สารพิษจากเห็ด

 

  สารพิษจากเห็ด

                ในประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีภูมิอากาศเหมาะสมแก่การเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนานาชนิดตั้งแต่จุลินทรีย์, เห็ด, รา, ตลอดจนพืชและสัตว์นานาพันธุ์ ซึ่งจุลินทรีย์, รา, และเห็ดเหล่านี้สามารถสร้างสารพิษชีวภาพที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้
สารพิษชีวภาพคือ สารที่เกิดจากกระบวนการทางสรีรวิทยาของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เมื่อคนหรือสัตว์ได้รับสารดังกล่าวนี้เข้าไปในร่างกายแล้ว ก่อให้เกิดพยาธิสภาพทำให้เจ็บป่วยจนกระทั่งถึงแก่ชีวิตได้

สารพิษจากเห็ด ในบ้านเราซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น มีเห็ดมากมายหลายชนิดที่มีพิษ ปัญหาที่สำคัญเมื่อพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ คือ แพทย์หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่รู้จักเห็ดชนิดนั้น อย่างไรก็ตาม ในเห็ดพิษชนิดเดียวกันอาจมีสารชีวพิษอยู่หลายชนิดต่างๆ กัน ตามพื้นที่ที่เห็ดงอก รวมทั้งการพิสูจน์ทราบว่าเป็นเห็ดชนิดใด อาจต้องใช้เวลามากจนให้การรักษาไม่ทันการ การวินิจฉัยและการรักษาภาวะพิษจึงขึ้นอยู่กับลักษณะทางคลินิก โดยเฉพาะอาการแสดงเบื้องต้นและระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการเป็นสำคัญ 

การรักษาผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย การลดปริมาณสารพิษที่ผู้ป่วยได้รับ และเร่งขับสารพิษออกจากร่างกาย ดังนั้นถ้าผู้ป่วยยังไม่อาเจียนควรกระตุ้นให้อาเจียน หรือใช้สายยางสวนล้างกระเพาะอาหารในกรณีที่ทำให้อาเจียนไม่ได้, ให้ผงถ่านแก่ผู้ป่วยทุกราย และถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการท้องร่วงควรให้ยาระบายด้วย หลังจากที่สภาพของผู้ป่วยมีเสถียรภาพแล้ว จึงเริ่มสัมภาษณ์ประวัติ และดำเนินการเพื่อให้ได้การวินิจฉัยถึงชนิดของสารชีวพิษที่ผู้ป่วยได้รับ เพื่อให้การรักษาที่จำเพาะต่อไป การสัมภาษณ์ประวัติการรับประทาน ควรให้ได้ประวัติว่าผู้ป่วยรับประทานเห็ดไปกี่ชนิด, เวลาที่รับประทาน และถ้ามีผู้อื่นรับประทานร่วมด้วยมีอาการอย่างไรหรือไม่ สำหรับประวัติการเกิดอาการ ต้องเน้นถึงระยะเวลาที่เริ่มเกิดอาการ และลำดับการเกิดอาการก่อนหลัง พยายามแยกให้ได้ว่าเข้ากับกลุ่มอาการใด (ตารางที่ 3) ตัวอย่างเช่น ถ้าอาการเกิดขึ้นหลัง 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน ให้นึกถึง cyclopeptide, monomethylhydrazine หรือ orelline เป็นต้น ถ้าทำได้ให้เก็บอาเจียนหรือน้ำล้างกระเพาะอาหารรวมทั้งชิ้นส่วนของเห็ด เพื่อส่งตรวจแยกชนิดด้วย เห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้อาจมีรูปทรงคล้ายคลึงกัน อาจต่างกันเฉพาะที่สัณฐานวิทยาปลีกย่อยจำเพาะพันธุ์ สารชีวพิษของเห็ดเมาแต่ละตระกูลมีฤทธิ์ต่างๆกัน จำแนกตามลักษณะอาการเด่นในระบบต่างๆ และลักษณะทางพิษวิทยาได้ดังนี้

 
2.1 Monomethylhydrazine (gyromitrin)
2.2 Indoles (psilocin - psilocybin)
 
3.1 Cholinergic syndrome ได้แก่ muscarine
3.2 Anticholinergic syndrome ได้แก่ ibotenic acid และ muscimol
 
 
 
  1. พิษต่อตับ ได้แก่ cyclopeptides
  2. พิษต่อระบบประสาทกลาง
  3. พิษต่อระบบประสาทอัตโนมัติ
  4. พิษต่อไต ได้แก่ orelline, orellanine
  5. พิษร่วมกับอัลกอฮอล์ เหมือน disulfiram ได้แก่ coprine
  6. พิษต่อทางเดินอาหาร เกิดจากสารชีวพิษที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบแน่ชัด
1. พิษต่อตับ
 
สารชีวพิษจากเห็ดที่มีพิษต่อตับได้แก่ สารในกลุ่ม cyclopeptides เห็ดที่มีสารชีวพิษชนิดนี้ คือ เห็ดในตระกูล Amanita, Lepiota, Conocybe และ Galerina ในพวกดังกล่าวนี้ Amanita เป็นอันตรายมากที่สุด ลักษณะเป็นเห็ดขนาดใหญ่ รูปทรงสะดุดตา พบเห็นอยู่ทั่วไป ขึ้นอยู่ทั่วไปตามเรือกสวนไร่นาและในป่า cyclopeptides ประกอบด้วยสารชีวพิษ 2 จำพวกได้แก่ amatoxins และ phallotoxins
 
Amatoxins ถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร เป็นสารที่มีพิษรุนแรงต่อเซลล์ ออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของ ribonucleic acid (RNA) polymerase เซลล์จึงสร้างโปรตีนไม่ได้และตายทำให้ตับถูกทำลาย นอกจากนี้เป็นพิษต่อไต ตับอ่อน ต่อมหมวก ไต กล้ามเนื้อ และสมอง สามารถตรวจพบได้โดยการทำการทดสอบ Meixner ข้างเตียง โดยหยดน้ำจากกระเพาะอาหาร หรือ คั้นน้ำจากเห็ด หยดลงบนกระดาษกรอง แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง หยดกรดเกลือ (HCl) เข้มข้นลงไป ถ้ามีสาร amatoxin จะมีสีฟ้าเกิดขึ้นในครึ่งชั่วโมง สารนี้จะถูกขับออกทางไต สามารถตรวจพบได้ในซีรั่มและปัสสาวะด้วยวิธี radioimmunoassay แต่ไม่สะดวกในการใช้ทางคลินิก phallotoxins เป็นสารที่เป็นพิษต่อตับรุนแรงมาก แต่ถูกดูดซึมได้น้อยจากทางเดินอาหาร จึงเป็นพิษต่อร่างกายน้อย ทำให้เกิดอาการคล้ายทางเดินอาหารอักเสบในช่วงต้นเท่านั้น
 
ลักษณะทางคลินิก 
แบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะต้นเกิดขึ้นใน 6-12 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการทางเดินอาหารอักเสบอย่างรุนแรง ท้องร่วงอย่างแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำคล้ายอหิวาต์ อุจจาระอาจมีมูกเลือดปน ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในระยะนี้ ถ้าได้รับการรักษาประคับประคองโดยการให้สารน้ำและเกลือแร่จนผู้ป่วยอาการดีขึ้น จะเข้าสู่ระยะที่ 2 ในระยะนี้ดูเหมือนผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไร แต่จะตรวจพบเอ็นไซม์ตับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหลังรับประทาน 2-4 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 3 มีอาการตับอักเสบ ไตวาย หัวใจวาย ตับอ่อนอักเสบ เลือดเป็นลิ่มแพร่กระจาย (DIC) ชัก และถึงแก่กรรม การตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบ hepatic necrosis โดยเฉพาะบริเวณ centrilobular
 
 
การรักษา 
เช่นเดียวกับผู้ป่วยได้รับสารพิษทั่วไปประกอบด้วย การรักษาประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตราย, การลดการดูดซึม และเร่งขับสารพิษออกจากร่างกาย โดยการทำให้อาเจียน, ให้ activated charcoal 1 g/kg และให้ซ้ำทุก 4 ชั่วโมง มียาต้านพิษหลายตัวที่มีการแนะนำให้ใช้ และถึงแม้ยังไม่มีการศึกษาที่มีการควบคุมอย่างดีพอก็อาจทดลองใช้ได้ เนื่องจากสารชีวพิษนี้เป็นอันตรายอย่างมาก ยาต้านพิษที่มีผู้แนะนำ คือ 
 
Thioetic acid (alpha lipoic acid) เริ่มต้นให้เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีเอ็นไซม์ตับ aminotransferase สูงขึ้น โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 75 mg/day และถ้าผู้ป่วยหมดสติอาจเพิ่มได้ถึง 500 mg/day จนกว่าระดับ AST และ ALT เริ่มลดลง เชื่อว่ายานี้ออกฤทธิ์เป็น free radical scavenger และออกฤทธิ์เป็น coenzyme ในปฏิกิริยา oxidative decarboxylation ในเนื้อเยื่อของตับ
 
Penicillin G. ให้เข้าหลอดเลือดดำขนาด 300,000 ถึง 1,000,000 U/kg/day เชื่อว่าสามารถป้องกันเซลล์ตับได้ โดยยับยั้งไม่ให้เซลล์ตับรับสารพิษเข้าไปในเซลล์ และจับกับ plasma protein binding sites แลกที่กับสารพิษ ทำให้ amatoxin ถูกขับออกทางไตเพิ่มขึ้น
 
Silibinin เป็นส่วนประกอบของ silymarin แยกได้จากยางไม้มีหนาม จำพวกผักโขม สามารถยับยั้งการจับตัวของสารพิษกับเซลล์ตับ ขนาดที่ให้ 20-50 mg/kg/day
เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ จึงควรให้ glucose, thiamime และ ascorbic acid รวมทั้งอาจให้ hyperbaric oxygen, cimetidine, corticosteroids, cephalosporins, cytochrome C, bile salts, heavy metal salts, D-penicillamine และ diethyldithiocarbamate
 
นอกจากนี้ควรให้สารน้ำอย่างเพียงพอเพื่อเร่งการขับปัสสาวะ และอาจทำ hemodialysis, plasmapheresis, hemofiltration และ hemoperfusion ในกรณีที่ผู้ป่วยตับวายอย่างรุนแรง การเปลี่ยนตับอาจช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้
ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ จะมีอัตราตายประมาณร้อยละ 10 ส่วนใหญ่มักหายเป็นปกติได้ แต่มีผู้ป่วยบางส่วนที่กลายเป็น immune complexmediated chronic active hepatitis
 
2. พิษต่อระบบประสาทกลาง
สารชีวพิษจากเห็ดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลางมี 2 จำพวกได้แก่
 
2.1 Monomethylhydrazine (Gyromitrin) เห็ดที่มีสารชีวพิษชนิดนี้ ได้แก่เห็ดในตระกูล Gyromitra, Helvella, Disciotis และ Sarcosphaera เป็นพวกที่มีแอสโคสปอร์ (ascospore) ลักษณะคล้ายอานม้า บางสายพันธุ์รับประทานได้
ลักษณะการเกิดพิษจากสารพวก hydrazine คล้ายกับที่พบในพิษจาก isoniazid คือออกฤทธิ์ทำปฏิกิริยากับ pyridoxine ยับยั้งเอ็นไซม์ที่ทำปฏิกิริยาสัมพันธ์กับ pyridoxal phosphate ขัดขวางการสร้าง gamma-aminobutyric acid (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทประเภทยับยั้งในสมอง
หลังจากผู้ป่วยรับประทานเห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้ 6-24 ชั่วโมง จะเริ่มมีอาการ มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และเป็นตะคริว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการช่วงนี้ไม่มากนัก หลังจากนั้นอาจมีอาการเพ้อ ชัก จนถึงหมดสติได้ นอกจากนี้อาจเกิดภาวะ methemoglobinemia และเม็ดเลือดแดงแตก สุดท้ายอาจเกิดภาวะตับวาย และไตวาย จนเป็นสาเหตุให้ถึงแก่กรรมได้
 
การรักษา ประกอบด้วยการรักษาประคับประคอง, การลดการดูดซึม และเร่งขับสารพิษออกจากร่างกาย ให้ผง activated charcoal ทุก 4 ชั่วโมง และถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงโดยเฉพาะชัก ให้ยาต้านพิษคือ pyridoxine (วิตามิน B 6) เข้าหลอดเลือดดำขนาด 25 mg/kg เนื่องจาก pyridoxine ขนาดสูงทำให้เกิด peripheral neuropathy จึงต้องระมัดระวังอย่าให้ยาต้านพิษมากเกินไป ควรให้ซ้ำเฉพาะในรายที่ชักซ้ำเท่านั้น
ผู้ป่วยที่ได้รับพิษชนิดนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราตายประมาณ 40% ความร้อนอาจทำให้สารนี้ระเหยไปได้ แต่ขณะปรุงอาหารในครัวอาจสูดดมสารนี้จนเกิดเป็นพิษขึ้นได้
 
2.2 Indoles (psilocin-psilocybin) เห็ดที่มีสารชีวพิษในกลุ่มนี้ ได้แก่ เห็ดในตระกูล Conocybe, Copelandia, Gymnopilus, Naematoloma, Panaeolina, Panaeolus, Psilocybe และ Stropharia เป็นเห็ดพิษขึ้นอยู่ตามกองมูลวัวมูลควายแห้ง มีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ตำราแพทย์แผนโบราณเรียกว่า "เห็ดโอสถรวมจิต" นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางมาพักผ่อนที่เกาะสมุยรู้จักในนาม "magic mushroom" นิยมรับประทานกันในรูปของสลัดผัก หรือเจียวกับไข่
psilocin และ psilocybin มีอยู่ทั้งในเห็ดสดและแห้ง มีลักษณะทางเคมีสัมพันธ์กับ serotonin ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาททำให้ประสาทหลอนคล้าย lysergic acid diethylamide (LSD) หลังจากรับประทานประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ตามด้วยการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริง และประสาทหลอน มีอาการเดินโซเซ ม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดลด มีอาการแสดงของระบบประสาทกลางถูกกระตุ้น มีความเคลื่อนไหวมากผิดปกติ จนกระทั่งถึงชักได้ ถ้าฉีดสารดังกล่าวนี้เข้าหลอดเลือดดำจะเริ่มด้วยอาการหนาว สั่น กล้ามเนื้อเกร็ง หายใจลำบาก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก อาเจียน ไม่มีแรง นอกจากนี้อาจมีอาการอุณหภูมิกายสูงผิดปกติ มีภาวะขาดอ๊อกซิเจน และ methemoglo binemia ได้
 
การรักษา นอกจากให้การรักษาทั่วไปแล้ว ควรแยกให้ผู้ป่วยอยู่ในที่สงบ ให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่าอาการจะหายไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมง สำหรับรายที่มีอาการตื่นตระหนก ประสาทหลอน กลัวตาย อาจให้ยากล่อมประสาทในกลุ่ม benzodiazepines หรือ chlordiazepoxide ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กต้องให้การรักษาอย่างเต็มที่ เพราะมีรายงานว่าเด็กรับประทานเห็ดจำพวกนี้ตาย ทั้งนี้เพราะระบบน้ำย่อยต่างๆ ของเด็กยังไม่สมบูรณ์เท่าของผู้ใหญ่
 
3. พิษต่อระบบประสาทอัตโนมัติ
สารชีวพิษจากเห็ดที่ออกฤทธิ์เด่นต่อระบบประสาทอัตโนมัติที่สำคัญมี 2 จำพวก คือ
 
3.1 Muscarine เห็ดพันธุ์ที่มีสารชีวพิษชนิดนี้มากจนสามารถเป็นพิษแก่คนได้คือ เห็ดในตระกูล Inocybe, Clitocybe และ Omphalotus ส่วนใน Amanita muscaria นั้นมีสารชีวพิษชนิดนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เนื่องจากสารพิษ muscarine ไม่สามารถผ่าน blood-brain barrier ได้ จึงออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท parasympathetic เฉพาะส่วนปลาย ณ ตำแหน่ง postganglionic เท่านั้น หลังจากผู้ป่วยรับประทานเห็ดที่มีสารชีวพิษชนิดนี้ประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง จะเกิดอาการเรียกว่า "cholinergic crisis" ซึ่งประกอบด้วยหัวใจเต้นช้า หลอดลมหดเกร็ง เสมหะมาก ม่านตาหดเล็ก น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล ปัสสาวะอุจจาระราด และอาเจียน อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวนี้น้อยกว่าที่เกิดจากสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่ม organophosphates มาก เนื่องจากสารชีวพิษชนิดนี้ถูกดูดซึมผ่านทางระบบทางเดินอาหารได้น้อย และถูกทำลายได้ด้วยความร้อน การปรุงอาหารจึงสามารถทำลายสารชีวพิษชนิดนี้ได้
 
การรักษา ประกอบด้วยการรักษาประคับประคอง และการให้ atropine 1-2 mg เข้าหลอดเลือดดำช้าๆ สามารถให้ซ้ำได้จนกระทั่งเสมหะแห้ง ยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยถึงแก่กรรมจากสารชีวพิษชนิดนี้
 
3.2 Ibotenic acid และ muscimol เห็ดที่สร้างสารชีวพิษชนิดนี้ ได้แก่เห็ดบางพันธุ์ในตระกูล Amanita รวมทั้ง A. muscaria ชนบางเผ่ารวมทั้งชาวอเมริกันในบางรัฐ นิยมเสพเห็ดเหล่านี้เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน
กรด ibotenic ออกฤทธิ์ต้าน cholinergic ทั้งในระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย ทำให้มีผลต่อระบบประสาท เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยวิธี decarboxylation เป็น muscimol ซึ่งมีฤทธิ์เพิ่มขึ้น 5-10 เท่าภายใน 30 นาที หลังจากผู้ป่วยรับประทานเห็ดที่มีสารชีวพิษชนิดนี้จะเกิดอาการเมา ทำให้เดินโซเซ เคลิ้มฝัน ร่าเริง กระปรี้กระเปร่า การรับรู้ภาพเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอน และเอะอะโวยวาย ภายหลังจากเอะอะแล้วผู้ป่วยจะหลับนาน เมื่อตื่นขึ้นอาการจะกลับคืนสู่สภาพปกติใน 1-2 วัน ถ้ารับประทานเห็ดชนิดนี้มากๆ จะเกิดอาการทางจิตอย่าง ชัดเจน อาจชัก และหมดสติได้ พึงระลึกเสมอว่าเห็ดพวกดังกล่าวนี้มีสารชีวพิษหลายชนิดอาจแสดงอาการของ anticholinergic หรือ cholinergic ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ามีสารชีวพิษชนิดใดมากกว่ากัน การวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดจะพบกลุ่มอาการ anticholinergic 
การรักษาเบื้องต้นเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่รับประทานสารพิษโดยทั่วไป 
 
การรักษา ตามอาการทำตามความจำเป็น ถ้ามีอาการชักให้ฉีด diazepam เข้าหลอดเลือดดำ อาจให้ physostigmine ในรายที่มีอาการอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตเช่น คลุ้มคลั่ง หรือหมดสติ เป็นต้น
 
4. พิษต่อไต
สารชีวพิษจากเห็ด ซึ่งมีพิษต่อไตเป็นอาการเด่น คือสารพิษกลุ่ม bipyridyl ได้แก่ orelline และ orellanine ซึ่งทนต่อความร้อน มีลักษณะทางเคมีสัมพันธ์กับสารเคมีกำจัดวัชพืช diquat พบในเห็ดตระกูล Cortinarius เดิมเชื่อว่าเห็ดพวกนี้ไม่มีพิษ แต่ปัจจุบันมีรายงานจากประเทศโปแลนด์และญี่ปุ่นว่า ทำให้เนื้อไตอักเสบ หลอดไตถูกทำลาย (tubulo-interstial nephritis & fibrosis) แต่โกลเมอรูลัสค่อนข้างปกติ รวมทั้งมีรายงานว่าเป็นพิษต่อตับด้วย
อาการเริ่มต้นเกิดขึ้นใน 24-36 ชั่วโมงหลังรับประทาน ผู้ป่วยจะมีอาการ กระเพาะอาหารอักเสบ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น และปวดกล้ามเนื้อ ภายหลังจากมีอาการดังกล่าวแล้วหลายวันจนถึงสัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อย ไตวายอย่างช้าๆ และเรื้อรัง
เนื่องจากอาการจากสารพิษกลุ่มนี้เกิดขึ้นช้า การลดปริมาณสารพิษที่ร่างกายได้รับรวมทั้งการให้ activated charcoal จึงไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก การรักษาต้องให้การประคับประคองโดยให้สารน้ำ และปรับภาวะสมดุลย์ของเกลือแร่อย่างเต็มที่ รวมทั้งเฝ้าตรวจหน้าที่ของไตอย่างใกล้ชิดถ้าจำเป็นอาจต้องทำ hemoperfusion, hemodialysis จนถึงอาจต้องทำการเปลี่ยนไต
 
5. พิษร่วมกับ alcohol คล้าย disulfiram
สารชีวพิษที่มีฤทธิ์คล้าย disulfiram ได้แก่ coprine ประกอบด้วยกรดอะมิโนพบในเห็ดตระกูล Coprinus สารนี้จะไม่มีพิษถ้าไม่รับประทานร่วมกับการดื่มสุรา ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ acetaldehyde dehydrogenase ทำให้ acetaldehyde จากการเผาผลาญ alcohol ไม่ถูกเปลี่ยนเป็น acetate ทำให้ acetaldehyde คั่งอยู่ในเลือดเป็นจำนวนมาก
อาการจะเริ่มเกิดขึ้นใน 10-30 นาที หลังจากรับประทานเห็ดแกล้มเหล้า และอาจเกิดขึ้นเมื่อดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วถึง 1 สัปดาห์ก็ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ใจสั่น หายใจหอบ เหงื่อแตก เจ็บหน้าอก ชาตามตัว ม่านตาขยาย และความดันโลหิตสูง อาจพบความดันโลหิตต่ำได้เนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว
 
การรักษา  เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยาจาก disulfiram กับสุรา คือให้คำแนะนำว่าไม่เป็นอันตราย และหายเองในไม่ช้า ในรายที่ความดันโลหิตต่ำต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องให้ norepinephrine และถ้าอาการรุนแรงมากอาจทำ hemodialysis เพื่อขจัด ethanol และ acetaldehyde ออกจากเลือด
 
6. พิษต่อทางเดินอาหาร
เห็ดที่มีสารชีวพิษซึ่งจัดในกลุ่มนี้ คือเห็ดที่ทำให้เกิดอาการเฉพาะระบบทางเดินอาหารภายใน 30 นาที - 3 ชั่วโมง มีอาการจุกเสียดยอดอก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และไม่ทำให้มีอาการทางระบบอื่นๆ มีเห็ดมากมายหลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว 
 
 
 
ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและไม่ต้องการการรักษาเฉพาะใดๆ มักจะพบได้เองภายใน 24 ชั่วโมง
สิ่งสำคัญที่แพทย์มักผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ด คือการให้ผู้ป่วยกลับบ้านหลังจากอาการทางระบบทางเดินอาหารทุเลา โดยไม่ได้ติดตามดูแลอาการผู้ป่วย สารชีวพิษจากเห็ดหลายชนิดโดยเฉพาะในตระกูล Amanita มักมีอาการรุนแรงจนถึงทำให้ผู้ป่วยตายได้ หลังจากอาการทางระบบทางเดินอาหารดีขึ้นแล้วหลายวัน 
 
การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นเห็ดชนิดใด หรือได้รับพิษจากสารชีวพิษกลุ่มใด จึงต้องติดตามดูแลอาการ และตรวจหน้าที่ของตับและไตเป็นระยะๆ จนแน่ใจว่าผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้วเสม
เอกสารอ้างอิง
  1. Aboul-Enen HY. Psilocybin: a pharmacological profile. Am J Pharmacol 1974;146:91.
  2. Bartter F. Thioctic acid and mushroom poisoning. Science 1975;187:216.
  3. Klein AS, Hart J, Brems JJ, et al. Amanita poisoning: treatment and the role of liver transplantation. Am J Med 1989;86:187.
  4. Rumack BH, Salzman E. Mushroom poisoning: diagnosis and treatment. West Palm Beach, FL, CRC press, 1978;263.