ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2555 ที่ผ่าน หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล ให้สัมภาษณ์เพื่อจัดทำประวัติศาสตร์คำบอกเล่า (Oral History) ท่านที่ 31 ในโครงการจัดทำประวัติศาสตร์คำบอกเล่า หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี โดยมีหลักในการจัดการสัมภาษณ์ โดยผู้ที่ให้การสัมภาษณ์และผู้สัมภาษณ์ประกอบวิชาชีพอยู่ในวิชาชีพเดียวกัน และในโอกาสเดียวกันนี้ ทางหอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีก็ได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์อร่าม โรจนสกุล ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้สัมภาษณ์

คณะทำงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ได้เดินทางไปถึงภายในบริเวณบ้านพักบรรยากาศแสนร่มรื่น แวดล้อมไปด้วยพันธุ์ไม้และมีสุนัขตัวเล็กๆ จำนวนหนึ่ง บ้านหลังนี้เป็นที่พักอาศัยของปูชนียาจารย์ทางด้านโลหิตวิทยาของไทย ท่านเป็นผู้ก่อตั้งและริเริ่มงานทางด้านโลหิตวิทยาในหลายๆ โรงพยาบาลและสถาบันการศึกษา อาทิ โรงพยาบาลภูมิพล กองทัพอากาศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กองทัพบก โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เป็นต้น และวันนี้เราจะได้รู้จักและรับทราบประวัติคำบอกเล่าจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล ซึ่งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีได้สรุปความบางส่วนที่สำคัญและน่าสนใจมานำเสนอ ดังต่อไปนี้

 

ในเบื้องต้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล ซึ่งในที่นี้ ขออนุญาตเอ่ยถึงท่านด้วยความเคารพว่า ท่านอาจารย์ถนอมศรีท่านให้กรุณาเล่าประวัติในช่วงเยาว์วัยของท่านให้เราได้ทราบว่า ท่านเป็นนักอ่านตัวยงอ่านหนังสือมาตั้งแต่อายุ 13 ปี ท่านมีนักเขียนที่ท่านชื่นชอบ เช่น ก.สุรางคนางค์ ดอกไม้สด เป็นต้น ท่านสนใจในวิชาประวัติศาสตร์ ท่านชอบอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ในส่วนตัวท่านเองชอบทั้งในทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากท่านเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข และชอบทางอักษรศาสตร์ จากความเป็นนักอ่านนวนิยายและหนังสือประวัติศาสตร์ และจากความที่ชื่นชอบทั้งสองสาขาวิชานี้เองทำให้ท่านลำบากใจในการตัดสินใจว่าจะเรียนต่อในระดับปริญญาในสาขาใดดี จนกระทั้งได้นำเรื่องนี้ปรึกษาคุณพ่อของท่าน คือ นายสุนทร ศรีชัยกุล คุณพ่ออยากให้ลูกเป็นแพทย์หรือเภสัชกร จึงตัดสินใจเรียนแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในปี 2493 ในช่วงระยะเวลาที่ท่านได้ศึกษาที่ศิริราชนี้เอง ท่านได้รับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติในสมเด็จพระบรมราชชนก หรือในสมัยนั้น เอ่ยพระนามเป็นการลำลองว่า สมเด็จพระราชบิดาทำให้ท่านมีความมุ่งมั่นในการที่จะเป็นครูแพทย์ที่ดี เพื่อตามรอยพระบาทในสมเด็จพระราชบิดาให้จงได้ ประกอบกับท่านได้รับคำอบรมสั่งสอน จากคุณพ่อว่า ให้พึ่งพาตนเองท่านจึงมีความมุมานะในการเรียนวิชาชีพแพทย์อย่างตั้งใจและเรียนรู้ด้วยตนเอง ในรูปแบบ “Active Learning”

โดย อาจารย์ได้รับการสอนจาก คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบบทางเดินอาหารของประเทศไทย เช่น ศ.นพ.ประเสริฐ กังสดาลย์ ศ.นพ.วีกิจ วีรานุวัตติ์ ศ.เกียรติคุณ คุณสุภา ณ นคร เป็นต้น เมื่อเรียนจบเฉพาะทางแล้วอาจารย์ได้มีโอกาสไปรับราชการ เป็นแพทย์ทหารอากาศโดย เป็นผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการโลหิตวิทยาและคลังเลือด โรงพยาบาลภูมิพล โดยอาจารย์ได้เริ่มต้น ชีวิต การเป็น ครูแพทย์ที่โรงพยาบาลภูมิพลแห่งนี้ เป็นระยะเวลา 12 ปี จากนั้น จึงย้ายมาทำงานเป็นครูแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (พ.ศ. 2510)

 

ซึ่งในปีที่อาจารย์ ได้ย้ายเข้ามาในรามาธิบดีนั้น อาจารย์ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า ยังเหลือเวลาอีก 1 ปี กว่าที่ โรงพยาบาลรามาธิบดีจะเปิดดำเนินการ อาจารย์ได้มีโอกาสไปศึกษาเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้และประสบการณ์ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี โดยอาจารย์ตั้งใจไว้ว่า จะกลับมาเพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านโลหิตวิทยาของไทยเราให้ได้จึงเป็นผลให้ผู้เชี่ยวชาญที่อมริกาได้มองเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของอาจารย์ จึงถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้อาจารย์อย่างเต็มที่

 

ในช่วงแรกที่อาจารย์ได้มาเริ่มทำงานในรามาธิบดี ได้ประสบปัญหาในเรื่องของสถานที่ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นห้องพัก หรือการสร้างห้องปฏิบัติ เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดแต่ในที่สุดปัญหานี้ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี พร้อมกับมีผู้ใจบุญและเล็งเห็นความตั้งใจจริงของอาจารย์ บริจาคเงินเพื่อซื้อเครื่องปรับอากาศให้ห้องปฏิบัติทางโลหิตวิทยาที่อาจารย์ได้จัดตั้งขึ้น

 

นอกจากบทบาทครูแพทย์ที่มีหน้าที่ในการสอนแล้ว อาจารย์ยังมีข้อคิดดีๆ ที่พร้อมฝากให้ นักศึกษาแพทย์ในชั้นเรียนที่อาจารย์เป็นผู้สอนอีกด้วย เช่น อย่าปล่อยให้คนไข้ทนทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย” “การทำหน้าที่แพทย์ต้องทำให้เต็มที่และทำให้ได้ดี พร้อมกับทำหน้าที่นั้นไปตลอดอย่างต่อเนื่อง” “หมอที่ดีจะไม่รวยและไม่จน” “คนไข้จะต้องได้รับความรัก ความเมตตาและสบายใจตราบจนวาระสุดท้ายสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่อาจารย์เน้นย้ำทุกครั้งที่อาจารย์ทำหน้าที่ครูแพทย์ในรามาธิบดีแห่งนี้

 

ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ อาจารย์ได้กล่าวถึง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” ในช่วงนั้น นักศึกษาของรามาธิบดีมีบทบาทเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลรามาธิบดีก็ทำหน้าที่ในการปฐมพยาบาลให้การรักษาเบื้องต้น รับผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลให้ทันท่วงที ต่อเนื่องมาถึง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ในขณะนั้น อาจารย์ดำรงตำแหน่ง ประธานสภาอาจารย์รามาธิบดีทำให้อาจารย์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมนักศึกษา รามาธิบดีที่ถูกจับกุมตัวในเหตุการณ์พร้อมกับอาจารย์ได้กำลังใจนักศึกษาเหล่านั้นให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนั้น และกลับมาศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาไปประกอบวิชาชีพจวบจนทุกวันนี้ นับเป็นสิ่งที่อาจารย์ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่ครูแพทย์ผู้คอยช่วยเหลือส่งเสริมด้านกำลังใจให้นักศึกษาในช่วยวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งนั้น หลังจากที่อาจารย์ทำหน้าที่ ครูแพทย์รามาธิบดีเป็นระยะเวลา 12 ปีเต็ม อาจารย์จึงย้ายไปทำหน้าที่แพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยอาจารย์เป็นผู้ก่อตั้งและหัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยาคนแรก ของกองอายุรกรรม และเป็นผู้อำนวยการกองพยาธิคนแรกของโรงพยาบาลมงกุฎเกล้า นอกจากนั้นอาจารย์ยังเป็นศาสตราจารย์และอาจารย์พิเศษผู้เชี่ยวชาญทางโลหิตวิทยาในสถาบันการศึกษาแพทยศาสตร์หลายแห่งในไทย

ซึ่งก่อนจากกันนั้น ทางหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ได้มอบของที่ระลึกและกล่าวขอบคุณและหากมีโอกาสจะขอเรียนเชิญ อาจารย์ถนอมศรี ได้ไปเยี่ยมชมหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกันนั้นอาจารย์ถนอมศรี ได้กรุณามอบสิ่งของสะสมส่วนตัวของท่านที่ท่านได้เก็บรักษาไว้มาเป็นเวลานาน อาทิ ภาพถ่ายหมู่บัณฑิตรามาธิบดีรุ่นแรกจนถึงรุ่นที่ห้า เอกสารงานวิจัยทางด้านโลหิตวิทยาของท่าน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือเรื่องราวประวัติความเป็นมาจากประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล ปูชนียาจารย์ด้านโลหิตวิทยาของรามาธิบดีและของไทย