หน่วยเภสัชกรรม

  • หน่วยเภสัชกรรม  ปรับเป็น  ฝ่ายเภสัชกรรม

 

เมื่อโรงพยาบาลเริ่มเปิดบริการในเดือนพฤษภาคม  พ.ศ. 2512  หน่วยเภสัชกรรมได้ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอาคาร 1 มีเนื้อที่ใช้งานทั้งหมดเพียง 760 ตารางเมตร ต่อมาได้ขยายห้องจ่ายยาย่อยเพื่อบริการตามจุดตรวจต่างๆ ในโรงพยาบาลอีกหลายแห่ง

หน้าที่หลัก
จัดหายาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ในโรงพยาบาลให้เพียงพอ และควบคุมการใช้ยาให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพ
เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง และมีคุณค่าเกี่ยวกับเรื่องยาให้แก่แพทย์ พยาบาลผู้ป่วย และผู้เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษา
ติดตามผลการใช้ยาและร่วมในการควบคุมคุณภาพการรักษาพยาบาลในภาคที่เกี่ยวข้องกับยา โดยให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการต่าง ๆ ของ โรงพยาบาล

การดำเนินงาน
หน่วยเภสัชกรรม แบ่งส่วนงานเป็น งานบริการผู้ป่วย งานคลังเวชภัณฑ์ งานผลิตยา และงานธุรการ
งานบริการผู้ป่วย แบ่งเป็น การบริการผู้ป่วยนอกและการบริการผู้ป่วยใน แต่เดิมการบริการผู้ป่วยนอกและบริการผู้ป่วยในจะรวมอยู่ในห้องเดียวกัน แต่การจ่ายยาแยกจากกัน โดยแบ่งเนื้อที่ในห้องยาเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยนอก อีกส่วนหนึ่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยใน ผู้ป่วยจะนั่งรอรับยาตรงช่องหน้าต่างที่ตรงกับห้องจ่ายยาของผู้ป่วยที่มีป้ายเขียนบอกว่า เป็นส่วนของผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน เมื่อมีผู้ป่วยมารับยามากขึ้นก็เกิดความขลุกขลักในการจ่ายยา ผู้ป่วยบางรายเข้ารับยาผิดช่อง เพราะฟังเสียงเรียกชื่อสับสน ทำให้เกิดความผิดพลาดในการจ่ายยาบ่อยๆ

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2521 ได้มีการขยายห้องจ่ายยาผู้ป่วยในทั้งหมดแยกออกไปจากห้องจ่ายยาใหญ่ โดยได้แยก
- ห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน ชั้น 5 จ่ายยาให้กับผู้ป่วยในของภาควิชาศัลยศาสตร์และห้องผ่าตัด
- ห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน ชั้น 6 จ่ายยาให้กับผู้ป่วยในของภาควิชาสูติศาสตร์ –  นรีเวชวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา และภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
- ห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน ชั้น 7 จ่ายยาให้กับผู้ป่วยในของภาควิชาอายุรศาสตร์ และกุมารเวชศาสตร์

จากการที่ได้ขยายห้องจ่ายยาผู้ป่วยในไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ นี้ ทำให้ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ของหอผู้ป่วยมารับยาได้สะดวกรวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลารอรับยานาน และทำให้การจ่ายยามีความผิดพลาดน้อยลง
และในปีต่อ ๆ มา ได้มีการขยายห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกออกไปตามห้องตรวจของภาควิชาต่าง ๆ อีก 4 หน่วย โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับการขยายห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน ห้องยาผู้ป่วยนอกที่ขยายออกไปมีดังนี้
พ.ศ. 2523 ห้องจ่ายยาที่ โอ พี ดี จักษุ และ โอ พี ดี สูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
พ.ศ. 2524 ห้องจ่ายยาที่ โอ พี ดี หู คอ จมูก
พ.ศ. 2527 ห้องจ่ายยาที่ โอ พี ดี กุมารเวชศาสตร์

แผนกเภสัชกรรม มีนโยบายที่จะเพิ่มห้องจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ออร์โทปิดิกส์  และผู้ป่วยใน กุมารเวชศาสตร์ออกไปอีก เมื่อมีจำนวนบุคลากรและสถานที่เพียงพอเพราะทางแผนกเภสัชกรรมเห็นว่า การจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ควรจะแยกออกจากกัน เนื่องจากเด็กใช้ยาขนาดน้อยกว่าผู้ใหญ่ควรจะแยกออกจากกัน ถ้าจ่ายผิดไปจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้

งานคลังเวชภัณฑ์ แบ่งเป็นคลังยาและคลังเครื่องมือแพทย์ ซึ่งแต่เดิมอยู่รวมกันที่หน่วยเภสัชกรรมต่อมามียาและเครื่องมือแพทย์เพิ่มมากขึ้น จึงได้แยกหน่วยคลังเครื่องมือแพทย์ไปอยู่ที่ ชั้น 3 อาคาร 1 เมื่อ พ.ศ. 2527 ทำหน้าที่จ่ายเครื่องมือแพทย์และเครื่องมือพิเศษที่ผู้ป่วยต้องการใช้ให้แก่หอผู้ป่วยต่าง ๆ และห้องผ่าตัด

งานผลิตยา ให้บริการผลิตประเภทต่าง ๆ เพื่อให้มีเพียงพอ คิดค้นและแก้ไขปรับปรุงตำรับยาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีคุณภาพดี ทั้งยาที่ใช้รับประทาน ยาที่ใช้ทาภายนอก น้ำยาฆ่าเชื้อ ยาหยอดตา ยาหยอดหูและแอนติเจนสำหรับทดสอบภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่จะเพิ่มการผลิตยาฉีดและยาอื่นๆ ตามที่แพทย์ต้องการเพิ่มอีก แต่เดิมห้องล้างขวดอยู่ในห้องผลิตยา ทำให้ย้ายห้อง ล้างขวดไปอยู่ที่ชั้น  2 ของอาคาร 1 ซึ่งทำให้การนำขวดน้ำเกลือล้างแผลไปเข้าอบที่หน่วยจ่ายเครื่องใช้กลาง สะดวก ขึ้นอีกด้วย

งานธุรการ มีภาระที่ต้องรับผิดชอบดังต่อไปนี้คือ
3.1 งานสารบรรณและธุรการ ทำหน้าที่รับส่งเอกสาร โต้ตอบเอกสาร จัดเก็บแฟ้มเอกสาร พิมพ์เอกสาร อาทิ สลากยา คำอธิบายการใช้ยาและข้อควรระวังสำหรับแจกให้แก่ผู้ป่วย
3.2 งานการเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของบุคลากรในหน่วย ซึ่งจากปี พ.ศ. 2512 มีเภสัชกร 6 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ 4 คน ลูกจ้างชั่วคราว  4 คน จนถึงปี พ.ศ. 2529 บุคลากรของหน่วยเภสัชกรเพิ่มเป็น เภสัชกร 19 คน พยาบาล 1 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 6 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ 4 คน ลูกจ้างประจำในงบประมาณ 31 คน ลูกจ้างประจำนอกงบประมาณ 25 คน และลูกจ้างชั่วคราวนอกงบประมาณ 3 คน
3.3 งานด้านคลังเวชภัณฑ์ ทำหน้าที่ควบคุมสต็อกยาและเครื่องมือแพทย์
3.4 งานพัสดุ รับผิดชอบเรื่องการซื้อยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อบริการแก่ผู้ป่วย

การซื้อยาและเครื่องเวชภัณฑ์ของหน่วย มีงบประมาณที่ได้จาก
ก. เงินงบประมาณแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีมีมติให้ใช้เงินงบประมาณร้อยละ 60 ซื้อยาในบัญชียาหลักแห่งชาติจากองค์การเภสัชกรรม อีกร้อยละ 40 ให้ซื้อโดยตรงจากบริษัทห้างร้านผู้ผลิต หรือผู้แทนจำหน่ายได้ แต่ราคาต้องไม่สูงกว่าราคากลางที่กำหนดไว้
ข. เงินรายได้คณะฯ ให้ซื้อโดยวิธีสามัญในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท จากบริษัทห้างร้าน  หรือจากองค์การเภสัชกรรมก็ได้
ค. เงินอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยจากกระทรวงสาธารณสุขต้องใช้ซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม
ปัญหาการขาดยาหรือเครื่องมือแพทย์บางชนิดที่เกิดขึ้นในบางครั้ง มักจะมีสาเหตุมาจาก
ก. บริษัทผู้แทนจำหน่ายไม่มีของอยู่ในสต็อก ต้องรอสั่งจากต่างประเทศ
ข. ความล่าช้าของกระบวนการจัดซื้อที่ต้องผ่านองค์การเภสัชกรรม
ค. สถานที่ไม่เพียงพอที่จะเก็บยาเป็นจำนวนมากทำให้ต้องซื้อยาบ่อยๆ
ง. งวดเงินงบประมาณหมด

ที่ผ่านมาได้แก้ไขโดยตรงด้วยวิธีเร่งด่วนจากบริษัทโดยใช้เงินรายได้คณะฯ แต่ก็มิได้เป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น การซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมยังต้องกระทำอยู่ถึงร้อยละ 60 ของเงินงบประมาณแผ่นดิน การซื้อยาโดยผ่านองค์การเภสัชกรรมนี้นอกจากขั้นตอนมากทำให้ได้ยาช้า และประกอบกับสถานที่เก็บยามีเนื้อที่จำกัด จึงหมุนเวียนยาไม่ทันแล้วราคาจำหน่ายยังสูงกว่าสั่งซื้อโดยตรงจากบริษัทผู้จำหน่าย เมื่อแก้ไขต้นเหตุไม่ได้เพราะเป็นระเบียบของทางราชการก็จำเป็นต้องใช้เงินรายได้คณะฯ เป็นจำนวนไม่น้อยต่อปีเพื่อไม่ให้ยาขาดแคลน
แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดยา
คัดเลือกไว้เฉพาะรายการที่จำเป็นหรือทดแทนกันได้จะทำให้จำนวนยาที่ต้องเก็บน้อยลง มีเนื้อที่ที่จะเก็บยาที่ใช้บ่อยได้มากน้อย

แนวทางการพัฒนาหน่วยงาน
บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเภสัชวิทยาแก่บุคลากรทางการแพทย์
ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม และดำเนินงานด้านการจัดซื้อ จำหน่าย และสต็อก