การวินิจฉัยผู้ป่วยได้รับสารพิษ

 

          ในปัจจุบันภาวะได้รับสารพิษพบบ่อย และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในกรุงเทพฯ สารหรือยาพิษที่ใช้มักจะเป็นสารที่หาได้ง่าย เช่น ยานอนหลับ และยาฆ่าแมลงไบกอน ส่วนในต่างจังหวัดนั้นมักจะเป็นสารที่ใช้ในการเกษตร เช่น สารเคมีกำจัดแมลง parathion หรือสารเคมีกำจัดวัชพืช paraquat เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจจะพบภาวะเป็นพิษจากการใช้ยาที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่น สมุนไพรต่างๆ
 
     แพทย์โดยทั่วไปบางครั้งรักษาผู้ป่วยสารพิษไม่ถูกต้อง เช่น ไม่ให้ยากระตุ้นให้ ผู้ป่วยอาเจียนแต่จะล้างท้องเลยซึ่งมีอันตรายมากกว่า หรือไม่ให้ activated charcoal ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการดูดซึมสารพิษ หรือให้น้ำเกลือและฉีดยาขับปัสสาวะโดยไม่จำเป็น หรือให้ยาต้านพิษมากเกินไป เป็นต้น
 
การวินิจฉัย
1. การซักประวัติ จะช่วยในการวินิจฉัยได้มาก ในบางครั้งกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึก ตัวหรืออยู่ในสภาพไม่อยากตอบคำถามจะต้องซักข้อมูลต่างๆ จากผู้ที่นำผู้ป่วยมาส่งให้ได้เช่น
 
1.1 ใคร ? (Who ?) หมายความว่า ผู้ป่วยเป็นใคร ซึ่งรวมถึงอายุ โรคที่เคยเป็นรวมทั้งโรคจิตประสาท ยาที่รับประทานเป็นประจำ มีผู้อื่นที่มีอาการแบบเดียวกันหรือไม่ ถ้ามีผู้ป่วยเป็นพร้อมๆกันหลายคนมักแสดงว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
1.2 อะไร ? (What ?) หมายถึงสารพิษอะไร ส่วนใหญ่มักจะได้ข้อมูลการสอบถามผู้ป่วยว่า รับประทานยาหรือสารพิษอะไรเข้าไป อย่างไรก็ดี บางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่ทราบชื่อของสารเคมีนั้น การซักถามถึงลักษณะของสารและภาชนะที่บรรจุอาจจะช่วยในการวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยบอกว่ารับประทาน
สารเคมีกำจัดหนู สารเคมีกำจัดหนูที่หาได้ตามท้องตลาดมีด้วยกัน 3 ชนิดคือ ชนิดที่เป็นผงละเอียดสีดำเป็นสาร zinc phosphide ชนิดที่เป็นผงหยาบสีฟ้าหรือแท่งสีชมพูเป็นสารกันเลือดแข็งตัวจำพวก warfarin และชนิดที่เป็นเม็ดข้าวสารสีบานเย็นเป็นสาร thallium sulphate ถ้าเป็นชนิดน้ำสีน้ำเงินเข้มเป็นสาร fluoroacetate เป็นต้น
สารเคมีกำจัดแมลง ที่ใช้ตามบ้านเช่น ไบกอนสีเขียวจะประกอบด้วยสาร carbamate 2% และ organophosphates 0.5%
สารเคมีกำจัดวัชพืช paraquat จะเป็นสารละลายเหลวสีน้ำเงิน
ถ้าผู้ป่วยหรือผู้นำส่งโรงพยาบาลไม่สามารถที่จะบอกชนิดของสารพิษได้นั้น จะต้องถามถึงภาชนะที่บรรจุ ซึ่งอาจจะมีสารพิษที่เหลือหรือฉลากปิดภาชนะที่อาจจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้
1.3 ที่ไหน ? (Where ?) หมายถึงสถานที่ที่พบผู้ป่วย เช่น ถ้าพบผู้ป่วยหมดสติตามข้างถนนหรือสวนสาธารณะ สาเหตุอาจจะเป็นจากเมาเหล้า หรือได้รับเฮโรอินเกินขนาด ผู้ป่วยที่หมดสติในบ้านมักจะเกิดจากยานอนหลับ
1.4 เมื่อไร ? (When ?) หมายความว่าผู้ป่วยได้รับสารพิษเมื่อไร และเริ่มมีอาการเมื่อไร อาการเริ่มเป็นเร็วแค่ไหน จะช่วยแพทย์ตัดสินใจว่าเป็นสารพิษอะไร จะทำการล้างท้องไหม และบอกถึงการดำเนินโรคหรือการพยากรณ์โรคได้
1.5 อย่างไร ?(How ?) หมายความว่า ได้รับสารพิษเท่าไรและอย่างไร ผู้ป่วยอาเจียนหรือไม่ (ถ้าอาเจียนจะบ่งว่าปริมาณสารพิษที่ได้น่าจะน้อยกว่าที่รับประทานเ ข้าไป)
สารพิษอาจจะเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางการหายใจ ทางผิวหนัง หรือทางปากแล้วดูดซึมผ่านทางเดินอาหาร โดยทั่วไปสารพิษเข้าทางใด มักจะทำให้มีอาการที่ผิดปกติในบริเวณนั้นก่อนเช่น สาร organophosphates ที่ซึมผ่านทางผิวหนังจะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณนั้นก่อน หลังจากนั้นอาการแสดงของพิษจึงจะปรากฏตามอวัยวะอื่นทั่วร่างกาย นอกจากนี้ปริมาณการดูดซึมของสารพิษผ่านผิวหนัง ทางเดินหายใจ หรือ ทางเดินอาหารก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นปริมาณของสารพิษขนาดเดียวกันอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงไม่เหมือนกัน และความรุนแรงของสารพิษนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของสารที่ได้รับเข้าไป
1.6 ทำไม ? (Why ?) หลังจากที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวหรืออาการดีขึ้นแล้ว แพทย์จะต้องถามคำถามว่า ทำไมถึงโดนสารพิษ เพราะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก ในการที่จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารพิษ โดยทั่วไปแล้วสามารถที่จะแยกสาเหตุของการได้รับสารพิษออกเป็น 4 ประการคือ
 
  i. อุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดในเด็กที่อาจจะหยิบฉวย และรับประทานสารพิษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้ยังอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ที่รับประทานสารพิษเข้าไปโดยคิดว่าเป็นของที่รับประทานได้ เนื่องจากสีของสารนั้นๆ คล้ายกันเช่น สีของสารเคมีกำจัดวัชพืช paraquat เหมือนกับเครื่องดื่มโคคาโคล่า เป็นต้น การป้องกันจะต้องเก็บสารพิษให้อยู่ในที่มิดชิด และต้องมีฉลากยาปิดเพื่อชี้ให้ทราบว่าเป็นสารอันตราย และไม่ควรเก็บสารพิษปะปนกับของที่อยู่ใกล้ตัว เป็นต้น
  ii. การฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยอาจจะมีประวัติรับประทานสารพิษหลายครั้ง มักจะพบได้ในผู้ใหญ่บ่อยกว่าเด็ก โดยเฉพาะในผู้หญิงอายุระหว่าง 20-40 ปี ผู้ป่วย ในกลุ่มนี้ควรจะได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์อย่างละเอียด เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นอีก
  iii. การใช้ยาของแพทย์ มียาหลายประเภทที่อาจจะทำให้เกิดอาการเป็นพิษได้โดยง่าย โดยเฉพาะยาที่มีดัชนีความปลอดภัยค่อนข้างแคบเช่น digoxin, theophylline, aminoglycosides และ phenytoin การใช้ยาในกลุ่มนี้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวน้อย มีภาวะไตวาย หรือตับทำงานไม่เต็มที่ การให้ขนาดของยาจึงควรจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน นอกจากนี้ถ้าสามารถที่จะวัดระดับของยาในเลือดได้ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากอาการข้างเคียงของยาได้
  iv. อาชีพ อาชีพหลายอย่างอาจจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับสารพิษตลอดเวลาเช่น คนงานโรงงานแบตเตอรี่ป่วยด้วยโรคพิษสารตะกั่วได้บ่อย จึงควรพิจารณาหาทางป้องกันโดยการติดตามวัดระดับตะกั่วในเลือด ถ้าระดับสูงกว่าปกติมากก็ควรจะให้ พักงานที่ทำเป็นระยะ เป็นต้น

2. การตรวจร่างกาย ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษมักจะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน การตรวจร่างกายในขั้นแรกควรจะเน้นการตรวจอุณหภูมิของร่างกาย ระบบหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบประสาท เพื่อที่จะได้ให้การรักษาและประคองให้ผู้ป่วยผ่านภาวะวิกฤติไปก่อน หลังจากนั้นจึงจะตรวจร่างกายโดยทั่วไป การตรวจร่างกายอาจจะช่วยในการวินิจฉัยประเภทของสารพิษ อาการที่ผู้ป่วยบอกหรืออาการแสดงที่ตรวจพบแต่ละอย่างนั้น อาจจะช่วยบอกถึงการวินิจฉัยโรคได้

 
2.1 อุณหภูมิร่างกาย ไข้อาจเกิดจากยาที่มีฤทธิ์ anticholinergicเช่น atropine, tricyclic antidepressants, phenothiazines และยา salicylate อาจจะทำให้มีไข้ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่หมดสติสาเหตุของไข้มักจะเกิดจาก aspiration pneumonitis ส่วนอุณหภูมิของร่างกายที่ต่ำอาจเกิดจากยาที่กดประสาทส่วนกลาง เป็นต้น (ตารางที่ 1 และ 2)
 
2.2 ชีพจร ชีพจรที่เต้นช้าอาจจะเกิดจากสารเคมีกำจัดแมลง organophosphates หรือยา B-blockers ส่วนชีพจรที่เต้นเร็วเกิดจากยาที่มีฤทธิ์ anticholinergic ดังที่กล่าวมาแล้วหรือยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท sympathetic เป็นต้น ในรายที่ได้รับสารพิษมากหรือสารพิษบางชนิดอาจมีพิษต่อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้น ผิดปกติได้ (ตารางที่ 3 และ 4)
 
2.3 ความดันเลือด ยาหรือสารพิษอาจจะทำให้ความดันโลหิตต่ำได้แก่ ยาลดความดัน ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น benzodiazepine, barbiturate ส่วนยาที่ทำให้ความดันสูงได้แก่ ยาที่กระตุ้นสมองเช่น amphetamine นอกจากนี้ยังมียากลุ่ม sympathomimetic และยา anticholinergic (ตารางที่ 5 และ 6)
 
2.4 การหายใจ การหายใจเร็วอาจเกิดจากยาที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางโดยตรง เช่น salicylate หรือ theophylline หรือจากภาวะร่างกายเป็นกรด (การหายใจแบบ kussmaul) เช่น พิษของ methanol หรืออาจจะหายใจเร็วและลำบากจากน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจเกิดจากเฮโรอิน, น้ำมันก๊าด (kerosene) และแก๊ส phosphine ที่เกิดจากยาเบื่อหนู zinc phosphide นอกจากนี้ผู้ป่วยที่โดนสารพิษและหมดสติอาจเกิด aspiration pneumonia และการติดเชื้อทำให้หายใจเร็วได้ ส่วนการหายใจช้าเกิดจากยากลุ่มฝิ่น (opiate) หรือยานอนหลับที่ไปกดศูนย์หายใจในสมอง (ตารางที่ 7) ยาและสารพิษบางตัวอาจทำให้เกิด bronchospasm (ตารางที่ 8) หรือทำให้เกิด hypoxia (ตารางที่ 9)
 
2.5 กลิ่น มีประโยชน์มากในผู้ป่วยสารพิษ กลิ่นที่รู้จักกันดีคือ กลิ่นเหล้าในผู้ป่วยที่เมาเหล้า ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษที่เป็นสารละลายมักจะมีกลิ่น เช่น กลิ่นน้ำมันก๊าดหรือกลิ่นหอมของผลไม้ที่เกิดจาก acetone ที่ออกมาทางลมหายใจ หรือกลิ่น bitter almond พิษจากสาร cyanide เป็นต้น (ตารางที่ 10)
 
2.6 การตรวจผิวหนัง ควรตรวจหารอยเข็มฉีดยา ซึ่งพบในผู้ป่วยที่ติดเฮโรอิน หรือรอยแผลเป็นบริเวณข้อมือซึ่งพบได้บ่อยในคนไข้ที่มีความผิดปกติทางจิต และเคยฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยที่หมดสติจากยานอนหลับนานๆ หรือได้รับแก๊ส carbon monoxide อาจจะทำให้เกิดลักษณะ bullae บนผิวหนังที่ถูกกดหรือทับไว้ (ตารางที่ 11) ถ้ามีรอยเขียวจ้ำเลือดให้นึกถึงยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น warfarin หรือ salicylate หากมีเหงื่อออกมากอาจเกิดจากสารที่กระตุ้นสมองเช่น amphetamine
การสังเกตสีของผิวหนังก็จะช่วยในการวินิจฉัยชนิดของสารพิษได้ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจนเกินขนาดมากๆ อาจจะมีภาวะช็อคทำให้ปลายมือปลายเท้าเขียว แต่ถ้าเขียวทั้งตัวอาจจะเกิดจากภาวะขาดออกซิเจน หรือพบในผู้ป่วยที่เป็น methemoglobinemia ซึ่งอาจเกิดจากสารหลายชนิดเช่น สารประกอบ nitrites, ยาในกลุ่ม ซัลฟา, สีที่ทำ จาก aniline, ยาชาเฉพาะที่ เป็นต้น ถ้าพบสีผิวหนังแดงเข้มให้นึกถึง พิษของ carbon monoxide หรือถ้าสีแดงเรื่อๆ ให้นึกถึงพิษของยาในกลุ่ม anticholinergic, alcohol หรือ cyanide เป็นต้น ถ้าเหลืองแบบดีซ่านอาจเกิดจากพิษต่อตับจากสารเช่น acetaminophen และ paraquat เป็นต้น (ตารางที่ 12)
เล็บของผู้ป่วยที่เป็นพิษจาก thallium และ arsenic จะมีแถบขวางสีขาวโดยเฉพาะ thallium จะทำให้ผู้ป่วยผมร่วงจนศีรษะล้านได้ (ตารางที่ 13)
 
2.7 การตรวจปาก ยาในกลุ่ม anticholinergic จะทำให้ปากแห้ง ส่วนสาร organophosphorus จะทำให้น้ำลายไหลมาก สารพิษจากโลหะหนักจะทำให้มีสีดำบริเวณเหงือกที่ใกล้กับฟันเช่น ตะกั่ว สารหนู เป็นต้น นอกจากนี้ควรดูลักษณะของเยื่อบุปากเพราะมีสารหลายชนิดที่ทำลายเยื่อบุทำให้เป็นแผลหรือฝ้าขาว เช่น กรด ด่าง หรือสารระคายเคืองอื่นๆ เช่น paraquat (ตารางที่ 14)
 
2.8 การตรวจระบบประสาท ความผิดปกติของระบบประสาทอาจบอกชนิดของสารพิษได้(ตารางที่ 15-19) เช่น
ขนาดของรูม่านตา ถ้ารูม่านตาเล็กเท่าหัวเข็มมักเกิดจากยาในกลุ่ม opiates, organophosphorus, และ phenothiazines อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นต้อหินและใช้ยาหยอดตา pilocarpine รูม่านตาก็เล็กได้ นอกจากนี้โรคบางอย่างของสมองเช่น ภาวะเลือดออกที่ Pons ก็อาจจะทำให้รูม่านตาเล็กแบบเดียวกัน ส่วนรูม่านตาที่ขยายมักจะเกิดจากยาที่ไปกระตุ้นระบบสมองส่วนกลางเช่น amphetamine ยาที่มีฤทธิ์ anticholinergic เช่น atropine,tricyclic antidepressants นอกจากที่กล่าวมาแล้วภาวะรูม่านตาขยายพบได้บ่อย ในผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษแล้วขาดออกซิเจน (ตารางที่ 20) อาการทางตาแบบ nystagmus เกิดจากฤทธิ์ของ phenytoin ในผู้ป่วยที่หมดสติจากยานอนหลับ ถ้าทำ caloric testing โดยการใช้น้ำเย็นกรอกหู จะทำให้ตามองลงข้างล่างซึ่งเป็นอาการเฉพาะ อาการกระตุกของกล้ามเนื้อเล็กๆ หรือ คล้ายอาการหนาวสั่นเกิดจากพิษของ organophosphates นอกจากนี้ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งจะมีอาการจำเพาะกลุ่มอาการของระบบประสาทอัตโนมัติที่พบได้บ่อยๆ ในยาหรือสารพิษหลายๆ ชนิดคือ อาการหมดสติ อาการชัก และอาการเอะอะ โวยวาย เป็นต้น
2.9 การตรวจทางระบบปัสสาวะ สารพิษบางตัวทำให้เกิดพิษต่อไต ทำให้ไตวาย (ตารางที่ 21) นอกจากนี้ยังมีสารเคมีหรือยาอีกหลายตัวที่ได้รับเข้าไปแล้วจะมีสีของปัสสาวะเฉพาะ ที่รู้จักกันดีคือ methylene blue ซึ่งอยู่ในยากลางบ้านรักษาอาการปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง โดยการปรับเปลี่ยน pH ของปัสสาวะ ถ้ารับประทาน เข้าไปแล้วจะทำให้ปัสสาวะมีสีเขียวน้ำเงิน (ตารางที่ 22)
 
2.10 ยาและสารพิษบางตัวทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ระบบต่างๆ กัน (ตารางที่ 23)
 
2.11 ผู้ป่วยที่ได้รับยา sedative hypnotics ขนาดมาก จนทำให้หมดสติเป็นเวลานาน หรือได้รับสารพิษบางตัวที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อโดยตรง หรือยาที่กระตุ้นให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะ rhabdomyolysis (ตารางที่ 24) โดยทั่วไปพบได้ไม่น้อย มักจะไม่มีอาการอะไรเด่นชัด ยกเว้นปวดกล้ามเนื้อ ถ้าเป็นมากอาจจะทำให้ไตวายได้ ดังนั้นการเจาะเลือดหา muscle enzymes จึงมีความสำคัญในการวินิจฉัย
 
3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยภาวะได้รับสารพิษเช่น
3.1 การตรวจ electrolyte โดยปกติ anion gap คือ Na-(Cl + HCO3) จะเท่ากับ 12 + 2 mEq ถ้า anion gap สูงหมายถึงภาวะเลือดเป็นกรดมากผิดปกติ อาจจะพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นพิษจาก methanol, ethylene glycol, paraldehyde และ aspirin เป็นต้น ถ้า anion gap แคบหรือติดลบพบใน ผู้ป่วยเป็นพิษจาก bromide เพราะว่าสาร bromide ทำให้การวัดระดับ chloride ในเลือดสูงกว่าความเป็นจริง (ตารางที่ 25)
 
3.2 การหา osmolality ในเลือดที่คำนวณจากสูตร 2 Na+glucose/ 18 + BUN/2.8 จะบอกถึงค่า osmolality ที่ควรจะเป็นส่วนการวัด osmolality โดยใช้วิธี freezing point เป็นค่า osmolality จริงๆ โดยปกติจะมีความแตกต่างกันประมาณ 10 mOSm/L ถ้าค่า osmolality ที่วัดได้สูงกว่าที่คำนวณได้มากกว่านี้ แสดงว่าในร่างกายมีสารที่มีขนาดโมเลกุลเล็ก และมีผลต่อ osmolality ได้เช่น methanol, ethanol, isopropanol และ ethylene glycol (ตารางที่ 26)
 
3.3 การถ่ายเอ็กซเรย์ช่องท้องอาจช่วยในการวินิจฉัยได้ มียาหลายชนิดที่ทึบแสงเช่น phenothiazine, โลหะหนักเช่น ตะกั่ว ยาที่มี Na หรือ potassium ผสม ในกรณีที่เห็นเม็ดยาแพทย์ก็สามารถประมาณขนาดสารพิษได้จากจำนวนเม็ดยา และสามารถบอกถึงตำแหน่งของสารพิษนั้นๆ ได้ (การถ่ายเอ็กซเรย์ช่องท้องควรจะกระทำภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยาเพราะหลังจากนั้นยาส่วนใหญ่จะสลายตัวและเห็นยาก) (ตารางที่ 27)
 
3.4 การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อาจจะช่วยวินิจฉัยสารพิษได้ เช่น ยาที่จะทำให้มีระยะ QT ยาวขึ้น มีความผิดปกติของ T wave และหัวใจเต้นผิดปกติ ได้แก่ tricyclic antidepressants, phenothiazines, emetine, quinine และยา antiarrhythmic เช่น quinidine และ procainamide เป็นต้น (ตารางที่ 28 และ 29)
 
3.5 การตรวจสารพิษในห้องปฏิบัติการ ส่วนใหญ่เป็นการตรวจที่ซับซ้อนยุ่งยากและต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น spectrophotometry, immunoassay และ chromatography เป็นต้น วิธีการทางเคมีง่ายๆ ที่ทดสอบโดยการดูสีซึ่งอาจจะตรวจข้างเตียงผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วก็กำลังมีใช้กันเพิ่มขึ้น
ในการวินิจฉัยภาวะได้รับสารพิษนั้น จะต้องรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และข้อมูลทางห้องปฏิบัติการทั่วไป และการวิเคราะห์ยาและสารพิษในน้ำหรือเนื้อเยื่อของร่างกาย บางครั้งบางคราวที่ข้อมูลไม่ครบหรือยังต้องรอข้อมูลใหม่ แพทย์จำเป็นที่จะต้องให้การวินิจฉัยเพื่อที่จะเริ่มให้การรักษาต่อไป การวินิจฉัยนั้นมักจะใช้กลุ่มอาการแสดงที่เฉพาะของสารพิษนั้นๆ (toxic syndromes) (ตารางที่ 30)
          นอกจากนี้ยังมียาหรือสารพิษหลายตัวที่ออกฤทธิ์ช้า ทำให้อาการแสดงของโรคเนิ่นนานออกไป (ตารางที่ 31) ยาในกลุ่มนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากในระยะแรกที่ผู้ป่วยมาหาแพทย์นั้น อาจจะไม่มีอาการอะไรเลยเช่น ภาวะ paracetamol เป็นพิษ ถ้าแพทย์ไม่ทราบแล้วปล่อยให้คนไข้กลับบ้านโดยไม่ได้รับการรักษา อาจจะทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ แต่ถ้าให้ยาต้านพิษทันก็สามารถป้องกันอาการเป็นพิษต่อตับของยานี้ได้
 
เอกสารอ้างอิง
  1. สมิง เก่าเจริญ. การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยสารพิษ. แพทยสภาสาร 2528; 14: 49-58.
  2. Done AK. Solving the poison puzzle. Emerg Med 1979; 11: 243-62.
  3. Glasser L, Sternglanz PD, Combie J, et al. Serum osmolality and its applicability to drug overdose. Am J Clin Pathol 1973; 60: 695-699.
  4. Gold Frank L, Starke CL. Metabolic acidosis in the alcoholics. Hosp Physician 1979; 4: 34-8.
  5. Handy CA. Radiopacity of oral nonliquid medications. Diag Radiol 1971; 98: 525-33.
  6. Henry J, Volans G. ABC of poisoning : diagnosis. Br Med J 1984; 289: 172-4.
  7. Mandy S, Ackerman AB. Characteristic traumatic skin lesions in drug-induced coma. JAMA 1970; 213: 253-6.
 
ตารางอาการแสดงแยกโรคได้ปรับปรุงและเรียบเรียงจากหนังสือดังต่อไปนี้
  • Ellenhorn MJ, Barceloux DG. Medical toxicology : diagnosis and treatment of human poisoning. New York : Elsevier science publishing company, 1988.
  • Olson KR. A LANGE clinical manual : poisoning & drug overdose. 1sted. United States : Appleton & Lange, 1990.