เกี่ยวกับภาควิชา

ประวัติภาควิชาจิตเวชศาสตร์

     หน่วยงานด้านจิตเวชศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกตั้งแต่ วันที่ 8 มิถุนายน 2514 โดยเป็นหน่วยจิตเวชศาสตร์ สังกัดภาควิชาอายุรศาสตร์ มี พญ.ศรีธรรม ธนะภูมิ เป็นหัวหน้าหน่วย เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการสอนวิชาจิตเวชศาสตร์และการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชเพียงผู้เดียวในระยะแรก

      หน่วยจิตเวชศาสตร์ต้องรับผิดชอบการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแพทย์ปีที่ 5 และปีที่ 6 รวมทั้งให้บริการการสอนระดับปริญญาตรี ในวิชาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตแก่นักศึกษาอื่นๆและรับผิดชอบการสอนหลักสูตรระดับหลังปริญญาของคณะแพทยศาสตร์  โดยได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์พิเศษจากสถาบันสมทบของคณะแพทยศาสตร์ มาช่วยในการสอน และรับนักศึกษาแพทย์ไปปฏิบัติงานมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

     นอกจากนั้นหน่วยจิตเวชศาสตร์ยังให้การบริการ ทั้งด้านการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวช ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน บริการรับปรึกษาผู้ป่วยในจากภาควิชาอื่น และจากหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รวมทั้ง การบริการการทดสอบทางจิตวิทยาคลินิก และการบริการทางวิชาการ

     เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2523 หน่วยจิตเวชศาสตร์ ได้รับการจัดตั้งเป็นภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โดยมีอาจารย์ 2 ท่าน คือ รศ.พญ.ศรีธรรม ธนะภูมิ เป็นหัวหน้าภาควิชาและผศ.นพ.ณรงค์ สุภัทรพันธุ์  เป็นรองหัวหน้าภาควิชาฯ โดยมีสำนักงานและห้องตรวจผู้ป่วยนอก อยู่ที่อาคาร 1 ชั้น 2  จนต่อมา ได้ย้ายสำนักงานภาควิชาฯ ไปอยู่ที่อาคาร 3 ชั้น 7 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2525 และย้ายห้องตรวจผู้ป่วยนอกจิตเวช ไปอยู่ที่อาคาร 2 ชั้น 2 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 ต่อมาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ก่อตั้งอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวช อยู่ที่ชั้น 3 และเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2538

     ปัจจุบันภาควิชาจิตเวชศาสตร์  โรงพยาบาลรามาธิบดี รับผิดชอบการเรียนการสอนทั้งในระดับก่อนปริญญา ได้แก่ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4และระดับหลังปริญญา ได้แก่ การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ในสาขาจิตเวชศาสตร์ทั่วไป และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ด้านการบริการมีการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชเฉพาะด้าน ได้แก่ คลีนิกโรคสมองเสื่อม และ คลีนิกปัญหาการเรียนรู้ในเด็ก และมีนโยบายเปิดให้บริการคลีนิกเฉพาะด้านเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งการส่งเสริมการวิจัยด้านจิตเวชศาสตร์

 


รายนามหัวหน้าภาควิชา

เมษายน 2523-2531 - รศ.พญ.ศรีธรรม ธนะภูมิ

เมษายน 2531-2539 - รศ.นพ.ณรงค์ สุภัทรพันธุ์

เมษายน 2539-กันยายน 2545 - ศ.พญ.นงพงา  ลิ้มสุวรรณ

1 ตุลาคม 2545-31 สิงหาคม 2547 - ผศ.นพ.ธนา  นิลชัยโกวิทย์

16 กันยายน 2547-30 กันยายน 2553 - รศ.นพ.ชัชวาลย์  ศิลปกิจ

1 ตุลาคม 2553-ปัจจุบัน - ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล

 

ภาระงานหลักของภาควิชาฯ ประกอบด้วยงานด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านการศึกษา

      รับผิดชอบการเรียนการสอนรวม 4 หลักสูตร คือ

  • หลักสูตรจิตเวชศาสตร์สำหรับแพทยศาสตร์บัณฑิต
  • วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจิตเวชศาสตร์ (แพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์)
  • วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (แพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น)
  • หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตจิตเวชเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว

ด้านการวิจัย

        โดยอาจารย์ในภาควิชาฯ มีการศึกษาวิจัยทั้งด้านคลินิก ด้านจิต-สังคม และด้านอื่นๆ โดยมีผลงานเผยแพร่และตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ

ด้านการบริการ

        รับผิดชอบให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วย ณ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกให้การตรวจด้านจิตเวชทั่วไป และจิตเวชเด็กและวัยรุ่น การทำจิตบำบัด การทดสอบทางจิตวิทยา การให้คำปรึกษา ตลอดจนให้บริการทางวิชาการ ทั้งด้านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเลคทรอนิกส์ การบรรยายและแนะแนว แก่ครู ผู้ปกครองและนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ

       ภาควิชาฯได้มีการพัฒนาด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประชุมภาควิชาฯ ทุกวันศุกร์ สับดาห์ที่ 1 และ3 ของเดือน ประชุมเจ้าหน้าที่ทุก 6 สัปดาห์ในวันพุธ เพื่อให้บุคลากรทุกคนได้มีส่วนร่วม
ในการแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อให้มาซึ่งงานที่มีประสิทธิภาพ

 

ปรัชญา ปณิธาน

  • ด้านการศึกษา ภาควิชามีความมุ่งมั่นที่จะจัดหลักสูตรที่มีคุณภาพและสร้างบรรยากาศทางการศึกษาที่ดีเพื่อสร้างบุคลากรทางการแพทย์และสุขภาพจิตที่มีความรู้และทักษะเหมาะกับปัญหาจิตเวชและสุขภาพจิตของประเทศ
  • ด้านการบริการ ภาควิชาจะจัดบริการด้านจิตเวชและสุขภาพจิตอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
  • ด้านการวิจัย ภาควิชาจะพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องทั้งคุณภาพและปริมาณ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เหมาะสมกับปัญหาทางจิตเวชและสุขภาพจิตของประเทศ