หงุดหงิดซึมเศร้า
หน้าแรก
"หงุดหงิดซึมเศร้า” อาการก่อนมีประจำเดือนที่คุณผู้หญิงควรเข้าใจ
"หงุดหงิดซึมเศร้า” อาการก่อนมีประจำเดือนที่คุณผู้หญิงควรเข้าใจ

อาการหงุดหงิดซึมเศร้า มักเกิดกับผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน เป็นอาการที่หลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการเอาไว้ได้และก่อให้เกิดปัญหาในด้านปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

อาการหงุดหงิดซึมเศร้าเป็นอาการที่เกิดกับผู้หญิงบางรายในช่วงก่อนมีประจำเดือน และมักจะเกิดขึ้นทุกเดือน โดยจะมีอาการก่อนประจำเดือนมา 3-4 วัน เมื่อประจำเดือนมาอาการหงุดหงิดซึมเศร้าก็จะหายไปเอง อาการดังกล่าวจะเกิดกับบางคนเท่านั้น ไม่ได้เกิดกับผู้หญิงทุกคน

ลักษณะอาการ ได้แก่

หงุดหงิดมาก เครียดหรือวิตกกังวลมาก อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และอาจมีอาการอื่น ๆ ได้แก่ เบื่ออาหารหรือกินเยอะเกินไป นอนไม่หลับหรือนอนเยอะเกินไป สมาธิไม่ดี ความจำไม่ดี เบื่อหน่าย อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง บางคนมีอาการทางร่างกายร่วมด้วย อาจรู้สึกบวม ท้องอืด ท้องป่อง บวมน้ำ ปวดข้อ และเมื่อประจำเดือนมาอาการเหล่านั้นก็จะหายไป

คนที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว มักมีอาการทุกเดือน บางเดือนมีอาการมากแต่บางเดือนอาจมีอาการน้อย หรือบางคนเป็นน้อยอยู่ 2-3 เดือนแล้วกลับมาเป็นมากติดต่อกันหลายเดือน

ผู้ป่วยบางรายมีความสับสนระหว่างโรคดังกล่าวกับโรคซึมเศร้า และเข้าใจผิดคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งควรทำความเข้าใจใหม่ โดยทั้งสองโรคนี้สามารถแยกออกจากกันได้ สังเกตได้จากอาการหงุดหงิดซึมเศร้าที่มักจะหายไปเมื่อมีประจำเดือนมา

สาเหตุหลักเกิดจาก

ฮอร์โมนเพศเปลี่ยนแปลงไป หรือบางคนมีระบบสารรับรู้ในเรื่องของอารมณ์ตอบสนองผิดปกติต่อฮอร์โมนเพศที่เปลี่ยนเปลง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ (เฉพาะเพศหญิง) พบว่าอัตราผู้ป่วยกว่า 50% มีปัจจัยเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หรือบางคนมีพื้นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่าย ฉุนเฉียวง่าย ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าวได้เช่นกัน สำหรับอัตราผู้ป่วยด้วยโรคหงุดหงิดซึมเศร้านั้นพบว่ามีจำนวนกว่า 5% ของผู้หญิงทั้งหมด

ผลกระทบที่เกิดจากโรคหงุดหงิดซึมเศร้าที่เห็นได้ชัดคือ

ด้านสัมพันธ์ภาพ เพราะเมื่อผู้ป่วยมีอารมณ์รุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสังคมได้ยาก ในกรณีที่ซึมเศร้ามากจะทำให้ผู้ป่วยหมดกำลังใจ ไม่อยากไปทำงานหรือไม่อยากไปเรียนหนังสือ ทำให้กระทบเรื่องงานและเรื่องเรียนตามมา

วิธีแก้ไข

หากรู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าวควรปรับพฤติกรรม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงชาและกาแฟ เนื่องจากในชาและกาแฟมีสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหงุดหงิดซึมเศร้า โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือน ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เนื่องจากเมื่อมีประจำเดือนขณะที่ปัญหารุมเร้าหลายอย่าง อาการจะยิ่งแย่ลง ดังนั้นควรจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อน เช่น เคลียงานให้เสร็จก่อนช่วงประจำเดือนมา เป็นต้น

วิธีการรักษาอาการหงุดหงิดซึมเศร้า

แพทย์จะทำการพิจารณาก่อนว่าคนไข้มีอาการมากหรือน้อยแค่ไหน หากมีอาการมากทางสูตินรีแพทย์จะให้ยาคุมเพื่อปรับฮอร์โมน แต่ยาตัวดังกล่าวมีผลข้างเคียงพอสมควร หากคนไข้มีอาการไม่มากอาจแนะนำให้คนไข้ทำการปรับพฤติกรรมด้วยตนเอง ส่วนทางจิตแพทย์อาจจะให้ยาแก้ซึมเศร้า สำหรับวิธีการรักษาอื่น ๆ ได้แก่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

ข้อมูลจาก
ศ. นพ.มาโนช หล่อตระกูล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “รู้เท่าทันอาการ “หงุดหงิดซึมเศร้า”: Rama Square ช่วง Daily Expert “ ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

5