เกี่ยวกับสาขา

ประวัติความเป็นมา          

   ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ วิชัย ตันไพจิตร เป็นผู้ก่อตั้งสาขาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2516 โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีและศาสตราจารย์แพทย์หญิง สาคร ธนมิตต์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยในขณะนั้น ได้กรุณาจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของชั้น 6 อาคาร 1 ให้เป็นห้องปฏิบัติการของสาขาวิชาซึ่งนับเป็นคลินิกโภชนาการสำหรับผู้ใหญ่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาทางด้านทุพโภชนาการเป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อบริการผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่องานวิจัย และการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ ภายในสาขามีอาจารย์แพทย์จากภาควิชาอายุรศาสตร์ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยมาร่วมปฏิบัติงาน และได้มีการพัฒนาการมาตามลำดับดังนี้

     ปี พ.ศ. 2517 ได้เปิดสอนโภชนศาสตร์คลินิกแก่นักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน นักโภชนากร นักกำหนดอาหาร และพยาบาล ให้ตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการกับการดูแลรักษาผู้ป่วย

     ปี พ.ศ. 2518 ได้ก่อตั้งหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาโภชนศาสตร์ ระดับปริญญาโท

     ปี พ.ศ. 2528  ได้ก่อตั้งหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาโภชนศาสตร์ ระดับปริญญาเอก

     ปี พ.ศ. 2532 ได้จัดตั้งโครงการโภชนศาสตร์คลินิก โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและเบลเยี่ยม ให้การสนับสนุนเครื่องมือหลายชนิด จนกระทั่งห้องปฏิบัติการของสาขาชั้น 6 อาคาร 1 มีพื้นที่ไม่เพียงพอ ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีในขณะนั้นจึงได้อนุมัติให้ดำเนินการดัดแปลงพื้นที่ด้านหลังของชั้น 9 อาคาร 1 เป็นห้องปฏิบัติการของโครงการโภชนศาสตร์คลินิก มีห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารอาหารต่างๆ ห้องเจ้าที่ธุรการ และห้องสมุดของสาขาวิชา รวมทั้งเป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก และแพทย์ที่มาฝึกอบรมด้านโภชนศาสตร์คลินิก 

     ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ วิชัย ตันไพจิตร ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาคนแรกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2516 จนถึง ปี พ.ศ.2543 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 27 ปี อาจารย์ได้วางรากฐานโภชนาการทางคลินิก การให้อาหารทางระบบทางเดินอาหารและทางหลอดเลือดดำให้แก่ผู้ป่วยผู้ใหญ่อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งจัดตั้งทีมงานในการบำบัดทางโภชนาการแก่ผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาล

     ปี พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2550 ศาสตราจารย์นายแพทย์สุรัตน์ โคมินทร์ เป็นหัวหน้าสาขาวิชาคนที่ 2 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเรื่องโครงสร้าง โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีในขณะนั้น ได้ก่อสร้างตึกอาคารวิจัยและสวัสดิการและมีดำริให้เป็นศูนย์รวมเครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆด้านการวิจัยทางการแพทย์ ให้อยู่ที่ตึกเดียวกัน ดังนั้นห้องปฏิบัติการวิจัยของหน่วย ชั้น 6 และชั้น 9 จึงถูกยุบมารวมกันที่อาคารวิจัย การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นมีผลทำให้เจ้าหน้าที่สาขาวิชามีการโยกย้ายที่ทำงาน ลาไปศึกษาต่อ ลาออกก่อนเกษียณอายุ ทำให้มีเจ้าหน้าที่น้อยลง แต่การดำเนินงานยังมีต่อและมีผลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง                 

     ปี พ.ศ. 2550-2555 ศาสตราจารย์แพทย์หญิงจุฬาภรณ์ รุ่งพิสุทธิพงษ์ เป็นหัวหน้าคนที่ 3  ได้มีผลงานดังนี้  1) ก่อตั้ง Parenteral health care team  มีสถานที่ตั้งที่ชั้น6 อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์  และวางรากฐานร่วมกับทางกลุ่มเภสัช พัฒนาสูตรอาหารทางหลอดเลือดดำมาตรฐานโรงพยาบาลรามาธิบดี   Ramathibodi  Standard Total Parenteral Formula  ซึ่งสามารถให้ในผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลงานตีพิมพ์ ผ่านการรับรองจากศูนย์ประยุกต์  ซึ่งได้รับอนุสิทธิบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล หมายเลข อนุสิทธิบัตร 1499  พ.ศ. 2547   2) ได้พัฒนาสารละลายแร่ธาตุสำหรับผู้ป่วยที่ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ Ramatrace ชึ่งมีประสิทธิภาพ และราคาถูก ได้รับอนุสิทธิบัตร จากมหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่ 1920 เมื่อพ.ศ. 2550  3) ได้ทำหนังสือคู่มือการดูแลผู้ป่วยที่ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ และวางแนวทางการดูแลสายสวนเพื่อลดการติดเชื้อซึ่งสามารถการติดเชื้อจากร้อยละ 18 เหลือ ร้อยละ 4  ซึ่งตีพิมพ์รายงาน ในปีพ.ศ. 2546  4) ได้รับรางวัลการจาก คณบดีโรงพยาบาล รามาธิบดี รางวัลพัฒนาคุณภาพ  หัวหน้าโครงการการดูแลผู้ป่วย เป็นทีม  ในปี พ.ศ. 2544  5) ได้พัฒนา หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดของโรงพยาบาล รามาธิบดี ให้ได้มาตรฐานผ่านแพทยสภารับรอง  สามารถได้วุฒิบัตรในปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันมีแพทย์ ผู้สำเร็จจากหลักสูตรนี้  10คน  6)ได้วางรากฐานการดูแลผู้ป่วยที่ให้อาหารทางหลอดเลือดดำที่บ้าน ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2543 และได้รับรางวัล บริการ ภาครัฐแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ. 2559  ประเภท รางวัลการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดย ท่านรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม

ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน  ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงดรุณีวัลย์  วโรดมวิจิตร เป็นหัวหน้าสาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์จนปัจจุบัน โดยปัจจุบันหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเป็นแหล่งผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนศาสตร์คลินิกเพื่อเป็นอาจารย์แพทย์และแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนศาสตร์คลินิกในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งอบรมสำหรับนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอดทั้งภาควิชาอายุรศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา รวมถึงบุคลากรทางแพทย์สาขาต่างๆและสถาบันศึกษาต่างๆทั่วประเทศ

ด้านการให้บริการและการวิจัยทางสาขาวิชา ดำเนินการด้านการดูแลผู้ป่วยทีมีปัญหาด้านทุพโภชนาการทั้งในโรงพยาบาล และผู้ป่วยนอก มีการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำหรือทางสายให้อาหารทางเดินอาหารที่บ้าน (Ramathibodi Home Parenteral and Enteral Nutrition Center)  โดยเป็นการให้การดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขา ร่วมกับอายุแพทย์สาขาต่างๆ ศัลยแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและนักโภชนาการ

นอกจากนั้นยังมีการดูแลผู้ป่วยโรคอ้วนอย่างเป็นระบบทั้งการให้การดูแลรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรับอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยาและการผ่าตัดลดน้ำหนัก โดยดูแลผู้ป่วยทั้งที่แผนกผู้ป่วยนอก (Nutrition and Bariatric Clinic)และผู้ป่วยใน

รางวัลของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ในสาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์

  1. รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ (ก.พ.ร.) ประจำปีพ.ศ. 2559 (Thailand Public Service Awards) เรื่อง การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำที่บ้านแบบครบวงจร ประเภท รางวัลการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
  2. รางวัลผลงานเกียรติยศเรื่อง “การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำที่บ้านแบบครบวงจร” ในงานมหกรรมคุณภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2559
  3. เป็นตัวแทนคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลในงานประชุมวิชาการ Hospital Accreditation (HA) Forum เรื่อง ) “การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำที่บ้านแบบครบวงจร” ประจำปี พ.ศ. 2559
  4. ได้พัฒนาสารละลายแร่ธาตุสำหรับผู้ป่วยที่ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ Ramatrace ชึ่งมีประสิทธิภาพ และราคาถูก ได้รับอนุสิทธิบัตร จากมหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่ 1920 เมื่อพ.ศ. 2550 
  5. ร่วมกับทางกลุ่มเภสัช พัฒนาสูตรอาหารทางหลอดเลือดดำมาตรฐานโรงพยาบาลรามาธิบดี   Ramathibodi  Standard Total Parenteral Formula  ซึ่งสามารถให้ในผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับอนุสิทธิบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล หมายเลข อนุสิทธิบัตร 1499  พ.ศ. 2547 
  6. ได้ทำหนังสือคู่มือการดูแลผู้ป่วยที่ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ และวางแนวทางการดูแลสายสวนเพื่อลดการติดเชื้อซึ่งสามารถการติดเชื้อจากร้อยละ 18 เหลือ ร้อยละ 4  ซึ่งตีพิมพ์รายงาน ในปีพ.ศ. 2546
  7.  ได้รับรางวัลการจากคณบดีโรงพยาบาลรามาธิบดี รางวัลพัฒนาคุณภาพ  หัวหน้าโครงการการดูแลผู้ป่วย เป็นทีม  ในปี พ.ศ. 2544 
  8. เตียงป้องกันการเกิดแผลกดทับ เป็นผลงานของ ศ.นพ.สุรัตน์  โคมินทร์ซึ่งมอบสิทธิบัตรให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจดทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ปีพ.ศ. 2544