิโรตน์ สุชาโต จัดการสอนร่วมกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ เป็นที่นิยมของนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และเฟลโลว์เป็นอย่างมาก หลังจากนั้นได้ชักชวนหน่วยโรคทางเดินอาหารของโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาร่วมงานทางวิชาการจนทำให้มีการรื้อฟื้นสมาคมโรคทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยขึ้นหลังจากหยุดกิจกรรมไปนาน จุดเด่นอีกเรื่องหนึ่งของสาขา คือจัดการเรียนการสอนวิชาโรคติดเชื้อโดยรวมอาจารย์จากภาควิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสตราจารย์ยายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา จากภาควิชากุมารศาสตร์และศาสตราจารย์แพทย์หญิงพนิดา ชัยเนตร จากจุลชีววิทยา มาร่วมสอนวิชาโรคติดเชื้อ โดยดูคนไข้จากทุกภาควิชา และยังได้จัดการอบรมวิชาโรคติดเชื้อให้แก่แพทย์ทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นที่นิยมของแพทย์เป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา นอกจากนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

     กิจกรรมของหน่วยที่สำคัญ คือ การเรียนการสอนทั้งของนักศึกษาแพทย์และแพทย์หลังปริญญา การบริการเกี่ยวกับการตรวจรักษาดูแลผู้ป่วย  ตรวจและรักษาโดยวิธีพิเศษทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน  และทำการวิจัยทั้งในโรงพยาบาลชุมชนและต่างจังหวัด  นอกจากนี้อาจารย์ในหน่วยยังเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบัน และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ รวมทั้งเป็นกรรมการและวิทยากรในการบริหารและการอบรมของสมาคม หรือชมรมทางวิชาชีพหลายแห่ง