บทความเรื่องยา
หน้าแรก
ความเชื่อเรื่องการกินยา อันไหนจริงหรือมั่ว
ความเชื่อเรื่องการกินยา อันไหนจริงหรือมั่ว

เรื่องของยารักษาโรค มีหลายความเชื่อที่ผิด และกลายเป็นข้อสงสัยของผู้คนจำนวนมากในเรื่องของข้อเท็จจริง อีกด้านหนึ่งยังพบว่าความเชื่อที่ผิดเหล่านั้นนำไปสู่การใช้ที่ไม่ถูกวิธี ทำให้ผลการรักษาด้อยประสิทธิภาพลง โดยข้อมูลที่นำมาเสนอในครั้งนี้จะเป็นการไขทุกความเชื่อเรื่องยารักษาโรค ความเชื่อไหนผิดหรือความเชื่อไหนถูกต้อง ทุกคนจะได้รับรู้พร้อมกันจากผู้เชี่ยวชาญ

ยาฉีดมีประสิทธิภาพมากกว่ายากิน จริงหรือไม่?

ไม่จริงเสมอไป เพราะยาชนิดกินก็มีประสิทธิภาพในการรักษาเช่นกัน เพียงแต่ยาฉีดจะใช้สำหรับผู้ป่วยบางรายที่การทำงานของลำไส้หรือกระเพาะอาหารมีปัญหา ดูดซึมยาผิดปกติหรือติดเชื้อรุนแรง หรือในกรณีที่ต้องการให้ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว  การใช้ยาฉีดจะดีกว่ายากิน เนื่องจากไม่ต้องรอให้ยาดูดซึมจนถึงระดับการรักษาของยา แต่ยากินจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่ายาฉีด

ยาต่างประเทศมีประสิทธิภาพมากกว่ายาในประเทศ จริงหรือไม่?

ไม่จริง เพราะยาทุกชนิดไม่ว่าจะยาไทยหรือยาต่างประเทศ ก่อนวางจำหน่ายล้วนผ่านการตรวจสอบโดยละเอียดและผ่านการรับรองแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษา ดังนั้นทั้งยาไทยและยาต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในท้องตลาด ย่อมมีประสิทธิภาพในการรักษาด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ทั้งนี้ประเทศไทยจะมีการประกาศมาตรฐานยาตามเภสัชตำรับในราชกิจจานุเบกษาว่ายาแต่ละชนิดจะต้องทบทวนตำรับยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของโรงงานยาและผู้ผลิตยาที่ต้องดำเนินการ

การกินยาชนิดใดนาน ๆ จะมีผลต่อตับและไต จริงหรือไม่?

ขึ้นอยู่กับสภาวะของคนไข้ว่ามีปัญหาการทำงานของตับหรือไตหรือไม่ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับการใช้ยาที่ถูกวิธี ถูกขนาดหรือไม่ หากมีการใช้ยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ ก็อาจมีผลต่อตับหรือไตได้ หรืออาจได้รับผลข้างเคียงของยา

การกินยาชนิดใดนาน ๆ จะทำให้ดื้อยา จริงหรือไม่?

การกินยาต่อเนื่องเป็นเวลานานไม่ได้ทำให้ดื้อยา หากการกินยานั้นอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่ปัญหาที่พบส่วนมากคือคนไข้ส่วนหนึ่ง หลังจากกินยาไปช่วงเวลาหนึ่งแต่ยังไม่ครบตามแพทย์สั่ง ก็หยุดกินยาเอง หลังจากนั้นหากมีการกลับมากินยาชนิดนั้นอีกครั้ง อาจทำให้ผลการรักษาไม่ดีนัก โดยเฉพาะยาโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องกินต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดยาเอง ยกเว้นยารักษาตามอาการที่สามารถหยุดกินได้เมื่ออาการดีขึ้น เช่น ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ปวด ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

ยาแอสไพรินทำให้เลือดออกในสมอง จริงหรือไม่?

หากใช้ยาตามแพทย์สั่งไม่ทำให้เกิดปัญหา เพราะส่วนมากคนไข้ที่รับยามักมีการติดตามอาการกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแพทย์จะปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย แต่ปัญหาของยาแอสไพรินคือมีผลข้างเคียงทำให้ระคายกระเพาะอาหาร ดังนั้นควรกินยาหลังอาหารทันที่ และดื่มน้ำตามปริมาณมาก เพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว

หากลืมกินยาต้องทำอย่างไร?

ขึ้นอยู่กับชนิดยา หากไม่ใช่ยาที่อาหารมีผลต่อการดูดซึม สามารถกินทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าหากอาหารมีผลต่อการดูดซึม เช่น ยาก่อนอาหาร ซึ่งควรกินตอนท้องว่างหรือกินก่อนอาหาร 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หากลืมกินยาก่อนอาหาร ควรกินหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง

ในส่วนของยาที่มีผลข้างเคียงระคายเคืองกระเพาะอาหาร ต้องกินหลังอาหารทันที หากลืมกินยาจะต้องกินอาหารก่อนค่อยกินยา ไม่ควรกินตอนท้องว่าง หากลืมกินยาหลังอาหาร สามารถกินได้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าหากเป็นยา 3 เวลา หากนึกได้ใกล้มื้อถัดไป ให้ข้ามกินมื้อต่อไปได้เลย

การกินยาก่อนนอน สำหรับคนที่นอนไม่เป็นเวลา

ควรกินยาเวลาเดิมทุกวัน เช่น หากกินยาตอน 3 ทุ่มก็ควรกินเวลานั้นทุกวัน แม้จะไม่ได้นอนตอน 3 ทุ่มทุกวันก็ตาม ควรกำหนดเวลาเอาไว้แล้วกินเวลาเดิม เพื่อให้ระดับยาคงที่ ทำให้ยาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการกินยาไม่ตรงเวลา

กินยาแล้วกลิ่นและสีของปัสสาวะผิดปกติ แสดงว่ายาออกฤทธิ์ดี จริงหรือไม่?

ขึ้นอยู่กับชนิดของยา เช่น ยาคลายเครียด เช่น Amitriptyline ทำให้ปัสสาวะสีน้ำเงิน ยาวัณโรค Rifampin/ยากันชัก Phenytoin ทำให้ปัสสาวะสีแดง หรือวิตามินบีรวม ทำให้ปัสสาวะกลิ่นเหมือนยา ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของตัวยา ไม่อันตรายแต่อย่างไร  ยกเว้นยาบางชนิดการที่ปัสสาวะมีลักษณะผิดปกติ อาจแสดงถึงความอันตราย เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หากกินแล้วปัสสาวะมีสีแดง มีจ้ำเลือดตามใต้ผิวหนัง แสดงว่าระดับยาสูงกว่าปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที

กินยาหลายชนิดทำให้ตีกัน จริงหรือไม่?

มีความเป็นไปได้ที่ยาแต่ละชนิดจะตีกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับชนิดยาด้วย ว่าถูกทำลายและขับออกจากร่างกายที่อวัยวะเดียวกัน เช่น ตับ หรือ ไต หรือไม่ ยาบางชนิดสามารถตีกับยาบางชนิด แต่ไม่เพียงเฉพาะการตีกันระหว่างยากับยาเท่านั้น แต่ยังพบว่าอาหาร/สมุนไพรบางชนิดก็ไม่ควรกินพร้อมกับยาบางชนิดด้วย  ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลยาแต่ละชนิดรวมทั้งอาหาร/สมุนไพรหากใช้ร่วมก่อนกินเสมอ

เก็บยาในตู้เย็น ดีหรือไม่?

ขึ้นกับชนิดของยา เนื่องจากประเทศไทยมีลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้น ทำให้การเก็บยาในตู้เย็นบางชนิด ส่งผลให้ยาเสื่อมสภาพได้ง่าย จึงไม่แนะนำ อีกทั้งยังส่งผลต่อความคงตัวของยา ทำให้อายุการเก็บรักษายาสั้นลง ยกเว้นยาบางชนิดที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากฉลากยาที่มักมีข้อความการเก็บรักษายากำกับไว้

กินยาแล้วอาการดีขึ้น สามารถหยุดกินได้หรือไม่?

ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค/อาการ/ชนิดของยา หากเป็นยารักษาโรคประจำตัว จำเป็นต้องกินต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเอง แต่ถ้าหากเป็นยารักษาตามอาการ สามารถหยุดกินได้เมื่ออาการดีขึ้น ส่วนยาปฏิชีวนะ จำเป็นต้องกินให้ครบคอร์ส หากกินไม่ครบจะเกิดการดื้อยา

ยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่า สามารถรักษาดีกว่า จริงหรือไม่?

ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก ยาที่ออกฤทธิ์แรงมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาที่ออกฤทธิ์อ่อน ส่วนหนึ่งมาจากการติดเชื้อรุนแรง ดื้อยา หรืออาการของโรคซับซ้อน แต่ถ้าหากมีการตอบสนองต่อยาปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่าเพื่อหวังผลการรักษาที่ดีกว่า นอกจากนี้ยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่าอาจยังมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น และเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

การหักเม็ดยาก่อนกิน ลดประสิทธิภาพยาหรือไม่?

ขึ้นอยู่กับชนิดยา สำหรับยาเม็ดเรียบสามารถหักก่อนกินได้ โดยไม่ทำให้ยาเสื่อมประสิทธิภาพในการรักษา แต่ยาบางชนิดมีการออกแบบมาเพื่อให้ออกฤทธิ์เนิ่น หากมีการหักเม็ดยาก่อนกิน จะทำให้ออกฤทธิ์ทันทีและหมดฤทธิ์ในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้การรักษาไม่มีประสิทธิผล หลักการนี้ใช้กับยาชนิดแคปซูลได้ด้วย ในเรื่องของการแกะเม็ดแคปซูลและนำผงไปละลายน้ำเพื่อกิน บางชนิดสามารถทำได้ แต่บางชนิดออกแบบมาให้ออกฤทธิ์ทีละน้อย หากแกะแล้วนำผงไปละลายน้ำ จะทำให้ออกฤทธิ์ทันทีซึ่งมีผลต่อการรักษา ไม่เพียงเท่านั้นยังอาจทำให้คนไข้ได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรง

 

ข้อมูลโดย
ภญ.นันทพร เล็กพิทยา
หัวหน้างานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “ปรับความเชื่อ อันไหนใช่ อันไหนมั่ว ทุกเรื่องยา : พบหมอรามา ช่วง Rama Health Talk” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

5