ความเป็นมา

          ประวัติความเป็นมา

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นโรงพยาบาลระดับเหนือกว่าตติยภูมิ (Supratirtiary) จึงมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก เทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยในการรักษาส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ มีอายุยืนยาวขึ้น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายจึงมีจานวนเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพของโรคในระยะสุดท้ายมักก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมายที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม จิตวิญญาณ รวมไปถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาจริยธรรมทางการแพทย์ (Ethical Dilemmas) ด้วย เช่น การยื้อความตายในวาระสุดท้ายของชีวิตโดยการปั๊มหัวใจ การใส่ท่อช่วยหายใจ อันเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วย/ครอบครัวและก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลช่วยเหลือแบบประคับประคอง อย่างองค์รวม (Holistic approach) และมีความต่อเนื่อง (Continuous caring) ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แนวทางการช่วยเหลือมักมุ่งเน้นการลดความทุกข์ทรมานทางกาย เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล  เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและครอบครัว ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ สร้างเสริมองค์ความรู้และทักษะการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยให้แก่ญาติ/ผู้ดูแล รวมถึงการช่วยให้ญาติสามารถปรับตัวในการเผชิญการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  

 ในปี พ.ศ.2552 ที่ประชุมคณะกรรมการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในขณะนั้น มีมติให้มีการจัดทำโครงการ “ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง” ขึ้น  โดยมีการพัฒนากระบวนการบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้ผู้ป่วยที่ควรได้รับการดูแล สามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายและสะดวก ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบบูรณาการจากทีมสหสาขา ด้วยขั้นตอนการบริการที่กระชับรวดเร็ว โดยใช้หลักการของ Lean Operation ส่งผลให้ “ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง” ได้รับรางวัลการบริการจาก สมาคมอุตสาหกรรมและ รางวัล กพร.ใน ปี 2553  จากนั้นจากนั้นคณะฯ จึงได้อนุมัติงบประมาณให้จัดตั้งศูนย์ฯที่มีแพทย์และบุคลากรประจำศูนย์ฯ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

 ในปี พ.ศ.2559 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เห็นควรให้เปลี่ยนชื่อ จากศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care Center : PCC) มาเป็น “ศูนย์รามาธิบดีอภิบาล (Ramathibodi Palliative care Center : RPC)”

 

เป้าหมาย :

เกิดกระบวนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยและญาติ

 

วัตถุประสงค์:

                1. พัฒนากระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แบบบูรณาการของทีมสหสาขา เพื่อก้าวสู่การเป็นต้นแบบ การดูแลแบบประคับประคองระดับประเทศ (Best practice)

                2. พัฒนาและฝึกอบรมองค์ความรู้ด้านการดูแลแบบประคับประคอง

                3. พัฒนาและสร้างงานวิจัยด้านการดูแลแบบประคับประคอง

 

ผลลัพธ์คาดหวังจากการดำเนินการของโครงการ (Expected Operation Outcome)

1. ผลลัพธ์คาดหวังต่อผู้ป่วยและญาติ :

          ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการได้สะดวก รวดเร็ว ผู้ป่วยบรรเทาความทุกข์ทรมาน ทางร่างกาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความความเข้าใจต่อการเจ็บป่วย การตาย

วิธีการประเมินและตัวชี้วัด :

          คะแนนความปวด คะแนนคุณภาพชีวิต อัตราความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อกระบวนการดูแล อัตราการตายดี จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการบริการต่อปี

 

2. ผลลัพธ์คาดหวังต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทั้งกลุ่มบุคลากรการแพทย์ จิตอาสา :

          เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจต่อการดูแลแบบประคับประคอง สามารถนำองค์ความรู้ไป พัฒนากระบวนการดูแลแบบประคับประคอง ณ สถาบันต้นสังกัดได้ สาหรับจิตอาสา มีความระดับความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังการอบรม

วิธีการประเมินและตัวชี้วัด :

          ระดับความรู้ ความมั่นใจก่อนและหลังการฝึกอบรม จำนวนศูนย์ หรือทีมดูแลแบบประคับประคองที่เกิดขึ้น หลังจากการเข้าอบรม

 

3. ผลลัพธ์คาดหวังต่อบุคลากร คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี :

          บุคลากรกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ แพทย์ พยาบาล บุคลากร เภสัชกร มีความรู้ความเข้าใจต่อการดูแล การบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยและญาติเพิ่มขึ้นกว่าก่อนรับการอบรม

วิธีการประเมินและตัวชี้วัด :

          คะแนนความรู้ก่อนและหลังการฝึกอบรม ความพึงพอใจต่อการฝึกอบรม

 

4. ผลลัพธ์คาดหวังต่อคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี :

          คณะฯ มีกระบวนการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่สอดคล้องกับบริบทของคณะฯ สามารถเป็นต้นแบบการดูแลแบบประคับประคองให้กับสถานพยาบาลอื่น เกิดงานวิจัยด้านการดูแลแบบประคับประคอง สื่อสาธารณะ คู่มือ สาหรับ ผู้ป่วย ญาติ บุคลากรทางการแพทย์ และจิตอาสา

วิธีการประเมินและตัวชี้วัด :

          จำนวนหน่วยงานที่มาศึกษาดูงาน การได้รับการรับรองคุณภาพกระบวนการดูแลแบบประคับประคองโดยหน่วยงาน ภายนอก เช่น สรพ. จำนวนงานวิจัยด้านการดูแลแบบประคับประคอง จำนวนสื่อที่ผลิตต่อปี และความพึงพอใจของผู้ใช้ประโยชน์จากสื่อ

 

5. ผลลัพธ์คาดหวังต่อหน่วยงานภายนอก :

          เกิดภาคีเครือข่าย ความร่วมมือ กับหน่วยงานภายนอก เช่น กระทรวงสาธารณสุข สปสช. สสส โรงพยาบาลอื่นๆ

วิธีการประเมินและตัวชี้วัด :

          จำนวนโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายต่อปี