พิษจากสารที่ทำให้เกิดการผุกร่อน

 

พิษจากสารที่ทำให้เกิดการผุกร่อน

   

สารที่ทำให้เกิดการผุกร่อน (corrosive agents) ได้แก่สารประเภทกรด ด่าง หรือ hydrocarbon บางชนิดเมื่อทำปฏิกิริยาแล้วจะปลดปล่อยพลังงานออกมา มักจะมีฤทธิ์ทำให้เกิดการระคายเคืองและกัดกร่อนต่อเนื้อเยื่อต่างๆ การได้รับสารเหล่านี้มักทำให้เกิดภยันอันตรายเฉพาะที่แก่เยื่อบุและบริเวณรอบๆ ในสารบางชนิดอาจจะมีผลทาง systemic ร่วมด้วยได้

พิษจลนศาสตร์และฤทธิ์วิทยา สารที่เป็นกรดเมื่อถูกเนื้อเยื่อจะทำให้เกิดการทำลายแบบ coagulation necrosis ซึ่งมักจะจำกัดขอบเขตของการได้รับภยันอันตรายด้วยตนเอง ต่างกับสารพวกด่างปฏิกิริยาการทำลายเป็นแบบ Iiquefactive necrosis เกิดมี sponification การทำลายเนื้อเยื่อรอบๆ จึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง กรณีที่สูดดมสารที่เป็นก๊าซบางชนิดเช่น chlorine, ammonium chloride ทำปฏิกิริยากับน้ำเกิดเป็นกรดและด่างตามลำดับ ซึ่งจะมีผลระคายต่อเยื่อบุทางเดินหายใจทำให้มีการบวมของ epiglottis, larynx และ bronchial tree ในรายที่รุนแรงอาจจะทำให้เกิดภาวะ noncardiogenic pulmonary edema ได้

อาการทางคลินิก เมื่อผู้ป่วยรับประทานสารพวก corrosive agents มักจะมีอาการแสบในช่องปาก และลำคอกลืนลำบาก มีน้ำลายไหลออกมา มีอาการปวดแสบท้องในเวลาต่อมา ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่น หลอดอาหารทะลุจะเกิดอาการหายใจลำบาก ตรวจพบ subcutaneous emphysema นอกจากนั้นอาจพบภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นเช่น mediastinitis, peptic perforation หรือ erosive gastritis
กรณีที่ผู้ป่วยสูดดมสาร corrosive agents จะทำให้มีอาการแสบ ไอ หายใจลำบาก เกิด stridor จาก laryngeal spasm และ pulmonary edema ในรายที่รุนแรง

การรักษา ไม่ควรทำให้อาเจียน การใส่สายล้างท้องยังเป็นที่ถกเถียงถึงความปลอดภัยและผลที่ได้รับจากการล้างท้อง อาจจะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ, นมได้ การให้ยากลุ่ม steroid ไม่มีการศึกษายืนยันผลการรักษา ในสถานที่สามารถทำ gastroscope ได้ ควรทำการตรวจด้วย gastroscope ภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อบอกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลอดอาหาร หากเลย 48 ชั่วโมงแล้วไม่ควรทำ gastroscope ในระยะนี้ เพราะในช่วง 4-14 วันนี้ทางเดินอาหารที่ได้รับภยันอันตรายจะหายแบบ fibroplasia ซึ่งไม่แข็งแรงมีโอกาสทะลุหากได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุด จึงควรรอไว้ทำอีกครั้งหลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้ว

กรณีที่สงสัยว่าจะมีภยันอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารที่รุนแรง ควรจะงดน้ำและอาหาร ให้น้ำเกลือ คอยระวังภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ถ้าผู้ป่วยมีไข้อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เมื่อระยะเฉียบพลันดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบากจากภาวะหลอดอาหารตีบ อาจจะต้องทำการขยายหลอดอาหารต่อไป

  

เอกสารอ้างอิง

  1. Crain EF, Caustic ingestions: symptoms as predictors of esophageal injury. Am J Dis Child 1984; 138: 863-5.