"ปัญหาความรุนแรง" ในเด็กและวัยรุ่น

"ปัญหาความรุนแรง" ในเด็กและวัยรุ่น

ปัญหาสังคมในปัจจุบัน หากมองในแง่ของการแก้ไขปัญหา ก็คงจะมีผู้ใหญ่ ผู้มีอํานาจในการแก้ไข รวมไปถึงหน่วยงานหรืองค์กรที่ทําหน้าที่แก้ไขเป็นจํานวนมากอยู่แล้ว

แต่หากมองปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นให้ลงลึกไปอีกนั้น เราจะพบว่า การแก้ไขปัญหาอาจเป็นการปรับเปลี่ยนเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุมากกว่า

อย่างในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นสังคมส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ต้องการการดูแลและเข้าใจมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มที่พบปัญหาและแก้ไขปัญหาได้ยากที่สุด โดยเฉพาะ “ปัญหาความรุนแรง” ที่เกิดขึ้น..ปัญหาที่มาพร้อมกับการแก้ไข ปัญหาที่มาพร้อมกับความคาดหวังของพ่อแม่รวมทั้งคนในสังคม

คอลัมน์ Backstage ฉบับนี้ เราได้รับความรู้ดีดีเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ผ่านมุมมองของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่าง รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริไชย หงส์สงวนศรี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้บรรยายไว้ในงานประชุมวิชาการประจําาปีของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557

"ปัญหาความรุนแรง" ในเด็กและวัยรุ่น

ปัญหาความรุนแรงเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งมักพบว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่ การแข่งขันสูงทางด้านการศึกษา การมุ่งเน้นด้านรายได้ ด้านเศรษฐกิจและค่านิยมที่เปลี่ยนไปทําให้เกิดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ซึ่งเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน  เด็กบางคนอารมณ์ดี  สนุกสนาน  ร่าเริงด้วยตัวพื้นฐานของเขาเอง เด็กบางคนหงุดหงิดง่าย ไม่ว่าจะเกิดจากยีนของเขา หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์  เพราะคุณแม่ที่มีความเครียดระหว่างตั้งครรภ์  ส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ทําให้เป็นพิษต่อเซลล์ประสาทและเซลล์สมองไม่ปกติ ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ แม่ที่มีภาวะแทรกซ้อนอย่างเช่น ภาวะแท้งคุกคาม มีเลือดออก ครรภ์เป็นพิษ คลอดเด็กก่อนกําหนด หรือแม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้านั้น มีผลต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ทําให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น และมีความสามารถในการควบคุมตนเองบกพร่อง

อีกปัจจัยหนึ่งคือ เด็กบางคนป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น เป็นโรคที่มีผลต่ออารมณ์โดยตรงได้แก่ โรคซึมเศร้า  โรคอารมณ์แปรปรวน  (Bipolar  disorder)  ทําให้การควบคุมต่างๆ  บกพร่อง ในกรณีอาการโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ จะมีอาการหดหู่ท้อแท้ใจ ไม่มีความสุข อยากตาย แต่ถ้าโรคซึมเศร้าที่เกิดในวัยรุ่นจะมีอาการเหมือนเป็นคนขี้รําคาญ หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี ใครพูดอะไรไม่ถูกใจก็จะโกรธง่าย ระเบิดอารมณ์ง่าย 

ฉะนั้น การเลี้ยงดูลูกตั้งแต่แรกเกิดของคุณพ่อคุณแม่จึงมีความสําาคัญมาก คนทั่วไปมักคิดว่าเด็กเล็กไม่รู้เรื่องอะไร ไม่รู้ภาษาอะไร ยังไม่ต้องให้ความสําคัญในการเลี้ยงดู แต่แท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด เพราะในช่วงเวลาที่สําคัญของลูกคือ ตั้งแต่อายุ 1-3 ขวบแรกในชีวิต ลูกจะมีความต้องการความรักความอบอุ่น ความเอาใจใส่จากพ่อแม่มาก ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ทําให้ลูกมีความผูกพันทางอารมณ์กับแม่ดีมาก มีอารมณ์ที่ผูกพันต่อกันมากขึ้น คุณแม่จึงควรมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน จะทําให้ลูกมีความสามารถในการควบคุมตนเองได้ดี (Self-regulation) 

นอกจากนี้แล้ว ภาวะทางเศรษฐกิจและค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทั้งพ่อและแม่ต่างออกไปทํางานนอกบ้าน และการทํางานนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของลูก ไม่ว่าทางด้านร่างกายหรือจิตใจ เมื่อพ่อแม่มีความกดดันมาก ความอ่อนโยนที่จะทําให้ลูกผูกพันก็น้อยลง ทําให้ความเครียดมีผลต่อการเกิดความวิตกกังวล คุณพ่อคุณแม่จึงต้องจัดสรรเวลาทํางานกับการดูแลลูกให้ดี สิ่งสําคัญอีกประการคือ ไม่ทําสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมให้ลูกเห็น

ส่วนวัยรุ่นเอง เป็นวัยที่เข้าใจยาก วัยรุ่นที่มีความรุนแรงส่วนใหญ่คิดว่าตนเองไม่มีอะไรดีพอ (Self Extreme) และเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ พ่อแม่ไม่สามารถทําาให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองได้ เพราะไม่มีเวลาและตามใจลูก เวลาที่เด็กมีปัญหา  จึงแสดงออกทางอารมณ์ได้ง่าย  สิ่งที่สังคมมุ่งเน้นอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ทางด้านการศึกษาที่เน้นการแข่งขันทางด้านการเรียนการสอน  การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่าวัดผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเป็นคนดี การสอนเด็กทางด้านการเสียสละ มีน้ำใจ จิตอาสา คุณธรรม และจริยธรรมก็มีน้อยมาก เพราะโรงเรียนไปวัดผลที่คะแนนเพียงอย่างเดียว  เด็กจํานวนมากต้องเรียนกวดวิชา  เด็กบางคนต้องเรียนทุกวันส่วนเด็กที่ได้รับการยอมรับจากครูและผู้ใหญ่คือเด็กที่เรียนดี  เด็กที่เรียนไม่ดีคือเด็กที่ไม่ได้รับการยอมรับสังคมไทยเป็นสังคมที่ต้องการการยอมรับ ถ้าเขาไม่ได้รับการยอมรับก็จะไปกับเด็กที่เกเร เพื่อนที่เกเรจะเปิดใจและยอมรับเขา ยิ่งเขาไปแข่งมอเตอร์ไซค์แว๊นชนะมา  หรือว่าชกต่อยกับใครชนะ  เพื่อนจะบอกว่าเก่ง  หรือใช้ยาเสพติดเพื่อนจะบอกว่าเจ๋งมาก  ถ้าเป็นเด็กที่เรียนเก่งก็จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าที่เรียนเก่ง แต่เด็กที่เรียนไม่เก่งก็เอาแต่ดูทีวีเล่นเกมส์ไม่ช่วยงานบ้าน และในขณะที่เด็กทําอะไรได้ดี พ่อแม่ก็ไม่ค่อยชม

วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่ต้องทําความเข้าใจให้มาก และคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างพอเหมาะพอควร และต้องไม่ทําให้เกิดปัญหาอย่างที่ทราบกันบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือในข่าวตามโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพียงแค่นี้ เราก็จะได้วัยรุ่นที่ดี เป็นบุคลากรคนสําคัญของประเทศ รวมทั้งได้ต้นแบบที่ดีในการพัฒนาพวกเขาในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริไชย หงส์สงวนศรี และคุณตูน นิตยสารมหิดลสาร มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้เขียน : ดนัย อังควัฒนวิทย์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 14 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th