เกี่ยวกับสาขา

ประวัติความเป็นมา           

สาขาวิชาโรคไตนั้นก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2510 พร้อมๆ กับคณะแพทยศาสตร์ฯ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์รจิต บุรี อายุรแพทย์โรคไตซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์คนแรกด้วย ในเวลาต่อมาศาสตราจารย์นายแพทย์รจิตได้ชักชวนอาจารย์เพ็ญศรี มกรานนท์ ซึ่งจบการศึกษาเฉพาะทางมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อมารับตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาแทน ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์นายแพทย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์ ได้มาช่วยงานในสาขาวิชาอีกท่านหนึ่ง ศาสตราจารย์นายแพทย์สุชาติ ได้พัฒนาสาขาวิขาโรคไตให้สมบูรณ์ขึ้น โดยได้ริเริ่มการเจาะไต (kidney biopsy) การล้างไตทางช่องท้อง (peritoneal  dialysis) และการฟอกเลือด (hemodialysis) สำหรับผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันขึ้นในโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นครั้งแรก ในระยะต่อมาศาสตราจารย์นายแพทย์โสภณ พานิชพันธ์ และ อาจารย์วิรุฬ มาวิจักขณ์ ได้เริ่มโครงการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) สำหรับบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังขึ้น และด้วยความร่วมมือของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ไพฑูรย์ คชเสนี จากภาควิชาศัลยศาสตร์ จึงได้ริเริ่มทำการปลูกถ่ายไตเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2529 ต่อมาศาสตราจารย์นายแพทย์วสันต์ สุเมธกุล ได้สานต่อโครงการปลูกถ่ายไตร่วมกับแผนกศัลยกรรม และสุดท้ายจึงได้เปิดห้องไตเทียม เพื่อให้บริการฟอกเลือดแก่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ในส่วนของการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาวิชาได้รับแพทย์ประจำบ้านต่อยอดรุ่นแรกในปี พ.ศ.2537 และได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ในปัจจุบันสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดให้การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดจำนวน 5 คนต่อปี ได้ผลิตแพทย์เฉพาะทางโรคไตออกไปทำงานในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 80 คน ปัจจุบันสาขาวิชาโรคไตมีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังภายใต้การดูแลรักษามากกว่า 6000 คน/ปี ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตทั้งเก่าและใหม่ไม่น้อยกว่า 200 คน/ปีซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดในประเทศไทย ร่วมทั้งมีการเจาะไตเพื่อทำการตรวจชิ้นเนื้อไตกว่า 300 ครั้ง/ปี