เรื่องน่ารู้ทางนรีเวชสำหรับผู้ป่วย "มะเร็งเต้านม" (ตอน 2)

รศ.พญ.อาบอรุณ เลิศขจรสุข 
หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

     หลังจากที่ได้ทราบกันแล้วว่า การรักษาโรคมะเร็งเต้านมส่งผลอะไรกับทางนรีเวชบ้าง ซึ่งทางนรีเวชเองก็มีภาวะต่างๆ หรือยาและการรักษาที่มีผลต่อเต้านมเช่นเดียวกัน

     ฮอร์โมนที่สำคัญของเพศหญิงคือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งทั้ง 2 ตัวสร้างจากรังไข่ นอกจากนี้ยังสามารถได้รับฮอร์โมนนี้จากปัจจัยภายนอกนั่นคือ ยาที่ใช้ในการคุมกำเนิด ได้แก่

     • ยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งทั้ง 2 ตัว มีตัวรับที่เต้านม การกินยาเม็ดคุมกำเนิด ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่เมื่อเป็นมะเร็งแล้ว อาจไปกระตุ้นมะเร็งที่เต้านมได้ จึงไม่ควรกินยาเม็ดคุมกำเนิด
     • ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นยากลุ่มโปรเจสเตอโรน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่า มะเร็งของคนไข้มีตัวรับโปรเจสเตอโรนไหม ถ้ามีก็ไม่ควรได้รับยากลุ่มนี้

     ดังนั้น การคุมกำเนิดที่ดีที่สุดในคนไข้มะเร็งเต้านม คือ การใส่ถุงยางอนามัยหรือห่วงคุมกำเนิด นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องการใช้สมุนไพรไทยต่างๆ เช่นกวาวเครือ ว่านชักมดลูก อีกด้วย เพราะจะทำให้ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป

พันธุกรรมกับการเป็นมะเร็งเต้านม

     สาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านมคือความผิดปกติในรหัสพันธุกรรมของยีน BRCA ซึ่งมี 2 ตัวคือ BRCA1 และ BRCA2 หน้าที่หลักคือ ซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายให้กลับสู่ปกติ เมื่อรหัสในดีเอ็นเอของยีน 2 ตัวนี้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำงานผิดปกติ ดีเอ็นเอที่เสียหายไม่ได้รับการซ่อมแซมทำให้มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งเต้านมและรังไข่สูงขึ้น
     โดยคนที่มี BRCA และเป็นมะเร็งเต้านม มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ 3% และมะเร็งปากมดลูก 10% ส่วนในคนปกติ มีความเสี่ยงประมาณ 7% ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม แต่หากตรวจพบยีน BRCA ก็จะเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านมถึง 50% คนปกติมีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งรังไข่ประมาณ 1% แต่หากตรวจพบยีน BRCA ก็จะเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งรังไข่ประมาณ 30%

ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่เกิดจากพันธุกรรม

     ในกรณีที่ตรวจพบคนเป็นมะเร็งเต้านมเพียงคนเดียว และพบตอนที่อายุมากแล้ว ส่วนใหญ่ไม่เสี่ยง คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ มีญาติพี่น้องเป็นเกิน 2-3 คนขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ด้านเต้านม หรือสูตินรีแพทย์ คนที่มียีน BRCA ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ทุกปี เพื่อตรวจหามะเร็งรังไข่ และเจาะเลือดดูค่ามะเร็ง คือ CA 125 และพิจารณาผ่าตัดเอารังไข่ออกเมื่อมีบุตรเพียงพอแล้

การตรวจหาพันธุกรรม

     ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ เจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างมาก ค่าใช้จ่ายในการตรวจยีนก็มีราคาถูกลง ซึ่งการตรวจมี 2 แบบ คือ ตรวจเฉพาะยีนที่ต้องการหา หรือตรวจหลายๆ ยีน ซึ่งหากตรวจหลายยีน ค่าใช้จ่ายก็จะสูงตามไปด้วย และผลที่ได้มา ยีนบางตัวก็ไม่สามารถระบุได้ที่ชัดเจนว่าจะทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่มากพอ ไม่เหมือนกับตัว BRCA ซึ่งมีข้อมูลรองรับ
     การเป็นมะเร็งเต้านมนั้นส่งผลต่อทางนรีเวชคือ โรคมีโอกาสกระจายมาที่รังไข่และมดลูกได้ ยาที่ใช้รักษาทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติและมีตกขาวได้ จึงควรตรวจภายในสม่ำเสมอ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจรังไข่โดยการอัลตราซาวนด์ปีละครั้งสำหรับคนโสด รวมถึงเฝ้าระวังอาการต่างๆ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องน้อย ตกขาวมีเลือดปน ใส่ใจเรื่องการใช้ยาฮอร์โมนและสมุนไพรต่างๆ
     ส่วนพันธุกรรมทำให้เกิดมะเร็งเต้านมและรังไข่ได้ ในกลุ่มคนที่เสี่ยง ควรตรวจหายีน BRCA เพื่อจะได้ติดตามอย่างสม่ำเสมอว่ามีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะได้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาได้อย่างทันท่วงที

Reference: 
https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/health/1925860