หน่วยสังคมสงเคราะห์

  • หน่วยสังคมสงเคราะห์  ปรับเป็น  งานสังคมสงเคราะห์

 

ปี พ.ศ. 2510 รักษาการคณบดี ( นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ) ได้รับนักสังคมสงเคราะห์ 1 ตำแหน่ง คือ คุณพรทิพย์ จิตรธร และได้ส่งไปประจำอยู่ที่หน่วยสังคมสงเคราะห์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อดูงานและฝึกงานจนกว่าจะเปิดโรงพยาบาลในปี พ.ศ. 2512 เดิมสำนักงานของหน่วยมี 2 แห่ง คือ ที่ชั้น 1 อยู่ติดกับห้องโทรศัพท์กลาง ปัจจุบันใช้เป็นแผนกเภสัชกรรม และที่ชั้น 2 ขณะนี้เป็นโอพีดี กุมารเวชศาสตร์ ต่อมา พ.ศ.2518 ได้ย้ายจากชั้น 1 และชั้น 2 ไปอยู่ที่ชั้น 5 ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นภาควิชาวิสัญญี ต่อมาผู้บริหารได้เห็นปัญหาว่าผู้ป่วยขึ้นไปติดต่อลำบากมาก จึงให้ย้ายลงมาอยู่ชั้น 1 แทนที่ทำการชั่วคราวธนาคารไทยพาณิชย์  สาขารามาธิบดี ติดกับ Coffee shop และคงจะไม่ต้องย้ายอีกแล้ว เพราะที่นี้เป็นศูนย์กลางของตึกซึ่งผู้ป่วยหาง่ายและสะดวก
งานสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ คือการให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ให้พ้นจากปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ สังคม อารมณ์ และจิตใจ ที่ผู้ป่วยกำลังประสบอยู่ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง และปัญหานั้น ๆ เป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาล

วัตถุประสงค์ของการสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ คือ
เพื่อช่วยบุคคลที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ อนามัยหรือปัญหาอื่น ๆ ที่มีผลต่อความเจ็บป่วย ให้ยอมรับในปัญหาของตนเอง และพร้อมที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับปัญหานั้น ๆ ได้
เป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างแพทย์พยาบาล รวมทั้งบุคลากรทางด้านการแพทย์อื่น ๆ กับผู้มาขอรับบริการ
เนื่องจากงานสาธรณสุขในปัจจุบัน มีการใช้ผู้ชำนาญหลายสาขาวิชาชีพ อาจทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการติดต่อขอรับบริการ นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์จะต้องช่วยเหลือแก้ปัญหา และเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความเข้าใจเพื่อก่อความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันทุกฝ่าย
เพื่อพัฒนาบุคคลทางสุขภาพอนามัยให้รู้จักช่วยตัวเอง และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้กลับคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ตลอดจนสามารถปฏิบัติหน้าที่ในสังคมของตนเองต่อไป
การดำเนินงาน
เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ หรือด้านจิตใจ แพทย์จะเป็นผู้ส่งผู้ป่วยมารับบริการทางการสงเคราะห์ที่หน่วยสังคมสงเคราะห์ ซึ้งมีทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นักสงคมสงเคราะห์จะรับผิดชอบให้การสงเคราะห์ตามที่ได้รับมอบหมาย ให้การช่วยเหลือเป็นเฉพาะรายตามแต่งฐานะทางด้านเศรษฐกิจ และปัญหาของผู้ป่วยนั้น  โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
การซักประวัติ เพื่อหาข้อมูลและสาเหตุของปัญหาที่ผู้ป่วยประสบอยู่ ในการหาข้อมูลนั้นจะหาข้อมูลทางด้านครอบครัว เศรษฐกิจ ตลอดจนทางอารมณ์ และจิตใจ เพื่อนำมาพิจารณาในการประกอบการให้ความช่วยเหลือ
ติดตามเยี่ยมบ้าน เพื่อทราบข้อเท็จจริงสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ เพื่อนำมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือ นอกเหนือจากปัญหาเฉพาะหน้าที่ให้การสงเคราะห์ไปแล้ว หรือติดตามผลหลังจากให้การสงเคราะห์เรียบร้อยแล้ว การให้ความช่วยเหลือ จะให้ตามสภาพปัญหาและฐานะทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละบุคคล เพราะผู้ป่วยแต่ละรายมีปัญหาไม่เหมือนกัน

การให้การสงเคราะห์ มีหลายรูปแบบ ได้แก่
1. การให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหาต่าง ๆ เช่น ทางด้านเศรษฐกิจครอบครัว จิตใจ รวมทั้งระเบียบ และ กฏเกณฑ์ในการให้บริการของโรงพยาบาล
2. การให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาล เช่น ค่ายา ค่าวิเคราะห์โรคต่าง ๆ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยใน การให้ความช่วยเหลือจะพิจารณาตามฐานะทางด้านเศรษฐกิจและครอบครัวของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น
ก.  เชื่อค่ารักษาในกรณีที่เตรียมเงินมาไม่พอ แต่สามารถชำระได้บ้างบางส่วน
ข.  ให้มาผ่อน ชำระค่ารักษาเป็นงวด ๆ ตามกำลังความสามารถ โดยให้ผ่อนทั้งหมด หรืออาจผ่อนชำระได้เพียงบางส่วน หรืออาจผ่อนชำระได้เพียงครึ่งหนึ่งของค่ารักษาพยาบาล
ค.  สงเคราะห์ค่ารักษา ให้ทั้งหมด
3. นอกจากการสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ที่จำเป็นอีก เช่น หาทุนประกอบอาชีพ สงเคราะห์ค่าพาหนะ เสื้อผ้า อาหารกระป๋อง แป้งนม ตลอดจนทรัพยากรที่เหมาะสมกับปัญหา และความต้องการของผู้ป่วย
4. ติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกทั้งของรัฐ และเอกชน เช่น สถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ของกรมประชาสงเคราะห์ รายที่ผู้ป่วยถูกญาติทอดทิ้งไว้ในโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยบางรายถึงแก่กรรมไปแล้ว ญาติมีปัญหาเรื่องศพ ก็จะติดต่อขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิปอเต็งตึ้งเรื่องการฌาปนกิจศพให้เรียบร้อย
 สรุปแล้วหน่วยสังเคราะห์ได้ให้การช่วยเหลือตั้งแต่ด้านผู้ป่วยเอง ตลอดจนครอบครัวของผู้ป่วย ตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั้งเสียชีวิตไปแล้ว
นอกจากการสงเคราะห์ผู้ป่วยตามที่กล่าวข้างต้นนี้นักสังคมสงเคราะห์ยังมีหน้าที่เกี่ยวกับงานวิชาการ และงานวิจัย เช่น การจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์ การศึกษาวิจัย เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจสังคมของผู้ป่วย การสอบการฝึกงานแก่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ส่งมา และบรรยายวิชาสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ในสถาบันที่ได้เชิญมา การบรรยายเกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลแก่ผู้ที่มาดูงาน ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

บุคลากร
เมื่อเริ่มเปิดโรงพยาบาล ได้มีนักสังคมสงเคราะห์ 2 คน ในหน่วย พร้อมทั้งมีอาสาสมัครมาช่วยทำงาน ทำให้งานมีความคล่องตัวดีมาก ต่อมาผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้ปรับปรุงขยายอัตรากำลังมีนักสังคมสงเคราะห์เพิ่มขึ้นปีละ 2 คน ขณะนี้มีนักสงคมสงเคราะห์ 12 คน แบ่งงานเป็นสงเคราะห์ผู้ป่วยทางฝ่ายกาย 10 คน และฝ่ายจิต 2 คน และเสมียนพนักงาน 5 คน

งบประมาณ
งบประมาณในทางให้การสงเคราะห์ผู้ป่วยโรงพยาบาลรามาธิบดี
งบประมาณที่ทางกระทรวงสาธารณสุขให้แต่ละปี
เงินบริจาคมูลนิธิรามาธิบดี เป็นประจำเดือนช่วยทางด้านค่ารักษาพยาบาล
เงินบริจาคจากมูลนิธิปอเต็งตึ้ง เป็นประจำเดือนช่วยเกี่ยวกับเรื่องค่าพาหนะ ค่าครองชีพ
ขอรับบริจาคจากผู้ใจบุญ และมูลนิธิเอกจนทั้งในรูปของเงิน และสิ่งที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล เช่น เก้าอี้ รถเข็น ไม้ค้ำยัน เสื้อเกราะ ขาเทียม ตลอดจนเครื่องอุปโภค บริโภคต่าง ๆ เสื้อผ้า แปรงสีฟัน รองเท้า ข้าวสาร อาหาร กระป๋อง

ในแง่นโยบายที่ได้พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอโดยเฉพาะการพยายามหาเงินบริจาคเพิ่มขึ้น จากผู้มีจิตศรัทธา และมูลนิธิปอเต็งตึ้ง มูลนิธิรามาธิบดี กระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยค่ารักษาพยาบาล แก่ผู้ป่วยรายได้น้อยเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล ตลอดจนการกำหนดวิธีการให้การช่วยเหลือให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น การให้บริการแก่ผู้ป่วยมีจำนวนทวีขึ้นตามลำดับทั้งจำนวนเงิน และจำนวนผู้ป่วย เป็นที่น่าแปลกใจมากที่จำนวนร้อยละของผู้ป่วยต่างจังหวัดกับผู้ป่วยในกรุงเทพมีจำนวนเป็นครึ่งต่อครึ่งมาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบันนี้ นับว่าผู้ป่วยต่างจังหวัดมีความศรัทธาต่อโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นอย่างมาก