ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

 

         ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา เริ่มดำเนินการพร้อมกับการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (พ.ศ. 2508) โดยรวมอยู่กับภาควิชาจักษุวิทยา ในชื่อ "ภาควิชาจักษุวิทยาและวิทยาโสต นาสิก ลาริงซ์" ประกอบด้วย 2 หน่วยใหญ่ คือ หน่วยจักษุวิทยา และหน่วยวิทยาโสต นาสิก ลาริงซ์ โดยในทางปฏิบัติ มีการบริหารแยกจากกัน มาตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งในด้านการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน และการบริการผู้ป่วยทั้งด้านการตรวจร่างกายและการผ่าตัด ซึ่งหน่วยวิทยาโสต นาสิก ลาริงซ์ เริ่มฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาวิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 (ก่อนโรงพยาบาลเปิดอย่างเป็นทางการ 2 ปี) ส่วนด้านการบริการผู้ป่วยนั้น หน่วยวิทยาโสต นาสิก ลาริงซ์ ได้เปิดคลินิก "โสตสัมผัสและการพูด" เพื่อให้บริการด้านการตรวจวินิจฉัยการได้ยินและการพูด นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ ซึ่งได้พัฒนาจนเปิดเป็นหลักสูตรความผิดปกติของการสื่อความหมาย ในระดับมหาบัณฑิต ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ใน ปี พ.ศ. 2520 หน่วยวิทยา โสต นาสิก ลาริงซ์ ดำเนินการขอแยกเป็นภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา และได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้แยกออกจากภาควิชาจักษุวิทยาและวิทยาโสต นาสิก ลาริงซ์ เป็น "ภาควิชาโสตนาสิก ลาริงซ์วิทยา" เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา"

 

ภาระงานหลักในปัจจุบันของภาควิชาฯ ประกอบด้วยด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านการศึกษา รับผิดชอบการเรียนการสอนรวม 5 หลักสูตร คือ

1.1 แพทยศาสตรบัณฑิต รายวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

1.2 ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงทางการแพทย์คลินิก สาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา (ปัจจุบันปิดปรับปรุงหลักสูตร)

1.3 หลักสูตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา (แพทย์ประจำบ้าน)

1.4 หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย (ปริญญาโท)

1.5 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย (ปริญญาตรี)

1.6 หลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอนุสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า

2. ด้านการวิจัย คณาจารย์ของภาควิชาฯ ทำการศึกษาวิจัยทั้งด้านคลินิกและวิทยาศาสตร์พื้นฐาน โดยมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ

3. ด้านการบริการ รับผิดชอบให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วย ณ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกคลินิกโสตสัมผัสและแก้ไขการพูด หน่วยห้องผ่าตัด และหน่วยผู้ป่วยใน

4. ด้านบริการวิชาการ มุ่งเน้นให้บุคลาการทางการแพทย์ได้เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการทั้งภายในและภายนอกคณะฯ และให้ความรู้ด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา ผ่านทางสิ่งพิมพ์

วิทยุ โทรทัศน์ และให้บริการแก่ประชาชน สังคม ชุมชน ของประเทศ

5. ด้านสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนให้บุคลากรในภาควิชาฯ มีส่วนร่วมในงานสร้างเสริมสุขภาพและศิลปวัฒนธรรมทำนุบำรุงศาสนาและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักศึกษา

 

       ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ได้พัฒนางานทุกด้านอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมอาจารย์ทุกสัปดาห์ และการประชุมทีมนำทางคลินิกทุกเดือน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงงานและแก้ไขปัญหาต่างๆ และสนับสนุนบุคลากรทุกคนให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ซึ่งจะเป็นผลให้การปฏิบัติงานราบรื่น มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

 

หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชิต ชีวเรืองโรจน์

รองหัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธงชัยพงศ์มฆพัฒน์

รายนามอาจารย์แพทย์ผู้ก่อตั้งภาควิชาฯและอาจารย์ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งภาควิชาฯ

 

1. อาจารย์จีระ ศิริโพธิ์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

หัวหน้าหน่วยโสต ศอ นาสิกวิทยา ก่อนแยกจากภาควิชาจักษูวิทยา

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2523

2. ศาสตราจารย์พูนพิศ อมาตยกุล หัวหน้าภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 - 2528

3. รองศาสตราจารย์ประพจน์ คล่องสู้ศึก หัวหน้าภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 - 2535

4. ศาสตราจารย์บุญชู กุลประดิษฐารมณ์ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535- 2543

5. ศาสตราจารย์สมยศ คุณจักร หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 - 2548

6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชิต ชีวเรืองโรจน์ หัวหน้าภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา

ตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 - 18 พฤษภาคม 2556