งานห้องสมุด

  • งานห้องสมุด  ปรับเป็น  งานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้

 

ประวัติความป็นมา
พ.ศ. 2501 ก่อตั้งห้องสมุดโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2503 ก่อตั้งห้องสมุดวิทยาศาสตร์การแพทย์
พ.ศ. Visiting Librarian คนแรก Dr. Carroll F. Reynolds มาช่วยดำเนินกิจการห้องสมุด
พ.ศ. 2511 Visiting Librarian คนที่สอง Mr. James W. Barry มาช่วยดำเนินกิจการห้องสมุด
พ.ศ. 2512 เปลี่ยนชื่อเป็นห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมา ในวันที่ 2 มีนาคม 2512 ได้เปลี่ยนเป็นห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เปิดห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
พ.ศ. 2512 บรรณารักษ์ คนแรก เป็นหัวหน้าห้องสมุด คือ น.ส.โสมนัส ลัดพลี
พ.ศ. 2514 บรรณารักษ์ คนที่ 2 เป็นหัวหน้าห้องสมุด คือ น.ส. บุญทิวา กุลไพบูลย์
พ.ศ. 2518 บรรณารักษ์ คนที่ 3 ที่รักษาการหัวหน้าห้องสมุด คือ นางพรทิพย์ มัติกามัย
พ.ศ. 2519 บรรณารักษ์ คนที่ 4 เป็นหัวหน้าห้องสมุด คือ นางอัจฉรา แสงดีจริง
พ.ศ. 2545 บรรณารักษ์ คนที่ 5 เป็นหัวหน้าห้องสมุด คือ นางสมรักษ์ สหพงศ์

ในระยะเริ่มแรกเมื่อครั้งคณะ ฯ ยังเป็นโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ระยะแรก ห้องสมุดมีแต่หนังสือตำราในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับนักศึกษาปีที่ 1-2 เท่านั้น ต่อมาเมื่อคณะฯ จัดการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาเคมี ห้องสมุดจึงเริ่มมีวารสารและหนังสือตำราทางเคมีชั้นสูง เมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถนนศรีอยุธยา ห้องสมุดอยู่ในความดูแลของอาจารย์ภาควิชาภาษาต่างประเทศท่านหนึ่ง สถานที่ของห้องสมุดได้แบ่งเป็นสองห้องสมุดต่างหากจากกัน คือห้องหนึ่งสำหรับนักศึกษาปีที่ 1-2 เก็บหนังสือตำราวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งได้จัดหมู่ ไว้ตามระบบดิวอี้ อีกห้องหนึ่งสำหรับนักศึกษาแผนกเคมีปีที่ 3-4 เก็บวารสารและหนังสือตำราเคมีซึ่งไม่ได้จัดหมู่แต่อย่างใด เมื่อห้องสมุดย้ายมายังสถานที่ใหม่ที่ตึกคณะวิทยาศาตร์ปัจจุบันแล้วได้ย้ายสิ่งพิมพ์จากทั้ง 2 ห้องมารวมกัน ทำการจัดหมู่ใหม่ทั้งหมดโดยใช้ระบบ Library of Congress และ National library of Medicine Classification และจัดการเย็บเล่มวารสารเล่มปลีกซึ่งมีอยู่เดิม

เมื่อมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ได้ตกลงให้ความช่วยเหลือทางด้านโครงการการศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพจนถึงระดับปริญญาเอกแก่มหาวิทยาลัยมหิดลและรัฐบาลได้อนุมัติให้สร้างตึกทดลองวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสร้างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว จึงได้มีการพิจารณาว่าห้องสมุดเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้โครงการการศึกษาดังกล่าวบรรลุเป้าหมายได้ มูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์จึงให้ความช่วยเหลือเพื่อให้คณะทั้งสองมีห้องสมุดที่ดำเนินกิจการตามมาตรฐานสากล โครงการช่วยเหลือมี 3 ประการ คือ
          - จัดส่ง Visiting Librarian มาช่วยดำเนินงานห้องสมุด เป็นระยะเวลา 2 ปี
          - ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทแก่บรรณารักษ์
          - ให้เงินช่วยเหลือเพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในระยะเริ่มกิจการ ซื้อหนังสือรวมทั้งวารสารเล่มย้อนหลัง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนเหรียญ
เนื่องจากคณะวิทยาศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีสถานที่ตั้งอยู่ติดกัน และโครงการศึกษาของคณะทั้งสองก็สอดคล้องกัน คณบดีของทั้งสองคณะ ผู้แทนมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ และ Visiting Librarian จึงได้พิจารณาร่วมกันเมื่อมิถุนายน 2511 ให้คณะทั้งสองจัดดำเนินงานห้องสมุดเป็นแบบห้องสมุดร่วม โดยกำหนดให้ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์เป็น Main Library ของคณะทั้ง 2 เนื่องจากห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ ได้เปิดทำการก่อนตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ 2511 แต่ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีก่อสร้างเสร็จเปิดทำการได้ภายหลัง เมื่อ 3 พฤษภาคม 2512 การดำเนินกิจการห้องสมุดของคณะทั้งสองจึงได้ยึดถือนโยบายการดำเนินงานแบบห้องสมุดร่วมโดยตลอดมา

การบริหาร
          ห้องสมุดทั้งสองคณะมีบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ขึ้นตรงต่อคณบดีของตน บรรณารักษ์คณะวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่บรรณารักษ์คณะแพทยศาสตร์

การเงิน
       ห้องสมุดทั้งสองแห่งได้รับงบประมาณของตนเองจากคณะเจ้าสังกัด ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่จัดซื้อหนังสือตำรา วารสารทางวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ส่วนห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีทำหน้าที่จัดซื้อหนังสือตำรา วารสารทางการแพทย์สำหรับสิ่งพิมพ์ประเภทดรรชนีวารสาร สาระสังเขป สิ่งพิมพ์สำหรับใช้เป็นคู่มือการปฏิบัติงานห้องสมุดทั้งสองแห่งร่วมกันออกค่าใช้จ่ายฝ่ายละครึ่งของราคาแต่ละปี

การจัดหา
1. หนังสือ ทั้งสองแห่งจะจัดซื้อหนังสือตำราตามความต้องการของผู้ใช้ในคณะ ฯ ของตนโดยใช้งบประมาณของคณะ ฯ เจ้าสังกัด ก่อนสั่งซื้อจะตรวจสอบบัตรรายการที่ Main Library เสียก่อนถ้าสิ่งพิมพ์ที่ต้องการสั่งซื้อใหม่นั้นได้มีการสั่งซื้อไว้แล้ว หรือมีเล่มอยู่แล้ว ไม่ว่าเป็นของคณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ก็จะไม่ซื้อช้ำอีก
2. วารสาร ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้บอกรับ ทำหลักฐานการจ่ายเงิน รับเล่ม ลงทะเบียน ทวงเล่มวารสารทั้งสองห้องสมุดบอกรับ แต่ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี เป็นผู้จัดส่งเย็บเล่มที่ทางรามาธิบดีบอกรับเอง
3. การทำบัตรรายการ บรรณารักษ์ผู้ช่วยของห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีเป็นผู้ทำบัตรรายการหนังสือของห้องสมุดของตนโดยใช้คู่มือที่คณะวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้ดูแลจัดส่งเล่มไปไว้ที่ห้องสมุดรามาธิบดีที่ Main Library จะมีบัตรรายการทั้งหมดของหนังสือและวารสารของห้องสมุดทั้งสองแห่งส่วนที่ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดีจะมีบัตรวารสารของตนเอง และบัตรของหนังสือเฉพาะทางแพทย์เท่านั้น
4. การจัดเล่มขึ้นชั้น
          - หนังสือ หนังสือในหมวดทางการแพทย์จะจัดเก็บเล่มที่ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดีโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นหนังสือของคณะใด หนังสือนอกจากนั้นจัดขึ้นชั้นที่ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ วารสาร และหนังสือรายปีทางด้านแพทย์ที่ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดีบอกรับเฉพาะเล่มปีปัจจุบันและเล่มย้อนหลัง 5 ปี จัดขึ้นชั้นที่ห้องสมุดรามาธิบดี เล่มเก่ากว่านั้นจัดเก็บที่ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์
          - งานบริการ ผู้ใช้ห้องสมุดจากทั้งสองคณะฯ จะได้รับบริการจากห้องสมุดสองแห่งเสมือนเป็นห้องสมุดเดียวกัน ผู้ใช้มีบัตรยืมเพียงบัตรเดียวเพื่อยืมสิ่งพิมพ์ได้จากห้องสมุดทั้งสองแห่ง เนื่องจากสภาพของสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้เครียงกัน และโครงการการศึกษาของคณะทั้งสองซึ่งสอดคล้องกัน เป็นเครื่องอำนวยให้สามารถดำเนินกิจการห้องสมุดร่วมกันได้เป็นอย่างดี ห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์และห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดีจึงเป็นแหล่งสะสมสิ่งพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เหมาะสมจะให้บริการทางด้านงานค้นคว้าวิจัยแก่นักศึกษา และแก่ผู้ใช้จากคณะฯ อื่น ๆ ด้วย

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2524 ห้องสมุดทั้งสองแห่งได้ยกเลิกการเป็นห้องสมุดร่วมเป็นการปฎิบัติงานเทคนิคของห้องสมุดแต่ละแห่งเองแต่ยังคงให้ผู้ใช้ของทั้งสองแห่งใช้บริการร่วมกัน
ในปี พ.ศ. 2528 มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้งหอสมุดขึ้น มีศูนย์กลางการบริหารสำนัก ฯ อยู่ที่อาคารหอสมุด กลางศาลายา โดยให้โอนกิจการของห้องสมุดต่าง ๆ มาสังกัดสำนักหอสมุด
ในปี พ.ศ. 2531 ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ย้ายจาก อาคาร 1 ชั้น 2 มาอยู่ที่อาคารเรียนรวม ชั้น 5 โดยมีเนื้อที่มากกว่าเดิม 2.5 เท่าคือ 725 ตารางเมตร ซึ่งเป็นสถานที่ทำการในปัจจุบันนี้
ห้องสมุดได้เริ่มนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในงานห้องสมุดเมื่อ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2530 โดยนำฐานข้อมูล CD-ROM สาขาทางแพทย์คือ Medline เป็น Single User มาให้บริการและในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 อาจารย์สุชาติ สรณสถาพร ได้พัฒนาโปรแกรมระบบ ยืม- คืน ด้วยบาร์โค้ดขึ้นใช้ในห้องสมุดและนับได้ว่าเป็นห้องสมุดแห่งแรกในประเทศไทยที่นำระบบ ยืม – คืน ด้วยบาร์โค้ดมาใช้บริการ ห้องสมุดได้บอกรับฐานข้อมูล CD-ROM เพิ่มขึ้นและพัฒนาเป็นระบบ LAN และ Network
 ในปี พ.ศ. 2540 ห้องสมุดได้ร่วมใช้ระบบ INNOPAC กับห้องสมุดคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยมีสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นศูนย์กลาง โดยการบันทึกข้อมูลในขั้นต้นเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย รายงานการประชุมและผู้ใช้ห้องสมุดสามารถสืบค้นข้อมูลได้จาก OPAC (Online Public Access Catalog) ในวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ห้องสมุดได้ปรับเปลี่ยนระบบ ยืม – คืน จากระบบบาร์โค้ดมาเป็นระบบ INNOPAC อย่างเต็มตัวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฎที่ OPAC นอกจากนั้นได้บันทึกข้อมูลของวารสารและปรับปรุงให้มีข้อมูลที่ทันสมัยตรงกับปัจจุบันจนผู้ใช้ห้องสมุดสามารถสืบค้นได้สมบูรณ์ขึ้น

การบริหาร หัวหน้าห้องสมุดมีหน้าที่กำกับดูแลบุคลากรห้องสมุดโดยแบ่งออกป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
          กลุ่มที่ 1 สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยมหิดล กำกับดูแลข้าราชการ
          กลุ่มที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี กำกับดูแลลูกจ้างของคณะ ฯ

การเงิน ห้องสมุดได้รับเงินจากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้
          สำนักหอสมุด ประกอบด้วยเงินงบประมาณประจำปีและเงินรายได้สำนักหอสมุด
          คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ประกอบด้วยเงินงบประมาณประจำปีและเงินรายได้ของคระแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี

มูลนิธิรามาธิบดี ประกอบด้วยเงินทุนต่าง ๆ ที่มีผู้บริจาคให้ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี จำนวน 5 ทุน คือ
          ทุนเสริม บุญยะรัตเวช
          ทุนพานิช – พูนผล รัตนปราการ
          ทุนวชิราภรณ์  พลวัต เจณณวาสิน
          ทุนห้องสมุดคณะ ฯ
          ทุนโครงการพัฒนา CD ROM

เงินบริจาคจากหน่วยงานต่างประเทศ เช่น SEAMIC

การจัดหา
1. หนังสือ ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดีเป็นผู้จัดซื้อหนังสือตำราตามความต้องการของผู้ใช้ในคณะ ฯ โดยใช้เงินงบประมาณของสำนักหอสมุด และของคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี
2. วารสาร สำนักหอสมุดป็นผู้บอกรับให้ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดีตามที่ห้องสมุดได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจากสำนักหอสมุด วารสารบางชื่อที่สำนักหอสมุดให้ห้องสมุดงดรับเพราะเงินงบประมาณไม่พอทางคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดีจะเป็นผู้ออกค่าบอกรับให้

งานบริการ
ผู้ใช้ห้องสมุดมีบัตรยืมเพียงบัตรเดียวก็สามารถใช้ยืมสิ่งพิมพ์ได้จากห้องสมุดคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ห้องสมุดของคณะต่าง ๆ ในเครือมหาวิทยาลัยมหิดล
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ปรับโครงสร้างการบริหารของคณะฯ บางส่วนและเพื่อให้มีการบริหารทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ได้ตรงวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและมีประสิทธิภาพ จึงได้เปลี่ยนสถานะจากห้องสมุดเป็น งานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้ และมอบหมายให้รองคณบดีฝ่ายการศึกษามีหน้าที่รับผิดชอบดูแลกำกับ โดยมีโครงสร้างองค์กรประกอบด้วยหน่วยต่าง ๆ 4  หน่วย ดังนี้
          หน่วยบริหารทั่วไป
          หน่วยห้องสมุด
          หน่วยหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี
          หน่วยห้องปฏิบัติการทักษะทางคลินิก 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีแผนที่พัฒนางานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้ให้เป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่ทันสมัย โดยการบริหารจัดการด้วยการจัดหา จัดเก็บ รวบรวม ดำเนินการและให้บริการ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า งานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้มุ่งเป็นแหล่งทรัพยากรสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ทันสมัยในระดับสากล  และมีพันธกิจคือ จัดการสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อสนับสนุนการศึกษา การวิจัย การรักษาพยาบาลและบริการวิชาการอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและการให้บริการเชิงรุก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้อนุมัติให้งานบริหารทรัพยากรการเรียนรู้ย้ายไปที่อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์ และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และออกแบบตกแต่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งมีเนื้อที่ 1,800 ตารางเมตร เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 07.00- 20.00 น. วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.30 -16.30 น. ปิดทำการวันหยุดนักขัตฤกษ์