ความเป็นมาเกี่ยวกับแพทย์ประจำบ้าน

ผศ. นพ.ณัฐพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

     เมื่อภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดทำการเมื่อปี พ.ศ. 2512  ได้มีการเปิดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาสูติศาสตร์ –นรีเวชวิทยา  ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2512  ในช่วงปีแรกนั้นมีแพทย์ประจำบ้านสมัครเข้ารับการอบรมจำนวน 3 คน  โดยอยู่ภายใต้การดูแลของอาจารย์ปราโมทย์  รัตตกุล  ในช่วงแรกหลักสูตรของแพทย์ประจำบ้านยังไม่มีร่างหลักสูตรที่แน่นอน  มีเพียงบทร่างที่อาจารย์ในภาควิชาฯ ร่วมกันเขียนขึ้นมาประมาณ 2-3 หน้า ต่อมาในปีที่ 2  ไม่มีแพทย์ประจำบ้านสมัครเข้ารับการฝึกอบรม แต่ภายหลังจากนั้นเป็นต้นมาเริ่มมีแพทย์ประจำบ้านสมัครเข้ารับการฝึกอบรมในจำนวนมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ละปีไป  โดยหลังจากภายใต้การดูแลของอาจารย์ปราโมทย์ รัตตกุล แล้ว  ศาสตราจารย์แพทย์หญิงเยาวลักษณ์  ภมรประวัติ ได้เข้ามาดูแลแพทย์ประจำบ้านต่อีก  เป็นระยะเวลาหนึ่งต่อมารองศาสตราจารย์นายแพทย์สมาน ภิรมย์สวัสดิ์ ได้เข้ามาทำหน้าที่ดูแลแพทย์ประจำบ้านต่อ  หลังจากนั้นหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านจึงเริ่มมีการปรับปรุงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยมีการร่างหลักสูตรของภาควิชาฯ ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2520-2521 โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สมพล  พงศ์ไทย เป็นผู้ดำเนินการร่างหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน  ซึ่งหลักสูตรนี้ได้ถูกนำไปใช้ต่อมาในหลักสูตรของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  ซึ่งถือว่าหลักสูตรที่มีรูปแบบและมาตรฐานเป็นฉบับแรก   โดยร่างหลักสูตรนี้เรียกว่า หลักสูตรแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา  เสนอให้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทยสภา และได้รับการอนุมัติให้ผู้ที่ได้รับการอบรมตามหลักสูตรและสอบผ่านตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ได้รับวุฒิบัตรซึ่งเทียบเท่ากับปริญญาเอก ซึ่ง ก.พ. ยอมรับและพิจารณาอัตราเงินเดือนให้สูงขึ้นด้วยตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้  ผู้ผ่านการอบรมแล้วจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพอนามัยของมารดาและทารกในประเทศ  สามารถจะศึกษาก้าวหน้าและลึกซึ้งต่อไปในสาขานี้  ตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษาโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ปฏิบัติการวิจัย ศึกษาวิทยาการต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ได้  ตลอดจนจรรยาและมารยาทแห่งวิชาชีพ การฝึกอบรมใช้เวลา 3 ปี โดยจัดฝึกอบรมให้มีความรู้ มีประสบการณ์  และความสามารถเพิ่มขึ้นตามลำดับปี จากแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 ถึงปีที่ 3  เนื้อหาวิชาประกอบด้วยวิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาทั่วไป  วิชาเฉพาะโรค เป็นต้นว่า เวชศาสตร์มารดาและทารก (Maternal and Fetal Medicine)  ต่อมไร้ท่อในระบบสืบพันธุ์สตรี (Reproductive Endocrinology)  ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) และการวางแผนครอบครัว (Family Planning)

     นอกจากนี้ยังจัดการฝึกอบรมในวิชาที่เกี่ยวข้องกับทางสูติ-นรีเวช ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาควิชาและสถาบันอื่นที่รับฝึกอบรมให้แพทย์ประจำบ้านสูติ-นรีเวช เป็นต้นว่า วิชาทารกแรกเกิด (Neonatology) จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิสัญญีวิทยา (Anaesthesiology) จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา พยาธิวิทยาและเซลล์วิทยา (Pathology and Cytology)  จากภาควิชาพยาธิวิทยา ระบบทางเดินปัสสาวะ (Urology) จากภาควิชาศัลยศาสตร์  รังสีรักษาจากภาควิชารังสีวิทยาและศัลยศาสตร์ช่องท้องจากกองศัลยกรรม  โรงพยาบาลวชิระโดยมีนายแพทย์ธรรมนูญ วานิยะพงศ์ เป็นหัวหน้ากองฯ ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพอนามัยมารดาและทารก ได้จัดส่งไปหาประสบการณ์ที่ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก หรือโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค (เป็นหลักสูตรแรกของการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านในประเทศไทย ที่จัดให้แพทย์ประจำบ้านได้ไปศึกษาที่สถาบันส่วนภูมิภาคด้วย  ซึ่งขณะนี้แพทยสภาได้รับรองการฝึกอบรมในลักษณะดังกล่าว  และเรียกว่าโครงการสมทบ ภาควิชาฯ)  อนุญาตให้แพทย์ประจำบ้านเลือกสถานที่ไปศึกษาในส่วนภูมิภาคด้วยตนเองอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลพุทธชินราช  จังหวัดพิษณุโลก  ให้เป็นสถานที่ศึกษาฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2520  ในปีการศึกษา พ.ศ. 2524 จึงเปลี่ยนไปฝึกอบรมที่โรงพยาบาลมหาราชนครราสีมา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  จังหวัดนครราชสีมาแทนและมีการดูงานในโครงการนมแม่ที่โรงพยาบาลแม่และเด็กเชียงใหม่เป็นเวลา 1 เดือน ในปี พ.ศ. 2558 ได้เปลี่ยนสถานที่ไปศึกษาในส่วนภูมิภาคจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็น โรงพยาบาลบุรีรัมย์เพียงที่เดียว การฝึกอบรมทางด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ทั่วไปใช้เวลาไม่ต่ำกว่า  28 เดือน  ซึ่งต่อมาหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านนี้ได้มีการปรับปรุงโดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย อีก 2-3 ครั้ง

     ในภายหลังภาควิชาฯ ได้เพิ่มการรับสมัครแพทย์ประจำบ้านเพิ่มมากขึ้น เป็นปีละ 8-10  คนต่อปี  ทำให้มีแพทย์ประจำบ้านเข้ามาปฏิบัติงานมากขึ้นเพียงพอต่อการเรียนการสอนทั้งนักศึกษาแพทย์และแพทย์ฝึกหัด  ในช่วงแรกเราจะเรียกแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 และ 2 เป็นแพทย์ประจำบ้าน  สำหรับแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 เรียกว่าแพทย์ประจำบ้านอาวุโส ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยตามหลักสูตรที่กำหนดไว้และสอนนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ฝึกหัดตามที่ได้รับมอบหมาย  ภายหลังได้มีหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น  ทำให้แพทย์ประจำบ้านสามารถปฏิบัติงานได้ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น  และสามารถทำงานด้านอื่นๆ เช่นการทำวิจัย การเขียนรายงานผู้ป่วย หรือการทำกิจกรรมทางวิชาการด้านอื่นได้มากขึ้น เป็นต้น

     ในระยะแรกของการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน  แพทย์ประจำบ้านต้องเขียนรายงานผู้ป่วยเป็นภาษาอังกฤษ  ประกอบด้วยผู้ป่วยทางสูติกรรม 10 ราย และผู้ป่วยทางนรีเวชกรรม 10 ราย  ส่งเพื่อสอบวุฒิบัตรซึ่งเป็นงานหนักมากในช่วงแรก  หลังจากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนให้สามารถเขียนเป็นภาษาไทยได้ และลดจำนวนการเขียนรายงานผู้ป่วยลงจากด้านละ 10 ราย  เหลือ 5 ราย และ 3 รายตามลำดับ  จนปัจจุบันนี้แพทย์ประจำบ้านไม่ต้องเขียนรายงานผู้ป่วยแล้วในการประกอบการสอบวุฒิบัตร แต่เปลี่ยนเป็นการตรวจบันทึกการดูแลรักษาผู้ป่วยของแพทย์ประจำบ้านจากเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่แพทย์ประจำบ้านปฏิบัติงานอยู่ ขณะเดียวกันการสอบข้อเขียนในการสอบวุฒิบัตรนี้ยังคงมีการสอบทั้งข้อสอบอัตนัยและปรนัย  โดยข้อสอบอัตนัยนั้นได้ปรับเปลี่ยนเป็นข้อสอบการเขียนตอบอัตนัย 2 ข้อ และเป็นข้อสอบ MEQ (Multiple Essay Questions)  4 ข้อ ส่วนข้อสอบปรนัยทั้งหมด 150 ข้อ

     นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2533 ได้มีการสอบ OSCE ในการสอบวุฒิบัตรเป็นช่วงระยะเวลาประมาณ 5-6 ปี ต่อมาได้ยกเลิกการสอบ OSCE ลงเป็นการสอบซักประวัติ ตรวจร่างกายกับผู้ป่วยจริง  (OSLER) ตามสถาบันที่ทางอนุกรรมการการฝึกอบรมฯ เป็นผู้กำหนดซึ่งแพทย์ประจำบ้านจะต้องไปสอบที่สนามสอบต่างสถาบันของแพทย์ประจำบ้านที่ปฏิบัติงานอยู่  จนมาถึงปัจจุบันนี้ได้มีการนำวิธีสอบ OSCE กลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2558  นอกจากนี้ยังมีการสอบปากเปล่าโดยใช้หนังสือบันทึกการดูแลผู้ป่วยขณะที่ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่  โดยการสอบปากเปล่านี้ได้มีการยกเลิกการสอบไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 นอกจากการสอบแล้วแพทย์ประจำบ้านจะต้องทำการวิจัยในขณะฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้าน 1 เรื่องพร้อมกับการนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการประจำปีของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย  ในรูปแบบภาษาอังกฤษ ซึ่งการนำเสนอรายงานการวิจัยนี้ทำให้แพทย์ประจำบ้านจากภาควิชาฯของเราได้รางวัลการนำเสนอผลงานการวิจัยหลายคนด้วยกัน ในแต่ละปีที่มีการประกวดการนำเสนอทำให้แพทย์ประจำบ้านได้ประสบการณ์การนำเสนอผลงานการวิจัยและมีความภูมิใจ

     จะเห็นว่าการที่จะให้จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านเฉพาะทางสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา  จะต้องมีความพร้อมทั้งในด้านวิชาการ  ด้านมนุษยสัมพันธ์  และด้านจริยธรรม  ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของแพทย์ประจำบ้านที่ได้จบการฝึกอบรมและเห็นคุณค่าของการฝึกอบรมการเป็นแพทย์ประจำบ้าน นอกจากนี้ยังนำประสบการณ์การเรียนรู้ในขณะที่ทำการฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านไปเป็นพื้นฐานในการทำงานภายหลังจากจบการฝึกอบรมไปแล้ว หรือนำประสบการณ์นี้ไปทำการวิจัยต่อยอดต่อไป