พิษจากคางคก

 

ภาวะเป็นพิษจากการรับประทานสัตว์มีพิษ

 พิษจากคางคก

 

          คางคกเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีต่อมน้ำเมือกใกล้หู (parotid gland) ซึ่งขับเมือกที่มีสารชีวพิษ ประเภท digitaloids ได้แก่ bufotoxin, aglucones bufagins และ bufotalins ซึ่งมีลักษณะทาง เคมีและการออก
ฤทธิ์คล้ายกับ digitalis glycosides นอกจากนี้มี alkaloids และสารประกอบอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองเฉพาะที่ แต่ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอาการตามระบบต่างๆได้ สามารถพบสารชีวพิษดังกล่าวนี้ ได้ที่หนังและเลือดของ คางคกทั่วไป (Bufo vulgaris) และคางคกใหญ่ (Bufo agua)
 
อาการเป็นพิษ มักเกิดขึ้นช้าๆ ภายหลังรับประทานคางคกแล้วหลายชั่วโมง เด็กจะสามารถทนต่อพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่ เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง อาจมีอาการสับสน วิงเวียน เห็นภาพเป็นสีเหลือง ระดับ
ความรู้สติจะเปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่สับสน เพ้อ ง่วงซึม มีอาการทางจิตประสาทจนถึงชักและหมดสติ อาการสำคัญคือ หัวใจจะเต้นช้าลง และผิดจังหวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะพบ atrioven tricular block ระดับต่างๆ ทั้งนี้ขึ้น อยู่กับขนาดของพิษที่ได้รับมี PVC, multiple foci extrasystole หรือ ventricular tachycardia และสุดท้าย จะเป็น ventricular fibrillation ผู้ป่วยจะถึงแก่กรรมจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว
 
การรักษา เช่นเดียวกับการรักษาผู้ป่วยที่รับประทานสารพิษตามมาตรฐานทั่วไป ตรวจระดับเกลือแร่โดย เฉพาะโปแตสเซียมในเลือด ถ้าชีพจรช้า และระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติ ให้ฉีด atropine และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ต้องใช้เครื่องกำกับจังหวะการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้อาจใช้ยารักษาและป้องกันการเต้นผิดจังหวะอื่นๆ เช่น lidocaine, diphenylhydantoin, quinidine, amiodarone ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ และถ้ามี digitalis FAB antibody อาจทดลองใช้ได้