โมยาโมยา
หน้าแรก
พูดไม่รู้เรื่อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจเป็น โรคโมยาโมยา
พูดไม่รู้เรื่อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจเป็น โรคโมยาโมยา

โรคโมยาโมยา เป็นโรคทางระบบประสาทที่หลายคนไม่รู้จัก ทั้งยังมีการเข้าใจผิดในคนบางกลุ่ม คิดว่าเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงที่ผิดปกติไปจากเดิม คือพูดไม่รู้เรื่อง แขนขาอ่อนแรง แต่โรคดังกล่าวสามารถอธิบายทางการแพทย์ได้ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในเส้นเลือดสมอง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จึงแสดงอาการผิดปกติให้เห็น

ทำความรู้จักกับโรคโมยาโมยา

โรคโมยาโมยา  เป็นโรคที่พบไม่บ่อย  เกิดจากเส้นเลือดใหญ่ที่เลี้ยงสมองส่วนด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองข้างเกิดการตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ ร่างกายมีการปรับตัวสร้างเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ไปเลี้ยงสมองแทน เส้นเลือดฝอยดังกล่าวดูเหมือนกลุ่มควันจากการเอ็กซเรย์หลอดเลือดสมอง และเป็นโรคที่รายงานครั้งแรกรวมถึงพบบ่อยในชาวญี่ปุ่น  จึงเรียกโรคนี้ว่าโมยาโมยา ซึ่งแปลว่า”กลุ่มควัน”ในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง

อาการของโรคโมยาโมยา

อาการของโรคส่วนใหญ่เป็นอาการของสมองขาดเลือด สมองทั้งส่วนด้านหน้าและด้านข้างเกี่ยวข้องกับการทำงานหลายอย่าง  ผู้ป่วยจึงมีอาการได้หลายหลาย  และอาการอาจจะเกิดเป็นพักๆ โดยเฉพาะเวลาที่มีการหายใจแรงๆ  เช่น หอบเหนื่อยจากการออกกำลัง เป็นต้น  อาการที่พบได้แก่

  • สมองขาดเลือดชั่วคราว ยังไม่ถึงกับสมองตาย ทำให้มีอาการต่าง ๆ อยู่ชั่วขณะ เช่น ชา แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด มึนงง เป็นต้น สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ในเวลาไม่เกินหนึ่งวัน
  • สมองขาดเลือดรุนแรงจนเกิดภาวะสมองตาย เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ได้  บางรายหากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอนาน ๆ อาจมีอาการปวดหัว การเรียนและความจำแย่ลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
  • ปวดหัวรุนแรงจากมีเลือดออกในสมอง
  • อาการชัก

วิธีสังเกตโรคโมยาโมยา

โรคโมยาโมยามีอาการแสดงหลายอย่าง บางอาการอาจคล้ายคลึงกับโรคอื่น เช่น แขนขาอ่อนแรงที่คล้ายกับโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต วิธีการสังเกตว่าเป็นโรคโมยาโมยาหรือไม่ ต้องดูจุดเด่นของโรคคืออาการอาจเกิดขึ้นกับสมองทั้งสองข้าง  โดยอาจแสดงอาการไม่พร้อมกัน  เช่น  แขนขาซีกซ้ายอ่อนแรงบ้าง แข่นขาซึกขวาอ่อนแรงบ้างสลับกันไปมา อย่างไรก็ตามต้องยืนยันด้วยการตรวจเอกซเรย์ดูเส้นเลือดสมอง

สาเหตุของโรคโมยาโมยา

โรคโมยาโมยาพบบ่อยในชาวญี่ปุ่น เกาหลี  ในประเทศไทยพบได้ไม่บ่อย  ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ  ผู้ป่วยบางกลุ่มจะมีความเสี่ยงของโรคโมยาโมยาสูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ คนที่มีโรคทางความผิดปกติของพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ท้าวแสนปม ธาลัสซีเมีย หรือในคนที่เคยรับการฉายแสงที่สมอง เป็นต้น

การรักษา

การรักษาที่มีประสิทธิภาพคือการผ่าตัดเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น  เราไม่สามารถแก้ไขบริเวณที่เส้นเลือดสมองใหญ่ตีบตันได้ แต่เราสามารถผ่าตัดทำทางให้มีเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองได้เพิ่มมากขึ้น  และเพียงพอกับที่สมองต้องการ จึงช่วยป้องกันการเกิดอาการต่างๆที่สำคัญได้แก่ อ่อ่นแรงเป็นๆหายๆ  ปวดศีรษะ เป็นต้น  ร่วมกับการรับประทานยากลุ่มแอสไพริน  การรักษาดังกล่าวจะช่วยลดการเกิดภาวะสมองขาดเลือด และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

 

ข้อมูลโดย
ผศ. พญ.ลัลลิยา ธรรมประทานกุล
สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “”โรคโมยาโมยา”รักษาผิดจุด เสี่ยงอัมพาต : พบหมอรามา ช่วง คุยข่าวเมาท์กับหมอ” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความ เรื่อง เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
เต้านม เป็นอวัยวะที่แสดงถึงลักษณะของเพศหญิงอย่างหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา หากเกิดอาการ เต้านมผิดปกติ ควรสังเกตุและแก้ไขอย่างไร ?
บทความสุขภาพ
07-05-2024

3

บทความ เรื่อง การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ของ ผู้หญิง
การตรวจภายใน ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) และความเสี่ยงอื่น ๆ ทางระบบสืบพันธ์ุของผู้หญิง
บทความสุขภาพ
02-05-2024

2

บทความ เรื่อง ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ ผิวหนัง เรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรค มะเร็งผิวหนัง
ตากแดดบ่อย ๆ มีไฝขึ้นและแตกเป็นแผล หรือมีแผลที่ผิวหนังเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือน โรคมะเร็งผิวหนัง ได้
บทความสุขภาพ
01-05-2024

11

บทความ เรื่อง ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาล แลคโตส ที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
ท้องเสีย ทำไมห้าม ดื่มนม ? เพราะเมื่อท้องเสียเซลล์ที่ผนังลำไส้จะถูกทำลายและไม่สามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแลคโตสที่ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้
บทความสุขภาพ
26-04-2024

7