หน่วยธุรการหอผู้ป่วย

  • หน่วยธุรการหอผู้ป่วย 

 

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงพยาบาล ผู้อำนวยการในสมัยแรกเห็นความจำเป็นที่ต้องมีเจ้าหน้าที่อีกระดับหนึ่งช่วยรับผิดชอบงานธุรการพยาบาลบนหอผู้ป่วย เพื่อพยาบาลจะได้มีเวลาให้บริการในวิชาชีพแก่ผู้ป่วยได้อย่างเต็มเวลา ในระยะนั้นมีหัวหน้าหน่วยงานรับผิดชอบ และคณะอาจารย์จากภาควิชาพยาบาลศาสตร์ร่วมร่างหลักสูตร และจัดอบรมเจ้าหน้าที่ให้ประมาณ 2 รุ่น หลังจากนั้นเมื่อรับเจ้าหน้าที่ใหม่ หัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะฝึกหัดงานให้เอง เรียกว่าเจ้าหน้าที่ธุรการหอผู้ป่วย หรือที่มักเรียกกันว่า Ward Clerk เป็นตำแหน่งลูกจ้าง ขึ้นตรงกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล การบริหารงานของหน่วยงานนี้ประสบปัญหาในการปกครองบังคับบัญชาโดยตลอด เพราะผู้ควบคุมและผู้ใช้งานไม่ใช่คนเดียวกัน ต่อมาเมื่อหัวหน้าหน่วยงานคนแรกลาออกเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น ผู้อำนวยการจึงมอบหน่วยงานนี้ให้อยู่ในความควบคุมดูแลของภาควิชาพยาบาลศาสตร์ ส่วนสายการบังคับบัญชายังคงขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลเช่นเดิม 

ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรการหอผู้ป่วยตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยให้เจ้าหน้าที่ธุรการหอผู้ป่วยแต่ละแผนกอยู่ในความดูแลของหัวหน้าภาควิชาพยาบาลแผนกต่าง ๆ มีการกำหนดหน้าที่ไว้ให้อย่างชัดเจน ปัญหาในการปกครองลดน้อยลง แต่มีปัญหาทางด้านความไม่มั่งคงในตำแหน่งทั้งนี้เพราะโอกาสปรับเป็นลูกจ้างประจำในงบประมาณได้จำนวนจำกัด เนื่องจากลักษณะงานไปซ้ำซ้อนกันกับตำแหน่งข้าราชการ

ที่ตั้ง
ในระยะต้นหน่วยธุรการหอผู้ป่วยอยู่รวมกับหน่วยธุรการ โอ พี ดี ต่อมาเมื่อแยกมาเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งจึงมีสำนักงานธุรการอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคาร 1 ติดกับ Coffee Shop อยู่ระหว่างหน่วยสังคมสงเคราะห์และห้องการเงินชั้นล่าง

หน้าที่รับผิดชอบ
-  จัดเตรียมฟอร์มปรอทสำหรับผู้ป่วยรับใหม่ กรอกข้อความป้ายชื่อผู้ป่วยชื่อผู้ป่วยพร้อมจดปรอด จดน้ำหนัก ส่วนสูง
-  เตรียมและเติมใบรายงานของผู้ป่วย 
-  จัดทำสมุดบันทึกประจำหอผู้ป่วย ลงชื่อในสมุดรับจำหน่ายผู้ป่วย 
-  เขียนใบเบิกพัสดุงานบ้าน วัสดุสำนักงาน และวัสดุแบบพิมพ์ 
-  เบิกและรับผ้า จากห้องผ้า 
-  เบิกยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์พร้อมเก็บเข้าที่ 
-  เขียนใบเบิกอาหารและติดต่อสั่งอาหารทางโทรศัพท์จากแผนกอาหาร 
-  เขียนและส่งใบซ่อมจากหน่วยซ่อมบำรุง 
-  ส่ง Specimen และตามผลการตรวจจากห้องทดลองและเก็บเข้าแฟ้ม
- ส่งผู้ป่วยและญาติไปพบนักสังคมสงเคราะห์ 
- ซื้อยาเงินเชื่อและพบสังคมสงเคราะห์ 
- เขียนใบแจ้งการรักษาให้ญาติไปชำระเงิน และไปคิดค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยในรายที่ไม่มีญาติมารับกลับบ้าน 
- เก็บรายงานผู้ป่วยที่จำหน่ายเข้าแฟ้มเวชระเบียน 
- รับ – ติดต่อโทรศัพท์กับหน่วยงานอื่น 
- ให้คำแนะนำแก่ญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับเวลาเยี่ยม