7แบบไหนกันที่เรียกว่าสมาธิสั้น
หน้าแรก
แบบไหนกันที่เรียกว่าภาวะสมาธิสั้นของเด็ก
แบบไหนกันที่เรียกว่าภาวะสมาธิสั้นของเด็ก

สมาธิสั้นเป็นภาวะของเด็กกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่มีความเป็นกังวลอยู่มาก เนื่องจากภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเด็กด้านการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง โดยผู้ปกครองเองก็ยังมีความสับสนในการแยกแยะอาการอยู่ไม่น้อย นำมาซึ่งคำถามว่าแบบไหนกันที่จัดว่าเด็กมีภาวะสมาธิสั้นที่แท้จริง และควรได้รับการรักษา

โรคสมาธิสั้นคือ

โรคที่เกี่ยวกับสมาธิโดยตรง ปกติแล้วคนเราจะมีสมาธิในระดับหนึ่ง แต่ในเด็กสมาธิสั้นจะมีสมาธิที่สั้นกว่าเด็กวัยเดียวกันประมาณหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนและการใช้ชีวิต โดยประชากรไทยมีอัตราของผู้ที่มีภาวะสมาธิสั้นอยู่ที่ 8% ของประชากรทั้งหมด

วิธีสังเกต

เด็กที่เป็นสมาธิสั้นจะไม่สามารถทำงานที่ต้องจดจ่อมากได้สำเร็จ หรือไม่สามารถฟังอะไรนาน ๆ ได้ เบื้องต้นอาจดูเหมือนเด็กฟังในสิ่งที่พูดแต่แท้จริงแล้วไม่ได้ฟัง หรือพูดแทรกขึ้นมาก่อนที่ผู้พูดจะพูดจบ ไม่มีความอดทน ไม่สามารถรอคอยอะไรได้ และบางรายยังซุกซนมาก อยู่ไม่นิ่งไม่ได้ มีพฤติกรรมเล่นผาดโผน

โดยลักษณะเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กหลาย ๆ คน แต่การจะแยกแยะว่าเด็กเป็นสมาธิสั้นหรือไม่นั้น ให้เปรียบเทียบกับเด็กวัยเดียวกันเป็นหลัก หากพบว่าเด็กเข้าข่ายสมาธิสั้นให้พาไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ประเมินว่าเป็นสมาธิสั้นจริงหรือไม่ หากเป็นจริงแพทย์จะดูแลต่อไป

ผลกระทบจากภาวะสมาธิสั้น

เด็กจะได้รับบาดเจ็บเป็นประจำ จากการเล่นซุกซนและไม่ระมัดระวังตัว อีกทั้งยังมีปัญหากับเพื่อนได้ เพราะบางรายมัวจดจ่ออยู่กับการเล่นมากเกินไป และการเล่นนั้นอาจทำให้เพื่อนเจ็บตัว เช่น เล่นเตะต่อย เป็นต้น ทั้งที่ไม่มีเจตนาเกเร แต่ก็ทำให้เพื่อนไม่อยากเล่นด้วยได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงการเรียน ทำให้ผลการเรียนออกมาแย่กว่าสติปัญญาที่มี เพราะเด็กสมาธิสั้นส่วนหนึ่งเป็นเด็กฉลาด แต่เนื่องจากไม่มีสมาธิมากพอที่จะตั้งใจเรียนได้ จึงเกิดปัญหาตามมา

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจคือยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งมีอาการคล้ายสมาธิสั้น แต่ไม่ได้เป็นสมาธิสั้น สาเหตุสำคัญเป็นเพราะถูกเลี้ยงดูด้วยการเอาใจมากเกินไป เมื่อปรับการเลี้ยงดูใหม่เด็กจะหายได้เอง แต่ถ้าหากเด็กเป็นสมาธิสั้นจริง ต่อให้ปรับการเลี้ยงดูแล้ว อาการของเด็กจะยังคงอยู่ไม่หายไปไหน

สาเหตุที่ทำให้เกิดสมาธิสั้น

ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าในเด็กที่เป็นสมาธิสั้น 50% มีพ่อแม่เป็นสมาธิสั้นด้วย จึงเชื่อว่าปัจจัยหนึ่งมาจากพันธุกรรม นอกจากนี้ยังปัจจัยที่ส่งผลระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ มารดาสูบบุหรี่ หรือมารดาได้รับควันบุหรี่มือสอง (คนในบ้านสูบบุหรี่) ก็ทำให้เด็กที่เกิดมามีภาวะสมาธิสั้นได้

สิ่งตามมาในอนาคตสำหรับเด็กที่เป็นสมาธิสั้น

คือมักไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม เนื่องจากการกระทำของตนที่อาจซุกซนเกินไป ครั้นอยู่ในห้องเรียนอาจโดนครูดุว่า หากเป็นเด็กวัยประถมจะเริ่มไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะเด็กวัยนี้จะไม่คบเพื่อนที่โดนครูดุว่าเป็นประจำ ทำให้ตัวเด็กสมาธิสั้นเริ่มมีปัญหา ยิ่งถ้าหากอยู่บ้านโดนพ่อแม่ดุว่าด้วยเช่นกัน จะทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นตามมา หรือเด็กบางรายอาจมีพฤติกรรมดื้อเพื่อต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน รวมถึงบางรายยังมีนิสัยเกเรประชดสังคมด้วย หรือแม้แต่ในคนที่มีภาวะสมาธิสั้นจนไม่สามารถประสบความสำเร็จในเรื่องใดเลย ก็มีปัญหาตามมาได้ จะเห็นได้ว่าความจริงแล้วตัวภาวะสมาธิสั้นเองไม่ได้เป็นอันตรายมากนัก แต่ที่อันตรายกว่าคือสิ่งที่ตามมาจากภาวะดังกล่าว

การรักษา

เนื่องจากสมาธิสั้นเป็นปัญหาที่เกิดในสมอง แพทย์จะใช้ยาและปรับพฤติกรรมร่วมกันเพื่อรักษา การรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งมักไม่ค่อยสำเร็จ ส่วนใหญ่ต้องใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน เมื่อพาเด็กไปพบแพทย์ และแพทย์ประเมินว่าเด็กเป็นสมาธิสั้นจริง แพทย์จะจัดยาให้ตามแผนการรักษา

การปรับพฤติกรรมนั้นพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญ

คือต้องสร้างวินัยให้เด็ก หากพบว่าพฤติกรรมไหนของเด็กไม่เหมาะสม จะต้องทำโทษให้เด็กไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการ ส่วนการดุว่านั้นไม่เป็นประโยชน์นักสำหรับเด็กสมาธิสั้น ควรหลีกเลี่ยงการจุกจิกหรือให้ความสำคัญในรายละเอียดมากเกินไป รวมถึงการสร้างเงื่อนไขหลายอย่าง เพราะเด็กสมาธิสั้นไม่สามารถจำได้หมด หรือไม่สามารถทำได้ครบ จึงควรใส่ใจเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ ก่อนจะดีที่สุด

ที่สำคัญคือการให้รางวัลช่วยได้มากเมื่อเด็กทำงานสำเร็จ เพราะส่วนมากเด็กกลุ่มนี้มักทำงานต่าง ๆ ไม่สำเร็จก็ล้มเลิกกลางคัน เนื่องจากเปลี่ยนความสนใจได้ง่าย ดังนั้นพ่อแม่จึงควรตั้งรางวัลตอบแทนเพื่อให้เด็กมีแรงจูงใจในการทำสิ่งนั้น และควรเปลี่ยนรางวัลไปเรื่อย ๆ โดยรางวัลที่ตั้งไว้อาจเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ การทำโทษด้วยวิธีดุว่าและการตี ไม่ทำให้สมาธิสั้นดีขึ้นถาวรแต่จะดีขึ้นเพียงชั่วคราว ขณะเดียวกันยังทำให้ความมั่นใจของเด็กลดหายไปอีกด้วย

นอกจากนี้การเก็บบ้านให้เรียบร้อยสำคัญมาก อย่างเช่นของเล่นเด็ก ไม่ควรวางเกลื่อนกลาดบ้าน และไม่ควรมีมากไป เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นเด็ก ทำให้เด็กไม่สนใจในสิ่งที่ทำอยู่ รวมถึงไม่ฟังในสิ่งที่พ่อแม่และผู้ปกครองพูด เพราะมัวเอาใจไปจดจ่ออยู่กับของเล่นเหล่านั้น จึงควรเก็บให้เรียบร้อยเสมออย่าให้เด็กเห็น เมื่อต้องการให้เด็กทำอะไรหรือต้องการสั่งสอนในเรื่องอะไรก็ตาม

หากต้องการให้เด็กทำบางอย่างให้สำเร็จ ควรสร้างแรงจูงใจในการทำงานด้วยผลลัพธ์ที่เร้าใจ รวมถึงการกล่าวชื่นชมเด็กเมื่อทำสำเร็จ และอย่าคาดหวังในตัวเด็กสูงมากเกินไป เพราะอะไรที่สมบูรณ์แบบหากเด็กไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ เขาจะล้มเลิกในการทำสิ่งนั้นไปในที่สุด พยายามทำให้เด็กเชื่อในตัวเองว่าพวกเขาทำได้ และสามารถพัฒนาได้อีกเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือพยายามฝึกวินัยให้เด็ก จะช่วยแก้ไขภาวะสมาธิสั้นได้ในที่สุด

 

ข้อมูลจาก
รศ. พญ.สุวรรณี พุทธิศรี
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเข้าข่าย“สมาธิสั้น” : Rama Square ช่วง จิตคิดบวก” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

6