สารก่อความไร้สมรรถภาพ

 

 

สารก่อความไร้สมรรถภาพ

     สารพวกนี้ ออกฤทธิ์ โดยขัดขวางการทำงานของสมองส่วนกลาง ทำให้สับสน จนถึงเป็นอัมพาตชั่วคราว แต่ไม่ทำอันตรายถึงชีวิต นอกจากในขนาดที่สูงมากกว่าขนาดที่ใช้ได้ผลหลายๆ เท่า และไม่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยต่อเนื่องเรื้อรัง หรือความพิการอย่างถาวร ตัวอย่างของสารที่ที่นำมาใช้เป็นสารพิษในกลุ่มนี้ได้แก่ ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาเสพติดที่มีฤทธิ์ต่อสมองเช่น สารสกัดจากกัญชา, LSD, PCP ฯลฯ ยาในกลุ่ม anticholinergic เช่น atropine, scopolamine และสารอื่นๆ เช่น endorphine เป็นต้น
สารในกลุ่มนี้ที่น่าสนใจได้แก่ BZ หรือ QNB (3-quinuclidinyl benzilate) ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม anticholinergic เข้าสู่ร่างกายทางระบบหายใจ ผู้ที่ได้รับสารนี้จะเริ่มมีอาการใน 0.5-4 ชั่วโมง และมีอาการนาน 3-4 วัน

ลักษณะที่พบในเวชปฏิบัติ   ถ้าได้รับสารขนาดน้อยจะมีอาการง่วงนอน, ความตื่นตัวน้อยลง, หัวใจเต้น เร็ว, ผิวแดง, ริมฝีปากและผิวหนังแห้ง, ม่านตาขยายกว้าง และอุณหภูมิกายจะสูงขึ้น เนื่องจากต่อมเหงื่อไม่ทำงาน
ถ้าได้รับสารพิษปริมาณมาก ระยะแรก (1-4 ชั่วโมงแรก) จะเวียนศีรษะ, เดินเซ, อาเจียน, ปากแห้ง, ตาพร่า, หัวใจเต้นเร็ว, สับสน, ง่วงซึม จนถึงไม่ค่อยรู้สึกตัว ระยะต่อมา (4-8 ชั่วโมง) ผู้ป่วยจะไม่รับรู้การกระตุ้น หรือการเปลี่ยนแปลงข องสิ่งแวดล้อม, เคลื่อนไหวตามต้องการไม่ได้ และระยะหลัง (12-96 ชั่วโมง) ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ, มีการกระทำและพฤติกรรมแปลกๆ อาจก่อความวุ่นวายและไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่ง รวมทั้งมีปัญหาในการควบคุม และการรักษาพยาบาล ความผิดปกติเหล่านี้จะค่อยๆ คืนกลับสู่สภาพปกติหลัง 48-96 ชั่งโมง

การป้องกันและรักษา
1. หน้ากากป้องกันไอพิษใช้ได้ผล การปฏิบัติทั่วๆไปเช่นเดียวกับสารพิษอื่นๆ ที่เข้าทางระบบหายใจ 

2. พยายามแยกผู้ป่วยที่ก่อความวุ่นวายออกให้เร็วที่สุด ถ้าจำเป็นอาจต้องมัดผู้ป่วยไว้กับเปล ต้นไม้ หรือสิ่งอื่นๆ 

3. ให้การรักษาตามอาการ ควรนำผู้ป่วยไปไว้ในที่ร่ม อากาศเย็น แล้วเช็ดตัว หรือแช่น้ำเย็น เพราะผู้ป่วยอาจเกิดพิษจากความร้อน จนถึง heat stroke ได้ 

4. ให้ physostigmine salicylate 2-3 mg ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือ เข้าหลอดเลือดดำช้าๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเช่น การเต้นของหัวใจไม่ช้าลง หรือสภาพทางจิตใจไม่แจ่มใสขึ้น ให้ฉีดยาซ้ำได้เมื่อ 40 นาที หลังการฉีดยาครั้งแรก และให้ต่อไป ทุก 1-2 ชั่วโมงจนผู้ป่วยอาการดีขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นยารับประทานขนาด 2-5 mg ทุก 2 ชั่วโมง และลดขนาดยาลงหลัง 2-4 วัน

ยา physostigmine นี้ ไม่ได้เป็นยาทำลายพิษ BZ เพียงแต่บรรเทาอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถลดระยะเวลาการเจ็บป่วยให้สั้นลงได้ ยาตัวนี้มีครึ่งชีวิตในร่างกายเพียง 30-60 นาที จึงจำเป็นต้องให้ยานี้บ่อยครั้ง เนื่องจากยานี้เป็นยาในกลุ่ม anticholinesterase ซึ่งเป็นพิษได้เช่นกัน จึงต้องระมัดระวังการให้ยาต้านพิษมากเกินไปเช่น ถ้าหัวใจเต้นช้ากว่า 70 ครั้ง/นาที แต่ยังมีอาการทางสมอง ให้ลดยาลงครึ่งหนึ่ง หรือผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง, เหงื่อออกมาก, อาเจียน, กล้ามเนื้อกระตุก ก็ให้เลื่อนระยะเวลาการให้ยาครั้งต่อไป และลดขนาดยาลง 1 ใน 3

จากขีดความสามารถของระบบส่งอาวุธในปัจจุบัน อาจทำให้มีผู้ป่วยจากสารพิษ BZ นี้เป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยที่ได้รับพิษนี้จะยังสามารถเคลื่อนไหวได้ อาจก่อความวุ่นวายด้วยพฤติกรรมที่ผิดปกติ ไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่ง และมีปัญหาในการควบคุม รวมทั้งมีปัญหาในการรักษาพยาบาลต้องการใช้ยาต้านพิษจำนวนมาก และต้องใช้เจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลมากกว่าผู้ป่วยปกติ เพราะผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีสภาพทางจิตใจไม่ปกติ สามารถก่อความวุ่นวายได้ตลอดเวลา