Untitled-2-01-01
หน้าแรก
อันตรายจาก “ข้อเท้าพลิก” ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
อันตรายจาก “ข้อเท้าพลิก” ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

ช่วงนี้เวที Miss Universe 2016 กำลังเป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะสาวน้ำตาล ชลิตา ตัวแทนประเทศไทยที่หลายคนเห็นผลงานการพรีเซนต์ชุดว่ายน้ำกันไปแล้วก็ต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าเป๊ะปังอลังการเสียจริงๆ ยังไงก็ขอส่งกำลังใจให้ด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในรอบโชว์ชุดว่ายน้ำนั่นก็คือมิสเวียดนาม ที่เดินข้อเท้าพลิกบนส้นสูงกลางเวที สร้างความตกอกตกใจให้กับคนรอบข้างไม่น้อย แต่สุดท้ายเธอก็สามารถทรงตัวได้ใหม่และเดินเริ่ดเชิดสวยต่อไปจนจบ ก็ต้องปรบมือให้จริงๆ กับการแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าของเธอ

เห็นนางงามข้อเท้าพลิกแล้วก็ทำให้นึกถึงอาการข้อเท้าพลิกที่หลายๆ คนก็คงเคยเป็น ว่าแต่อาการนี้มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน วันนี้จะได้รู้ไปพร้อมๆกัน

โดยส่วนมากอาการข้อเท้าพลิกเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยในปัจจัยที่แตกต่างกันไป

ปัจจัยหลักๆ มักมาจากการเดินและการเล่นกีฬา อย่างการเดินบนส้นสูงที่ทำให้สาวๆ ข้อเท้าพลิกก็จะเป็นในเรื่องของการเดิน รวมถึงการเดินบนพื้นที่ต่างระดับ การเดินบนพื้นที่ขรุขระ การก้าวบันไดผิดขั้นก็อาจทำให้ข้อเท้าพลิกได้

ส่วนในผู้ชายมักเกิดจากการเล่นกีฬา รวมถึงผู้สูงอายุก็อาจข้อเท้าพลิกจากปัญหาการทรงตัว หรือสายตาไม่ดี ฯลฯ ทำให้อาการข้อเท้าพลิกที่ว่าสามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัยเท่าๆ กัน

อาการข้อเท้าพลิกส่วนมากมักเป็นการพลิกเข้าด้านใน

กล่าวคือฝ่าเท้าหันเข้าสู่ภายในร่างกาย แล้วเกิดอาการเจ็บที่ด้านนอกบริเวณตาตุ่ม เนื่องจากเส้นเอ็นในบริเวณดังกล่าวเกิดการยืด ทำให้บาดเจ็บ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก จะเป็นอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
  • ระยะสอง เป็นอาการบาดเจ็บจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาด แต่ไม่ถึงครึ่งของเส้นเอ็น
  • ระยะสาม เส้นเอ็นฉีกขาดทั้งหมด

อาการของข้อเท้าพลิก

บริเวณเส้นเอ็นที่ได้รับผลกระทบจะบวม แดง เกิดการอักเสบ หากถึงขั้นฉีกขาด อาจเกิดอาการบวมที่เนื้อเยื่อ และมีอาการปวดร่วมด้วย โดยอาการของข้อเท้าพลิกมักส่งผลกระทบที่เส้นเอ็นโดยตรง ไม่ส่งผลกระทบต่อข้อต่อหรือกระดูก เว้นแต่ว่าอาการรุนแรงมากๆ จึงส่งผลข้างเคียง อย่างในผู้สูงอายุที่กระดูกบาง เวลาข้อเท้าพลิกเส้นเอ็นอาจไปกระชากกระดูกให้หักไปด้วย ส่วนในคนที่เล่นกีฬา กระดูกมักจะหักจากการเล่นกีฬามากกว่า

บางครั้งมีรอยช้ำของเลือดเกิดขึ้น ส่วนมากมักมีผลมาจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาด แต่บางครั้งก็อาจเป็นเพราะกระดูกหัก โดยวิธีแยกระหว่างกระดูกหักหรือเส้นเอ็นขาด ต้องใช้วิธีตรวจร่างกายถึงจะรู้ผล แต่สำหรับการตรวจเช็คอาการเบื้องต้น แพทย์จะใช้มือกดเพื่อหาตำแหน่งที่เจ็บที่สุด หากกดที่กระดูกแล้วเจ็บด้วยก็อาจเป็นไปได้ว่ากระดูกอาจจะหักร่วมด้วย จากนั้นก็จะ X-Ray ตามลำดับเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

สำหรับการรปฐมพยาบาลเบื้องต้นใช้หลักการของ RICE ได้แก่

  • Rest – พัก หากทำกิจกรรมอะไรอยู่ต้องหยุดพัก ไม่ว่าจะเดินหรือเล่นกีฬา
  • Ice – น้ำแข็ง คือการประคบเย็น เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว และไปเลี้ยงที่ตำแหน่งบาดเจ็บลดลง ลดอาการบวมช้ำ
  • Compression – รัด เพื่อให้เกิดอาการบวมน้อยลง
  • Elevation – การยกให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดไหลงได้สะดวก ช่วยลดอาการบวม

อาการของข้อเท้าพลิก ส่วนมากมักบวมแดง อาจมีอาการปวดร่วมด้วย

แต่ถ้าหากถึงขั้นที่ผู้ป่วยไม่สามารถลงน้ำหนักตัวได้ อาจเป็นไปได้ว่าระยะอาการอยู่ในขั้นที่สามคือเส้นเอ็นฉีกขาดทั้งหมด หรืออาจกระดูกหักร่วมด้วย ไม่แนะนำให้เดิน แต่ควรอยู่นิ่งๆ จะดีที่สุด โดยวิธีรักษาแพทย์จะต้องตรวจสอบอาการโดยละเอียดแล้วรักษาตามอาการที่เป็น

หากข้อเท้าพลิกในระดับที่เส้นเอ็นฉีกขาดหมด จากข้อเท้าพลิกเพียงอย่างเดียว การรักษาจะเป็นแบบประคับประคอง แต่ถ้าหากข้อเท้าพลิกร่วมกับบิดหมุน อาจทำให้ข้อไม่มั่นคง (ข้อหลวม) เส้นเอ็นบวม กระดูกเคลื่อนและอาจเกิดการร้าวของกระดูก อาการแบบนี้ไม่สามารถใส่เฝือกได้ แต่จะต้องผ่าตัดเพื่อทำการรักษา

โดยปกติถ้าหากเป็นอาการข้อเท้าพลิกธรรมดาไม่รุนแรง จะสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยการทานยาแก้ปวด ซึ่งอาการปวดจะลดลงภายใน 2-3 วัน และหายภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้ารุนแรงถึงขั้นข้อหลวม จะไม่สามารถรักษาเองได้ ให้สังเกตอาการหลังผ่านไป 2-3 เดือน ถ้ายังปวดอยู่อาจเสี่ยงต่ออาการของข้อหลวม ควรรีบพบแพทย์

นอกจากข้อหลวมยังมีอาการอื่นที่ไม่สามารถรักษาเองได้ เช่น กระดูกอ่อนมีการบาดเจ็บ หรือมีผังพืดเกิดเยอะและขัดภายในข้อ วิธีสังเกตอาการให้ยึดที่อาการปวดเป็นหลัก ถ้าทานยาแล้วอาการปวดไม่ลดลงเลย หรือเป็นมากขึ้นหลังผ่านไป 2-3 วัน ควรให้แพทย์ดูอาการ

สำหรับวิธีสังเกตว่าเกิดอาการข้อหลวมหรือไม่

ส่วนมากมักเกิดร่วมกับการบิดหมุนในระหว่างที่ข้อเท้าพลิก ถ้าหากพลิกธรรมดาโอกาสน้อยที่จะเกิด หรือให้สังเกตอาการเจ็บ ถ้าหากเจ็บด้านนอกเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่ข้อหลวม แต่ถ้าหากมีอาการเจ็บทั้งด้านนอกและด้านใน โดยเฉพาะการพลิกที่มีการบิดหมุนด้วย มีโอกาสเกิดสูงมาก แนะนำให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ประสบกับข้อเท้าพลิก

มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดซ้ำอีกภายในปีเดียวกัน เพราะเส้นเอ็นได้รับผลกระทบ แนะนำให้ทำการบริหารจะช่วยได้ สำหรับท่าบริหาร ทำดังนี้

  • ท่าที่ 1 นั่งเหยียดเข่าแล้วเอาผ้าดึงที่ปลายเท้า เพื่อยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย
  • ท่าที่ 2 เมื่อดีขึ้นแล้วให้ลุกขึ้นแล้วยืนบริเวณกำแพง ขาข้างที่เจ็บไว้ด้านหลัง ขาข้างปกติไว้ด้านหน้า งอเข่าขาด้านหน้าลง ให้ส้นเท้าขาข้างที่เจ็บติดพื้นตลอดเวลา เพื่อยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย ท่านี้จะเป็นการลงน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักจะเป็นตัวช่วย
  • ท่าที่ 3 บิดข้อเท้าออกด้านข้างแล้วเกร็งไว้ บิดออกข้างนอก รวมถึงกระดกข้อเท้าด้วย
  • ท่าที่ 4 บิดข้อเท้าออกด้านนอก แต่มีการถ่วง โดยการเอายางยึดเท้ากับเสา รวมถึงการกระดกข้อเท้าและหมุนข้อเท้าออกด้านนอก เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อมัดหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงสำหรับข้อเท้า
  • ท่าที่ 5 ฝึกการทรงตัวโดยการเดินบนหมอนเก่า หรืออะไรที่นุ่มๆ เมื่อเดินเก่งแล้วลองหลับตาเดิน

สำหรับข้อสงสัยที่ว่าจะสามารถแยกได้อย่างไรระหว่างอาการข้อเท้าพลิกและเส้นเอ็นอักเสบ

คำตอบคืออาการข้อเท้าพลิกและเส้นเอ็นอักเสบเป็นอาการเดียวกัน เพียงแต่ข้อเท้าพลิกเป็นการเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและทำให้เกิดอาการเส้นเอ็นอักเสบ และสำหรับข้อสงสัยที่ว่าการใช้ผ้าพันข้อเท้าไว้ อาจทำให้บวมมากขึ้นจริงหรือไม่ คำตอบคือมีส่วนถ้าหากพันแน่นเกินไป โดยการพันผ้าที่ดีควรพันในแรงตึงที่พอดี และพันให้ถูกวิธี จะช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น ถ้าหากเท้าพลิกไปด้านหนึ่งให้พันเพื่อดังกลับมาอีกด้านหนึ่ง วิธีการนี้อาจต้องเรียนรู้ก่อน และการพันผ้าอย่าพันเป็นวงๆ ขึ้นไป เพราะจะทำให้บวมมากขึ้น แต่ให้พันเป็นเลขแปดหรือพันไขว้เพื่อประคับประคองตัวของข้อเท้าเอาไว้

สุดท้ายนี้สำหรับวิธีป้องกันข้อเท้าพลิก คือ

การบริหารให้ข้อแข็งแรงเสมอ หากเกิดเหตุการณ์ก็จะช่วยให้อาการไม่รุนแรง รวมถึงระวังเรื่องการเดิน หากต้องเดินในพื้นที่ขรุขระ ควรระวังให้มาก และหลีกเลี่ยงการเดินในที่มืด หลายครั้งเรามักพบว่าคนที่เดินบันไดบ้านตัวเอง ไม่เปิดไฟหรือเปิดไม่เพียงพอ ทำให้ก้าวพลาดและเกิดอุบัติเหตุทำให้ข้อเท้าพลิก

รวมถึงการเล่นกีฬา ควรปฏิบัติให้เหมาะสมกับประเภทกีฬาที่เล่น เช่น การสวมใส่รองเท้าที่เหมาะกับกีฬาประเภทนั้นๆ อย่างการเล่นบาสเกตบอลไม่ควรสวมรองเท้าวิ่ง เพราะไม่หุ้มข้อ แต่ควรสวมรองเท้าสำหรับบาสเกตบอลโดยเฉพาะ ที่ช่วยประคับประคองข้อเท้าเอาไว้

 

ข้อมูลจาก
อ. พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์
และ อ. นพ.ศิวดล วงค์ศักดิ์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “รายการพบหมอรามา | ลัดคิวหมอ ข้อเท้าพลิก” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8

กระดูก โรคกระดูกพรุน
กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และมีโอกาสแตกหักได้ง่าย เป็นอาการของ โรคกระดูกพรุน ที่หากปล่อยไว้นานอาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
บทความสุขภาพ
14-03-2024

12