Carbon monoxide (CO)

 
พิษจากก๊าซ
 
Carbon monoxide (CO)
 
เป็นก๊าซที่ได้จากการเผาไหม้สันดาปที่ไม่สมบูรณ์ จะมีปริมาณสูงในบริเวณที่ประสบอัคคีภัยที่กำลังไหม้อยู่ บริเวณที่มีการติดเครื่องยนต์โดยที่ไม่มีการถ่ายเทอากาศ ที่เพียงพอ เช่นกรณีรถยนต์จอดปิดกระจกแล้วเปิดเครื่องทิ้งไว้ ซึ่งมีการรั่วของไอเสียเข้าสู่ห้องโดยสาร carbon monoxide เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่ระคายเคืองต่อเยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย ผู้ที่สูดดมก๊าซนี้เข้าไปจึงไม่มีอาการเตือนแต่เนิ่นๆ
เภสัชจลนศาสตร์และฤทธิ์วิทยา
 
       Carbon monoxide มีความสามารถแย่ง oxygen จับกับ hemoglobin ได้ดีกว่า oxygen ประมาณ 245 เท่า ทำให้มีปริมาณ oxygen ในโมเลกุลของ hemoglobin ลดลง เกิด carboxyhemoglobin ทำให้ oxygen dissociation curve เลื่อนไปทางซ้าย การปลดปล่อย oxygen ให้สู่เนื้อเยื่อลดลงมากกว่าภาวะพร่อง oxygen จากภาวะซีด หรือ มี deoxyhemoglobin สูง  นอกจากนั้น carbon monoxide มีผลยับยั้ง cytochrome oxidase ทำให้ขบวนการถ่ายทอดอิเลคตรอนในวงจรการหายใจของเซลล์ไม่ทำงาน แต่มีฤทธิ์ไม่รุนแรงเท่า cyanide
อาการทางคลินิก
 
          ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายภาวะซีดเฉียบพลัน ประกอบกับปริมาณ carbon monoxide ที่ละลายอยู่ใน plasma ไม่มากพอ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับ PaO2 chemoreceptorจึงยังไม่ถูกกระตุ้นเพื่อตอบสนองต่อภาวะขาด oxygen มีการขยายตัวของหลอดเลือด ผู้ป่วยมีอาการความดันโลหิตต่ำและ syncope อวัยวะที่ต้องการ oxygen ปริมาณมากคือหัวใจและสมองจึงเป็นอวัยวะที่ถูกกระทบกระเทือนก่อน
          ผู้ป่วยเมื่อสูดก๊าซ carbon monoxide จะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน และคลื่นไส้ ในรายที่รุนแรงจะหน้ามืด หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะมีความเสี่ยงกับการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ง่ายกว่าคนปกติ การตรวจร่างกายอาจจะพบตัวแดง หน้าแดงแบบสี cherry red เนื่องจากสีของ carboxyhemoglobin และการขยายตัวของเส้นเลือด
          ผู้ป่วยที่ไม่รุนแรงอาจจะมีอาการคล้ายเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัวในเวลาต่อมา ในรายมีอาการทางสมองขั้นรุนแรง เมื่อรอดชีวิตอาจจะมีความผิดปกติเหลืออยู่ ที่พบได้บ่อยคือ parkinsonism, เสียความทรงจำหรือมีบุคลิกเปลี่ยนแปลง การตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยวัดระดับ carbon monoxide หรือ carboxyhemoglobin ทางลมหายใจออก หรือในเลือด
การรักษา
 
การรักษาแบบประคับประคอง
          นำผู้ป่วยออกจากบรรยากาศที่มีก๊าซ carbon monoxide ช่วยหายใจในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจไม่พอ หรือหมดสติ
การรักษาจำเพาะ
การให้ผู้ป่วยหายใจด้วย 100% oxygen สามารถเร่งการขับถ่าย carbon monoxide ออกจากร่างกาย โดยลดค่าครึ่งชีวิตจาก 6 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง การใช้ hyperbaric oxygen ช่วยเร่งการขับถ่าย carbonmonoxide ได้เร็วขึ้น แต่มีความยุ่งยากมากกว่า อย่างไรก็ดีผลการรักษาขึ้นกับระยะเวลา และอาการก่อนให้การรักษามากกว่าระดับ carboxyhemoglobin
 เอกสารอ้างอิง
 
-  Olson KR. Carbon monoxide poisoning: mechanism presentation and controversies in management. J Emerg Med 1984; 1: 233-43.