ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
หน้าแรก
รู้เท่ารู้ทันภาวะเสี่ยง “ลิ่มเลือดอุดตันในปอด”
รู้เท่ารู้ทันภาวะเสี่ยง “ลิ่มเลือดอุดตันในปอด”

“ลิ่มเลือดอุดตันในปอด” ภาวะเสี่ยงที่อันตรายถึงชีวิต หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันโรคดังกล่าวยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อเข้ารับการรักษาที่ทันเวลา ลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว อาการที่น่าสงสัยคือเหนื่อยหอบในระดับที่มากกว่าปกติ แม้ทำกิจกรรมที่เคยทำเป็นประจำทุกวัน ดังนั้นถ้าหากมีอาการเหนื่อยหอบ ควรสังเกตตัวเองอย่างใกล้ชิด

อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด

ส่วนมากไม่มีอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อย ซึ่งระดับความเหนื่อยของผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงของอาการหรือปริมาณลิ่มเลือดที่อุดตันว่ามากหรือน้อยแค่ไหน และมักมีอาการเหนื่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือเหนื่อยในช่วงที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นประจำแต่เหนื่อยมากกว่าปกติ เช่น เดินขึ้นบันไดในบ้าน บางรายอาจมีอาการบวมที่ขาร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันบริเวณหลอดเลือดขา

อาการภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดมักเกิดจากลิ่มเลือดที่อุดตันบริเวณหลอดเลือดขา ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่เชื่อมต่อกับหัวใจข้างขวาและปอด จากนั้นลิ่มเลือดได้มีการหลุดไปอุดตันที่ปอดตามลำดับ และโดยส่วนมากลิ่มเลือดอุดตันมักเกิดที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งก่อนเข้าสู่ปอด เช่น ปัจจุบันมีการใส่สายเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ยาทางหลอดเลือดดำใหญ่ อาจเกิดลิ่มเลือดที่แขนได้ แต่น้อยรายที่ลิ่มเลือดจะเข้าสู่ปอดทันทีโดยไม่พบลิ่มเลือดที่บริเวณอื่น

ในรายที่ลิ่มเลือดกระเด็นเข้าไปอุดตันที่ปอดทันที มักเจ็บบริเวณที่ลิ่มเลือดอุดตัน เนื่องจากลิ่มเลือดไปยังเยื่อหุ้มปอด ซึ่งมีตัวรับความรู้สึก ทำให้ขณะหายใจรู้สึกเจ็บขึ้นมาได้ และถ้าหากลิ่มเลือดอุดตันในปอดเกิดขึ้นฉับพลัน อาจมีอาการเหนื่อยและเจ็บหน้าอกร่วมด้วย แต่เพราะอาการเหนื่อยและเจ็บหน้าอก เป็นอาการไม่จำเพาะเจาะจง อาจทำให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ เนื่องจากมีอาการคล้ายโรคหัวใจ โรคหอบหืด

สาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด

สาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • มีปัจจัยนำมาก่อน เช่น ได้รับการผ่าตัดทำให้ต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน การป่วยเป็นมะเร็งบางชนิด การใช้ยาบางประเภท โรคทางพันธุกรรม เป็นต้น
  • ไม่มีปัจจัย

ผลกระทบของโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด

  • เหนื่อยหอบ ส่งผลให้ทำกิจกรรมประจำวันได้แย่ลง คุณภาพชีวิตต่ำลง
  • กรณีรักษาโรคได้ไม่ดีพออาจทำให้ความดันในหลอดเลือดแดงที่ปอดสูง
  • หัวใจข้างขวาล้มเหลวเรื้อรัง เกิดภาวะบวมตามร่างกาย
  • ในรายที่ผนังกั้นหัวใจทำงานผิดปกติหรือรั่ว อาจส่งผลให้ลิ่มเลือดอุดตันข้ามไปยังสมองได้ เนื่องจากหลอดเลือดดำจากปอดมีการเชื่อมต่อไปที่สมองด้วย
  • เสียชีวิต กรณีที่วินิจฉัยผิดพลาดและรักษาไม่ถูกกับโรค หรือรักษาลิ่มเลือดอุดตันในปอดไม่ทันเวลา

การวินัจฉัยโรคโดยแพทย์

ส่วนมากผู้ป่วยจะพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยหอบ แพทย์มักจะคำนึงถึงโรคที่มีความอันตรายก่อน เช่น โรคหัวใจ โรคที่ทำให้เยื่อหุ้มปอดฉีกขาด จากนั้นทำการเอกซเรย์ หากไม่พบภาวะที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว หรือไม่พบเนื้อเยื่อหัวใจหรือปอดฉีกขาด แพทย์จะประเมินความเสี่ยงต่อไป หากความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมีน้อย แพทย์จะเริ่มคำนึงถึงโรคอื่น ๆ จากปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าหากผู้ป่วยมีพฤติกรรมนอนนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ผู้ป่วยเป็นมะเร็ง หรือมีภาวะเหนื่อยหอบที่หาสาเหตุไม่ได้ แพทย์จะเริ่มหาว่ามีลิ่มเลือดอุดตันที่ใดหรือไม่ หรือบางรายมีการเจาะเลือดเพื่อหาค่าสารพิเศษ และดูว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่ รวมถึงการทำ CT Scan เพื่อตรวจเช็คต่อไป

ข้อควรระวัง

ผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดบางรายเสียชีวิตเพราะได้รับการรักษาไม่ทันเวลา เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีอาการแต่ไม่ได้พบแพทย์ทันที เช่น บางรายคิดว่าเป็นอาการเหนื่อยตามวัย จึงละเลยที่จะไปพบแพทย์ ทำให้การรักษาล่าช้าออกไป ดังนั้นควรรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น

การรักษา

  • หากเกิดขึ้นฉับพลับ ระดับสัญญาณชีพไม่คงที่ แพทย์จะใช้ยาละลายลิ่มเลือดในการรักษา
  • หากมีอาการแต่ภาวะยังไม่เข้าขั้นวิกฤต แพทย์จะใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในการรักษา

ในการรักษาแพทย์จะพิจารณาที่ความเสี่ยงของคนไข้เป็นสำคัญ หากมีความเสี่ยงมาก ระดับสัญญาณชีพไม่คงที่ หรือหัวใจมีสภาวะใกล้ล้มเหลว แพทย์จะรีบทำการรักษาเพื่อช่วยชีวิตคนไข้โดยเร็ว แต่ถ้าหากอาการยังไม่เข้าขั้นวิฤต แพทย์อาจให้ยากินหรือยาฉีดตามอาการ แล้วให้คนไข้กลับบ้านไปก่อน จึงนัดติดตามอาการต่อไป

การรักษาโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังอาการข้างเคียง เช่น ความดันในหลอดเลือดแดงที่ปอดสูงจากการใช้ยารักษาลิ่มเลือดอุดตันในปอด ทั้งนี้การรักษายังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น หากป่วยเป็นมะเร็งชนิดที่มีความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดอาจต้องกินยารักษาไปตลอด แต่ถ้าหากมีความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันในปอดจากการผ่าตัดทำให้ต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน อาจกินยารักษาเฉพาะช่วงที่มีการนอนพักรักษาตัว หากร่างกายเป็นปกติแล้วอาจหยุดยาได้

พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

  • การสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลต่อหลอดเลือดโดยตรง อาจทำให้หลอดเลือดบาดเจ็บ เสี่ยงต่อลิ่มเลือดอุดตัน
  • การไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน

วิธีป้องกัน

วิธีป้องกันโรคที่สำคัญคือลดปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น  หากนอนนานให้พยายามเคลื่อนไหวให้มากขึ้น หากหลอดเลือดมีความหนืดควรดื่มน้ำมาก ๆ เป็นต้น

 

ข้อมูลจาก
อ. นพ.วิรัช ตั้งสุจริตวิจิตร
สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “รู้เท่ารู้ทัน ภาวะเสี่ยง“ลิ่มเลือดอุดตันในปอด”: พบหมอรามา ช่วง Big Story” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

5