พัสดุกลาง

หน่วยพัสดุกลาง เดิมแบ่งเป็น 2 แห่ง แห่งแรกเป็นคลังใหญ่และธุรการตั้งอยู่ที่อาคาร 1 ชั้นหนึ่ง ใต้แผนกอาหารและโภชนาการ ตรงข้ามกับหอพักพยาบาล 3 มีพื้นที่ 765 ตารางเมตร และอีกแห่งอยู่ที่ชั้น 3 ของอาคารหนึ่ง ข้างหน่วยทำความสะอาด โดยขอยืมห้องของหน่วยทำความสะอาด 2 ห้อง เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานและเก็บครุภัณฑ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 หน่วยซ่อมบำรุง ซึ่งแต่เดิมอยู่ตรงข้ามกับหน่วยพัสดุกลางได้ย้ายไปอยู่ชั้นล่างของอาคาร 3 สถานที่ดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 280 ตารางเมตร หน่วยพัสดุกลางจึงได้ใช้เป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ครุภัณฑ์และเก็บครุภัณฑ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับขณะนี้ได้มีหน่วยงานและภาควิชาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณครุภัณฑ์ที่มีอยู่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีปัญหาเรื่องที่เก็บครุภัณฑ์เก่าและครุภัณฑ์ที่สำรองไว้ เพื่อใช้ในการสับเปลี่ยน

 

การก่อสร้าง พื้นคลังพัสดุกลางเป็นบริเวณที่ต้องรับน้ำหนักมาก เพราะการต้องใช้เก็บวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงพยาบาล เช่น กระดาษต่างๆ ทำให้พื้นที่ทรุดเป็นแอ่งตรงกลาง จากเหตุดังกล่าวทำให้ผนังบางแห่งแตกร้าว และชั้นวางของต่างๆ ที่มีอยู่ในคลังเอียง ทางหน่วย ฯ จึงต้องซ่อมพื้นถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 ซ่อมด้านทิศตะวันตกด้านติดกับถนนด้านหลังโรงพยาบาล และต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ทั้งได้ปรับปรุงห้องทำงานธุรการทั้งหมด และทำห้องสำหรับพิมพ์งานระบบออฟเซทใหม่ด้วย

 

หน้าที่หลัก

 

สำรองเบิกจ่ายวัสดุบ้าน วัสดุสำนักงาน วัสดุแบบพิมพ์ วัสดุเกี่ยวกับไฟฟ้า ประปา ก่อสร้างยานยนต์ และโรเนียว ที่หน่วยงานและภาควิชาต่าง ๆ ของคณะฯ จำนวน 116 หน่วยงาน มีความจำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน

1.1 จัดซื้อและจัดจ้าง สอบราคา วัสดุไฟฟ้า วัสดุประปา ก่อสร้าง ยานยนต์ และโรเนียว เพื่อสำรองในคลังวัสดุ

 

1.2 ทำสถิติและสำรวจการใช้กระดาษของห้องโรเนียวเป็นประจำเดือนละ 2 ครั้ง

 

1.3 ทำเรื่องสอบราคา และประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์ต่าง ๆ ของหน่วย ฯ

 

1.4 ลงบัญชีคุมวัสดุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในคลังพัสดุกลางทั้งหมด

 

1.5 ลงทะเบียนคุมการเบิกจ่ายวัสดุต่าง ๆ เป็นประจำทุกเดือน

 

1.6 รวบรวมรายการ และจำนวนวัสดุต่าง ๆ ที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำส่งหน่วยจัดซื้อเข้ามาสำรองในคลังเป็นประจำทุกเดือน

 

2. พิมพ์แบบฟอร์มต่าง ๆ ของวัสดุแบบพิมพ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลเกี่ยวกับรายละเอียดของคนไข้และการปฏิบัติงานของบุคลากรโรงพยาบาล

 

3. พิมพ์และอัดสำเนาข้อความ และเอกสารการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ ที่มีอยู่ในคณะฯ ตลอดจนแบบฟอร์มต่าง ๆ ที่ใช้เกี่ยวกับงานธุรการ และการจัดซื้อจัดจ้าง

 

4.ควบคุมบัญชีครุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหน่วยงานและภาควิชาต่าง ๆ ของคณะฯ

 

5.รับจ่ายครุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในคณะ ฯ

 

6.ควบคุมรหัสของครุภัณฑ์ทั้งหมดของคณะ

 

7.ส่งซ่อมครุภัณฑ์ที่ชำรุด

 

8.จำหน่ายครุภัณฑ์ที่หมดสภาพการใช้งาน

 

9.ทำสถิติการใช้จ่ายวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้เป็นประจำเดือนและประจำปี

 

10.ทำสถิติการใช้กระดาษของหน่วยงาน และภาควิชาต่าง ๆ ของคณะ ฯ

 

11.รับคืนครุภัณฑ์ที่หมดสภาพใช้งาน เพื่อจะจำหน่ายต่อไป

 

การดำเนินงาน

 

ทางหน่วย ฯ ได้คิดหาวิธีจะปรับปรุงนโยบายของคณะ ฯ ในแง่การประหยัด โดยการพิมพ์แบบพิมพ์ใช้ในโรงพยาบาลเองเป็นบางส่วน จากความคิดนี้ทำให้สามารถประหยัดเงินของคณะ ฯ ได้เป็นจำนวนมาก

 

เกี่ยวกับงานพิมพ์ออฟเซท

 

มีความเป็นมาดังนี้ คือ แต่เดิมหน่วยพัสดุกลางมีเครื่องพิมพ์ออฟเซทเก่าที่ได้รับบริจาคจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งได้รับบริจาคมาเป็นเวลานานแล้ว ต่อมาประมาณเดือนกันยายน พ.ศ.2524 นายแพทย์รัชช สมบูรณ์สิน ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายช่างในสมัยนั้นได้เห็นเครื่องนี้จึงได้เสนอผู้อำนวยการขอทำการซ่อม เป็นเงิน 18,900 บาท และได้เริ่มใช้เครื่องนี้พิมพ์แบบฟอร์มใช้เอง ใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2524 ทางหน่วย ฯ ได้รับช่างพิมพ์ 1 คน เป็นลูกจ้างชั่วคราว โดยเริ่มพิมพ์ 3 รายการก่อนในเดือนแรกต่อมาได้พิมพ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แบบพิมพ์ที่ทางหน่วย จัดพิมพ์ปกหนังสือต่าง ๆ ของภาควิชา ต่อมาปริมาณงานทางด้านการพิมพ์ได้เพิ่มมากขึ้น จนเครื่องพิมพ์ดังกล่าวรับงานไม่ไหว ทางหน่วย ฯ จึงขออนุมัติซื้อเครื่องออฟเซทใหม่อีก 1 เครื่องในปี พ.ศ. 2528 ต่อมาในเดือนเมษายน 2528 ผู้อำนวยการมีดำริให้หน่วยพัสดุกลางดำเนินการพิมพ์ใบสั่งยาคนไข้นอกใช้เอง ซึ่งทางหน่วยพัสดุกลางก็ได้ทดลองทำ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี และสามารถประหยัดเงินของคณะ ฯ ได้เล่มละ 18.50 บาท ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2529 เครื่องเก่าซึ่งได้รับบริจาคมานั้นได้เสียลงพร้อมหมดสภาพไม่สามารถซ่อมได้ ไม่มีอะไหล่ และส่วนที่เสียนั้นก็ไม่สามารถจะเอาอะไหร่ของยี่ห้ออื่นมาทดแทนได้ ทางหน่วย ฯ จึงมีความจำเป็นต้องขออนุมัติซื้อเครื่องออฟเซทใหม่อีก 1 เครื่อง เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ผู้อำนวยการ (นายแพทย์สุชาติ อินทรประสิทธิ์) ได้ให้หน่วย ฯ ดำเนินการจัดพิมพ์คูปองอาหารของพยาบาลใช้เอง สามารถประหยัดเงินได้เล่มละ 2.30 บาท คูปองใช้เดือนละประมาณ 870 – 878 เล่ม ซึ่งทำให้ประหยัดเงินลงได้อีกประมาณปีละสองหมื่นห้าพันบาท

 

แบบพิมพ์ที่พิมพ์ใช้เอง มีดังนี้

 

งานทั่วไป 11 รายการ

งานใบสั่งยาคนไข้นอกปีละ 5,485 เล่ม/ปี

ใบสั่งยา สีชมพู 148 รีม / ปี

ใบแจ้งการรักษาทันตกรรม

แบบพิมพ์ที่ใช้กับคนไข้เป็นจำนวน 61 รายการ

งานพิมพ์พิเศษ (ปกหนังสือและวารสาร บทความ ใบปลิว สติกเกอร์ รายงานสถิติทั่วไป จุลสาร แผนผัง การเดินรถ ฯลฯ) ประมาณ 22-25 รายการ เป็นประจำ

การประหยัดอีกประการที่น่าจะทำได้คือ ควบคุมการจ่ายวัสดุที่เบิกใช้ในทุกหน่วยงานให้รัดกุม ซึ่งทั้งนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายผู้เบิกตามความจำเป็นอย่างดีจึงจะกระทำได้ต้องให้ผู้เบิกเข้าใจว่าเบิกตามความจำเป็นที่จะใช้งานจริงเท่านั้นไม่ใช้ไปสร้างสต็อกย่อยตามภาควิชาหรือหน่วยงานขึ้นอีกแห่งหรือเบิกทุกรายการที่มีสิทธ์โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ในแง่ของครุภัณฑ์ หน่วยพัสดุกลางได้รับครุภัณฑ์ที่เสีย หรือเสื่อมสภาพ หรือนิยมใช้แล้วส่งคืนมาเป็นจำนวนมาก หากได้พิจารณาเหตุของการเสียหรือเสื่อมสภาพและหาป้องกันไว้บ้าง ความเสียหายก็จะเกิดช้าลง และปริมาณจะลดลงด้วย เช่น การหยอดน้ำมันพัดลม หรือปิดให้มีเวลาพักบ้างเป็นต้น

 

ส่วนครุภัณฑ์ที่ส่งคืนเนื่องจากหมดความนิยม แต่สภาพของยังดีอยู่ ไม่มีเหตุผลเพียงพอในการตัดยอดครุภัณฑ์ การจำหน่ายจ่ายแจกก็ทำได้ยาก ผู้ซื้อควรคำนึงถึงการใช้งานได้ระยะยาวของครุภัณฑ์นั้น ๆ ด้วย