หญิงตั้งครรภ์ต้องการ ไอโอดีน มากกว่าคนธรรมดาเพราะเหตุใด?

     ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับสารไอโอดีนในปริมาณไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้เด็กในครรภ์มีความพิการทางสมองได้ เป็นภาวะอันตรายที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงควรได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอจากการบริโภคอาหาร เนื่องจากสารไอโอดีนเป็นสารที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้

ความสำคัญของสารไอโอดีน

     ไอโอดีนเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อทุกเซลล์ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง หากได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอ จะทำให้สมองเกิดความพิการในเด็กทารก นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไทยมีระดับไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งเกิดจากการขาดสารไอโอดีนเช่นกัน ทั้งยังพบว่าการขาดสารไอโอดีน ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ การเกิดโรคคอพอก รวมถึงร่างกายอ่อนเพลีย เป็นต้น โดยสารไอโอดีนเป็นสารที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องรับจากภายนอกเท่านั้น นอกจากนี้ในทางการแพทย์ยังพบว่าสารไอโอดีนมีประโยชน์หลายอย่าง อาทิ ส่วนประกอบในยาแก้ไอ ส่วนประกอบในยาฆ่าเชื้อ การฉีดสีทำ CT Scan เป็นต้น

ไอโอดีนและหญิงตั้งครรภ์

     ทารกในครรภ์มารดามีการเจริญเติบโตของระบบประสาทตั้งแต่ในครรภ์ จึงควรได้รับไอโอดีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเซลล์ประสาทและสมองในปริมาณที่เพียงพอ หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ทารกในครรภ์ขาดสารไอโอดีนไปด้วย เนื่องจากไอโอดีนเป็นสารที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ในทารกจะต้องได้รับจากมารดาเท่านั้น ส่วนตัวมารดาหรือหญิงตั้งครรภ์จะสามารถรับสารไอโอดีนได้จากการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารไอโอดีน หรือได้รับจากยาเสริมธาตุไอโอดีน

     นอกจากนี้ยังพบว่าในหญิงตั้งครรภ์จะมีการทำงานของไตที่หนักกว่าคนทั่วไป ทำให้เกิดการขับไอโอดีนออกจากร่างกายปริมาณมากกว่าคนอื่น จึงควรบริโภคไอโอดีนให้มากกว่าปกติ โดยไอโอดีนจะถูกส่งไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก และหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนอย่างน้อย 250 ไมโครกรัมต่อวัน ทางที่ดีสำหรับการรับสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับก่อนตั้งครรภ์เป็นเวลา 5 เดือน หากมีการวางแผนที่จะมีบุตร

ผลของการขาดไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์

     ผลของการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ จะทำให้เกิดความผิดปกติ แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือความผิดปกติที่เกิดกับทารกในครรภ์ และความผิดปกติที่เกิดกับมารดาหรือหญิงตั้งครรภ์

ความผิดปกติที่เกิดกับทารกในครรภ์

- เสียชีวิตในครรภ์ (ภาวะแท้ง)
- เสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด
- ภาวะพิการทางสมอง (ปัญญาอ่อน)
- ต่อมไทรอยด์ไม่ทำงานแต่กำเนิด
- ร่างกายเล็กผิดปกติ เติบโตช้า ดูดนมแม่ได้ไม่ดี
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- สติปัญญาต่ำกว่ามาตรฐาน

ความผิดปกติในหญิงตั้งครรภ์

- ต่อมไทรอยด์ทำงานได้ไม่ดี
- ร่างกายอ่อนเพลีย
- โรคคอหอยพอก
- ภาวะมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งกระเพาะอาหาร

การได้รับสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์

- อาหารทะเล
- อาหารที่ปรุงรสด้วยผลิตภัณฑ์เสริมสารไอโอดีน อาทิ น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง เป็นต้น
- ยาเสริมธาตุไอโอดีน จ่ายโดยสูตินรีแพทย์

ไอโอดีนและหญิงให้นมบุตร

     นอกจากหญิงตั้งครรภ์ที่ควรได้รับสารไอโอดีนมากกว่าคนทั่วไปแล้ว รองลงมาก็คือหญิงที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร เนื่องจากเด็กที่อยู่ในวัยกินนมแม่ ยังคงต้องการสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง นำไปสู่การสร้างเสริมสติปัญญาให้มีระดับไอคิวที่เหมาะสม โดยระดับไอคิวของคนปกติจะอยู่ที่ 90-110 แต่ที่ผ่านมาพบว่าในเด็กไทยมีปัญหาอยู่ จากเดิมทีเด็กไทยมีระดับไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 91 แต่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขพบว่าเด็กไทยมีระดับไอคิวเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 81 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยมีระดับไอคิวที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และหนึ่งในสาเหตุสำคัญก็คือการขาดสารไอโอดีน

มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

     ที่ผ่านมาหลังพบว่าเด็กไทยมีระดับไอคิวลดน้อยลงจนต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขหันมาให้ความสำคัญโดยการใส่ไอโอดีนลงในอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้สถานการณ์ภาวะขาดสารไอโอดีนดีขึ้นตามมา โดยในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุข ออกกฎว่าเกลือบริโภคทุกชนิดจะต้องมีไอโอดีนไม่ต่ำว่า 30 มิลลิกรัมต่อเกลือ 1 กิโลกรัม ส่วนในผลิตภัณฑ์ปรุงรสอื่น อาทิ น้ำปลา น้ำปรุงรส ซอสถั่วเหลือง จะต้องมีไอโอดีนไม่น้อยกว่า 2 มิลลิกรัมและไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อผลิตภัณฑ์ 1 ลิตร เพื่อลดปัญหาการขาดสารไอโอดีน และควบคุมไม่ให้คนไทยบริโภคเกลือมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง

ผลของการขาดไอโอดีนในภาพรวม

- ขาดไอโอดีนในปริมาณน้อย ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
- ขาดไอโอดีนปริมาณมาก ส่งผลต่อระบบประสาท
- ขาดไอโอดีนปริมาณมาก ๆ ส่งผลให้ต่อมไทยรอยด์ไม่ทำงานแต่กำเนิด

ขอบคุณข้อมูลจาก รายการพบหมอรามา ช่วง Big Story สร้างความเข้าใจใหม่ไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ สำคัญอย่างไร
โดย รศ. นพ.พัญญู พันธ์บูรณะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Reference: 
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/19037/