สาขาวิชาอนามัยการเจริญพันธุ์

สาขาอนามัยการเจริญพันธุ์และวางแผนครอบครัวประชากร
(Reproductive Health and Family Planning)

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ  จิตต์เจริญ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ สุทัศน์วรวุฒิ

     สาขาวิชาอนามัยการเจริญพันธุ์ เดิมเรียกว่า หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์ เกิดขึ้นจากการปฏิรูปการทำงานของภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในสมัยที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ กำแหง จาตุรจินดา ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาฯ ก่อนหน้านั้นตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการให้บริการของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ ๔ ของประเทศไทย ที่ทันสมัยมากในระยะนั้น เพราะได้รับความช่วยเหลือจาก มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ มีหลักสูตรแพทยศาสตร์ที่ทันสมัยเท่าเทียมกับในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการรวบรวมอาจารย์แพทย์ที่มีความสามารถจากโรงเรียนแพทย์เดิม และจากต่างประเทศ ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยาเองเช่นกัน เริ่มจากการมีอาจารย์แพทย์ประมาณ สิบกว่าท่าน แบ่งการทำงานเป็นสองกลุ่มหรือสองสาย มีอาจารย์จำนวนเท่าๆ กัน ผลัดกันรับผิดชอบงาน สูติกรรมและนรีเวชกรรมสายละ ๖ เดือน ในระยะแรกยังไม่ค่อยมีคลินิกงานพิเศษมากนัก ต่อมาเมื่อวิชาการก้าวหน้ามากขึ้น มีการตั้งคลินิกพิเศษมากขึ้น เช่น คลินิกครรภ์เสี่ยงสูง คลินิกผู้มีบุตรยาก คลินิกต่อมไร้ท่อ คลินิกโรคมะเร็งนรีเวชและการส่องกล้องดูปากมดลูก เป็นต้น

     ต่อมาเมื่อมีอาจารย์มากขึ้นและมีความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการมากขึ้น เริ่มมีความเห็นการว่าการแบ่งงานทำงานแบบเดิมอาจจะไม่สามารถพัฒนาภาควิชาฯได้เท่าที่ควร อาจารย์ไม่สามารถไปพัฒนางานที่ชอบและสนใจมากเท่าที่ควร เช่น อาจารย์ที่สนใจมะเร็งนรีเวช ต้องไปลงคลินิกตรวจครรภ์และต้องดูแลห้องคลอด หรือตรงกันข้าม เป็นต้น จึงเกิดความคิดขึ้นในขณะนั้นว่า จะสามารถปฏิรูปการแบ่งงานในภาควิชาฯให้ดีขึ้นได้หรือไม่  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์วิทูร โอสถานนท์ ซึ่งมีความคิดกว้างไกล เสนอให้แบ่งเป็นสามงาน ให้แยกงานวางแผนครอบครัวออกมาจากสูติกรรม เพราะงานวางแผนครอบครัวระยะนั้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะต่อการพัฒนาประเทศ แต่ความคิดนี้ ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร  แนวความคิดจึงเปลี่ยนไปและได้มีการไปดูตัวอย่างในต่างประเทศซึ่งในระยะนั้นมีการตั้งสาขาวิชาย่อยกันมากแล้ว และอาจารย์แต่ละท่านมุ่งทำงานค้นคว้าวิจัยและบริการในสาขาที่ตนสนใจได้  สาขาวิชาที่สามารถแยกออกมาแน่ชัดได้แก่ สาขาวิชามะเร็งนรีเวช และสาขาวิชาวางแผนครอบครัว เหลืองานสูติกรรมและนรีเวชกรรมเดิมที่ยังต้องรับผิดชอบงานมาก ในระยะแรกจึงไม่ค่อยยอมรับการปฏิรูปกันมากนัก ในที่สุดจึงเกิดความคิดที่ให้มีงานส่วนกลางที่อาจารย์ทุกท่านต้องมีส่วนรับผิดชอบ ทำให้หน่วยมารดาและทารกปริกำเนิด หน่วยต่อมไร้ท่อและมีบุตรยากเกิดขึ้น  จึงได้เกิดเป็น ๔ หน่วยใหญ่ดังเช่นปัจจุบัน

จุดมุ่งหมาย

     จัดการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้  ความสามารถและเจตคติอันทันสมัยในวิทยาการด้านสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวประชากร  และด้านนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ รวมถึงจัดการบริการ การเรียนการสอนและดำเนินการวิจัยที่เหมาะสมต่อสภาพของสังคมไทย

รายนามคณาจารย์ภายในสาขาวิชาฯ
รายนามหัวหน้าสาขาวิชาฯ    
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุวชัย อินทรประเสริฐ  พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๔๗
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์   สุทัศน์วรวุฒิ      พ.ศ. ๒๕๔๘ – ๒๕๕๖
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สัญญา ภัทราชัย  พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ    จิตติ์เจริญ   ปัจจุบัน
     
อดีตอาจารย์    
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมาน  ภิรมย์สวัสดิ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๒๕๓๕
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุวชัย อินทรประเสริฐ   พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๔๗
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมพล     พงศ์ไทย    พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๕๒
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์พันธ์ศักดิ์   ศุกระฤกษ์     พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๓๕
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเฉลิมสีห์      ธนันตเศรษฐ  พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๕๐
อาจารย์ นายแพทย์เชิดพงษ์      สันตติ  พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๓๘
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์   ฐานีพานิชสกุล   พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๔๐
     
อาจารย์ปัจจุบัน    
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ  จิตต์เจริญ  
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประทักษ์    โอประเสริฐสวัสดิ์  
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ   สีตวาริน  
     
อาจารย์พิเศษ    
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์  สุทัศน์วรวุฒิ  
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สัญญา ภัทราชัย  
     
เจ้าหน้าที่    
นางสาวจิตตรัตน์      เดชดี    
นางสาวณัฐนันท์ ปานทอง   
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม

๑.  ด้านการศึกษา

     เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการศึกษาในหน่วยวิชานี้
     -  มีความรู้อันทันสมัย และวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งใดเหมาะสมสำหรับสังคมไทย  ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
     -  มีความสามารถในการปฏิบัติงานทางคลินิกและชุมชน  รวมทั้งการวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีให้ทันสมัย และเหมาะสมต่อสังคมไทย
     -  ตระหนักถึงความสำคัญและเป็นผู้นำและ/หรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการและ/หรือ พัฒนาวิทยาการด้านนี้  อย่างมีจริยธรรม

๒.  ด้านการบริการ

     ๒.๑  ทางคลินิก  เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการบริบาลอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา  และ/หรือการสนองต่อความต้องการ  ด้านสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์และการคุมกำเนิด ด้านนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์
     ๒.๒  ทางวิชาการ  เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง และ/หรือ สังคม
     -  มีความรู้  ความเข้าใจและเจตคติที่ดีในด้านสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวประชากร
     -  มีการพัฒนา และ/หรือ การบริหารจัดการ การดำเนินการของวิทยาการด้านนี้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

๓.  ด้านการวิจัย

     มีการค้นคว้าความรู้ และ/หรือ เทคโนโลยีใหม่ และศึกษาพัฒนาความรู้ และ/หรือ เทคโนโลยีใหม่  ในการบริหารจัดการให้เหมาะสมต่อสังคมไทย

๔.  ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

     เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีไทยอันดีงาม ประเพณีรดน้ำดำหัวอาจารย์อาวุโส เนื่องในวันสงกรานต์ งานมุทิตาจิตเนื่องในโอกาสที่อาจารย์เกษียณอายุราชการ

การดำเนินงาน

     เมื่องานวางแผนครอบครัวลดความสำคัญลง เนื่องจากประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดแล้ว ความสำคัญก็เปลี่ยนจากการคุมกำเนิดเป็นสุขภาพของประชากร และมีการประชุมนานาชาติที่เปลี่ยนการมุ่งจากการวางแผนครอบครัวเป็นสุขภาพการเจริญพันธุ์ (Reproductive Health)  หน่วยจึงเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับงานเป็น หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์

     งานอนามัยการเจริญพันธุ์มีความกว้างขวางมาก ตามที่การประชุมนานาชาติและกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้เพราะมีถึง ๑๐ กิจกรรม แต่เนื่องจากมีหน่วยมารดาและทารกปริกำเนิด และหน่วยต่อมไร้ท่อและมีบุตรยากที่รับผิดชอบงานอนามัยแม่และเด็ก และการดูแลผู้มีบุตรยากอยู่แล้ว หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์จึงมีความรับผิดชอบในงานอีก ๘ กิจกรรม บางกิจกรรมอาจจะไม่ทั้งหมดหรือเป็นบางส่วน ได้แก่

     ๑)  งานวางแผนครอบครัว
     ๒)  งานเพศศึกษา
     ๓)  งานอนามัยวัยรุ่น
     ๔)  งานการแท้งบุตร
     ๕)  งานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
     ๖)  งานโรคเอดส์
     ๗)  งานการตรวจกรองมะเร็ง
     ๘)  งานผู้สูงวัย
     

     ในการดำเนินงานเพื่อรองรับงานต่างๆดังกล่าว หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้เปิดคลินิกดำเนินงานดังนี้

     ๑)  คลินิกวางแผนครอบครัว (Family Planning Clinic)  เปิดบริการวันอังคารและพฤหัส เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ให้บริการการคุมกำเนิด และวางแผนครอบครัว

     ๒)  คลินิกตรวจคัดกรองก่อนแต่งงานและก่อนมีบุตร (Premarital and Preconception Screening Clinic) `เปิดบริการวันและ เวลาเดียวกับ คลินิกวางแผนครอบครัว นอกจากตรวจคัดกรองคู่สมรสแล้วยังให้คำปรึกษาเรื่องเพศ การวางแผนครอบครัว การแต่งงานและการมีบุตร

     ๓)  คลินิกการเจริญพันธุ์ทางเลือก (Reproductive Option Clinic) `เปิดบริการวันและเวลาเดียวกับคลินิกวางแผนครอบครัว ให้บริการดูแลให้คำปรึกษาผู้มีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ถูกล่อลวงหรือข่มขืน พร้อมคำแนะนำ ช่วยเหลือ รวมทั้งการเตรียมยกบุตรให้ผู้อื่น (adoption)  ผู้รับบริการเป็นวัยรุ่นจำนวนมาก

     ๔)  คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  (Sexaully Transmitted Infection Clinic)  ดูแลสตรีที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทุกชนิด ร่วมมือกับภาควิชาอายุรศาสตร์เกี่ยวกับการดูแลรักษาสตรีที่มีโรคเอดส์โดยเฉพาะเรื่องคุมกำเนิด เปิดบริการวันพฤหัสบดี เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.

     ๕)  คลินิกนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ (Urogynecology Clinic) แต่เดิมเปิดบริการเฉพาะวันอังคาร เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.  ปัจจุบันกำลังขยายเป็นหน่วยใหม่ และเปิดบริการทุกวันเวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ให้บริการสตรีที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่นปัสสาวะบ่อยเกิน ปัสสาวะเล็ด และปัญหาช่องคลอดหรือมดลูกหย่อน ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกัน และพบในสตรีสูงวัย

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการเจริญพันธุ์และวางแผนประชากร

     เป็นหลักสูตรผลิตมหาบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถรอบด้านในงานวางแผนครอบครัว ได้แก่ เรื่องประชากร การวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด การบริหารจัดการ การประชาสัมพันธ์ และการจัดการเชิงระบบ เป็นต้น โดยภาควิชาฯเป็นผู้จักการเรียนการสอนและบัณฑิตวิทยาลัยเป็นผู้รับรองและสนับสนุน เริ่มเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๓ มาจนทุกวันนี้ เนื่องจากเนื้อหาของหลักสูตรส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ การวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด หน่วยวางแผนครอบครัวซึ่งต่อมาคือหน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์ได้เข้าไปดำเนินงานตั้งแต่ต้น โดยการสนับสนุนของภาควิชาฯ จึงนับเป็นผลงานหนึ่งของสาขาวิชา(หน่วย)อนามัยการเจริญพันธุ์  การศึกษามีระยะเวลา ๒ ปี  นักศึกษาทุกคนจะต้องค้นคว้าวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพ ๑ เรื่อง และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์จึงจะสำเร็จการศึกษา  นับตั้งแต่เปิดโครงการนี้ขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๒๓  มีผู้เข้ารับการศึกษาทุกปีประมาณปีละ ๕-๖ คน จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มีผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตรวมทั้งสิ้น  ๑๖๘ คน

งานวิจัย

     หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์มีการวิจัยอย่างสม่ำเสมอ  นอกจากการวิจัยภาคบังคับของนักศึกษามหาบัณฑิตที่อาจารย์ในหน่วยฯรับผิดชอบดูแลทุกคน และของแพทย์ประจำบ้านที่อาจารย์ในหน่วยฯ ดูแลรับผิดชอบบางส่วนแล้ว อาจารย์ในหน่วยฯยังมีงานวิจัยกับสถาบันภายนอกเช่น กรมอนามัย บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ องค์การอนามัยโลก เป็นต้น ในเรื่องต่างๆ ของอนามัยการเจริญพันธุ์เช่น กาววิจัยยาใหม่ วัคซีนใหม่  ยายุติการตั้งครรภ์ ยาเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะของสตรี  เป็นต้น 

ผลงานดีเด่นของหน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์

๑.  หนังสือการวางแผนครอบครัวประชากรและเทคโนโลยีการคุมกำเนิด. สุวชัย อินทรประเสริฐ, บรรณาธิการ.  ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา ประจำปีการศึกษา ๒๕๓๕

๒.  ปี พ.ศ. ๒๕๔๑  The International Session prize จากการเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Teal-time ultrasonography combined with umbilical artery velocimetry as a predictor of discordant twins”  ในการประชุมวิชาการ The 50th Annual Congress of the Japan Society of Obstetrics and Gynecology.

๓.  ปี พ.ศ. ๒๕๕๑  รางวัล The International Session Award จากการเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “B-Lynch uterine compression suture for treatment of massive postpastum hemorrhage” ในการประชุมวิชาการ The 60th Annual Congress of the Japan Society of Obstetrics and Gynecology.

๔.  ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ รางวัล The John J.  Sciarra IJGO Prize Paper Award Winner 2008 เพื่อให้รางวัลแก่ Best Clinical Research Article from a Low/Middle-Income Country  โดย The International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO) จากการเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Naproxen suppository for perineal pain after vaginal delivery” ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Gynecology & Obstetrics.

๕.  ปี พ.ศ. ๒๕๕๘  หนังสือการดูแลรักษาสตรีที่มีภาวะเสื่อมของอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะ. จิตติมา มโนนัย, บรรณาธิการ.  ได้รับรางวัลชมเชย รางวัลจากโครงการตำราของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อนาคต

     ถึงแม้งานวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดจะลดความเข้มข้นลง แต่งานอนามัยการเจริญพันธุ์ยังคงเป็นงานที่ท้าทายและกว้างขวางยิ่งกว่า งานของสาขาวิชา(หน่วย)อนามัยการเจริญพันธุ์จึงยังต้องมีต่อไปและต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ของสังคม  โดยเฉพาะปัญหาในวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติในปัจจุบัน  นับเป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์ฯ ที่จะต้องพัฒนาทั้งในด้านการวิจัยและการบริบาล ในการดูแลเพื่อให้สตรีเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
     ปัญหาของหน่วยฯประการที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการขาดแคลนบุคลากรในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาอีกไม่นานนัก จะมีหน่วยใหม่เกิดขึ้นแยกออกจากหน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์ คือหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์  ทำให้อาจารย์ประจำหน่วยน้อยลง ซึ่งเป็นโจทย์ที่หน่วยอนามัยการเจริญพันธุ์ต้องปรับตัวและแก้ไขต่อไป

update 30/4/2564