มือชาปากเบี้ยวลิ้นแข็งเกิดจากอะไรกันแน่

“คุณคะ ฉันเป็นอะไรก็ไม่รู้ ทําไมมือมันชาๆ” เสียงเรียกจากภรรยาที่แฝงเร้นไปด้วยความกังวล ในขณะที่กําลังรับประทานอาหารเย็นกับสามี สามีสังเกตเห็นว่า นอกจากภรรยาจะกังวลกับมือที่ชาอยู่นั้น บริเวณริมฝีปากด้านเดียวกันกับมือที่ชาก็เบี้ยวผิดรูปไป ภรรยาพยายามดื่มน้ําจากแก้วน้ํา ซึ่งตามปกติแล้วไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ก็เป็นไปด้วยความยากลําบาก และมีน้ําไหลเลอะออกทางริมฝีปากด้านขวาจนเปียกไปที่เสื้อของเธอ จนทําให้เธอรู้สึกอาย

เหตุการณ์ข้างต้นเป็นเหตุการณ์จริง ที่เราๆ ท่านๆ ได้ทราบจากหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับดารานักแสดงชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ เธอได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคเลือดออกในสมอง” ซึ่งในที่สุดอาการของเธอผู้นี้ก็กลับสู่ปกติ

โรคเลือดออกในสมอง หรือ Spontaneous Intracerebral Hemorrhage เป็นโรคเลือดออกในเนื้อสมอง เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดแดงในสมอง ส่วนใหญ่เกิดจากการฉีกขาดของหลอดเลือดฝอย อาจพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคลม (Stroke) ร้อยละ 10-15

เส้นเลือดฝอยในสมองเป็นโครงสร้างที่อ่อนแอในสมองมนุษย์ จากการศึกษาโครงสร้างกายวิภาคของสมองมนุษย์ พบว่าในธรรมชาติแล้ว เส้นเลือดฝอยในสมองมีขนาดเล็กเท่าเส้นผมมนุษย์ และแยกตัวออกจากเส้นเลือดขนาดใหญ่ โดยลดขนาดมาเรื่อยๆ เพื่อเข้าไปเลี้ยงสมอง ความต่างของขนาดหลอดเลือดนี้ ที่จริงก็เป็นกลไกทางธรรมชาติที่จะนําเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงสมอง

อย่างไรก็ดี โครงสร้างนี้ก็เป็นจุดอ่อน เพราะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นเลือดฝอยที่เล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นเลือดหลัก ทําให้เมื่อมีความดันเลือดที่แตกต่าง ประกอบกับการสูญเสียความยืดหยุ่นของเส้นเลือดฝอยจากภาวะสูงอายุ หรือการมีไขมันในเลือดสูง ทําให้มีโอกาสในการแตกของเส้นเลือดฝอยในสมองส่งผลให้ระบบสั่งการในสมองเสียหาย และเกิดภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบนใบหน้า ทําให้ปากเบี้ยว เกิดภาวะอ่อนแรง ของกล้ามเนื้อการกลืน ทําให้สําลัก เกิดภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและขาทําให้เป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต ซึ่งภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั้งหมดนี้จะเกิดด้านในด้านตรงข้ามกับด้านของสมองที่มีเลือดออก เช่น ถ้ามีเลือดออกในสมองด้านซ้าย จะเกิดภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อด้านขวา เป็นต้น

ในกรณีที่มีเลือดออกในสมองในปริมาณน้อย การใช้ยาควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป ร่วมกับรักษาภาวะผิดปกติจากโรคประจําตัวอื่นๆ และให้ผู้ป่วยได้พัก ก็ไม่จําเป็นต้องทําการผ่าตัดสมอง ผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นปกติได้ โดยร่างกายจะดูดซึมเลือดที่ออกได้เอง

ภายหลังการรักษาผู้ป่วยอาจยังมีอาการอ่อนแรงบริเวณแขนและขา เนื่องจากการเสียหายของเนื้อสมอง การออกกําลังกายและทํากายภาพบําบัดจะช่วยลดการเสื่อมสลายของกล้ามเนื้อ และเป็นการกระตุ้นให้แขนและขากลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

ในกรณีที่มีเลือดออกในสมองปริมาณมาก จะรักษาด้วยการใช้ยาควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป ร่วมกับรักษาภาวะผิดปกติจากโรคประจําตัวอื่นๆ และแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดสมอง ซึ่งการผ่าตัดอาจช่วยผู้ป่วยไม่ให้เสียชีวิต แต่มิได้แก้ไขความพิการที่เกิดจากความเสียหายในเนื้อสมอง เพราะก้อนเลือดฉีกขาด

กล่าวโดยสรุป โรคเลือดออกในสมองเป็นโรคอันตราย ทําให้เกิดความพิการ หรือเสียชีวิตได้ ลักษณะธรรมชาติของโรคนี้จะเกิดอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดอาจไม่มีโอกาสทราบล่วงหน้า โดยผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท แขนและขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง มุมปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ความดันโลหิตมักสูงผิดปกติ การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จะช่วยเสริมความรุนแรงของโรค ดังนั้น จึงควรหมั่นตรวจร่างกายอย่างสม่ําเสมอ และหากมีอาการที่สงสัย หรือผิดปกติ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษาก่อนอาการจะลุกลามและรักษาได้ยากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.สรยุทธ ชํานาญเวช ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล