พบหมอรามา_YouTube
หน้าแรก
โรคซึมเศร้าหายได้...ถ้ารักษา
โรคซึมเศร้าหายได้...ถ้ารักษา

คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีอารมณ์ซึมเศร้าที่มากไปกว่าการซึมเศร้าตามปกติในชีวิตประจำวันที่เราสูญเสียอะไรต่าง ๆ หรือผิดหวังอะไรต่าง ๆ คนที่ซึมเศร้าจะซึมเศร้าลงลึกไปทั้งวันเลย แทบจะไม่มีช่วงที่มีอารมณ์ที่เบิกบานขึ้นมา รวมถึงความรู้สึกที่อยากจะกระตือรือร้นทำอะไรก็หมดไป เคยทำอะไรสนุก ก็ไม่สนุกกับสิ่งนั้น รวมถึงจะมีอาการร่วมด้วยต่าง ๆ เช่น

  • การนอนไม่หลับ
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • ความคิดความจำสมาธิลดลง
  • และที่สำคัญคือจะมีความคิดที่ไปทางด้านลบเยอะ ไม่ว่าลบต่อตัวเอง ลบต่อผู้อื่น แล้วก็คิดว่าตัวเองไม่ดี ตัวเองทำผิดเรื่องต่าง ๆ มาในอดีต จนกระทั่งคิดว่าเราไม่น่าจะมีชีวิตอยู่เลย จนกระทั่งคิดถึงการฆ่าตัวตาย

อันนี้คืออาการทั้งหมด แต่ว่าคนที่เป็นซึมเศร้าก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องมีอาการถึงขึ้นที่จะต้องฆ่าตัวตายทุกคน

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากหลายปัจจัยมาก

ในคนไข้ที่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ละคนก็มีความเป็นมาไม่เหมือนกัน โดยภาพรวมก็เป็นปัจจัยทางด้านจิตใจ ซึ่งคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็มีแนวโน้มที่จะมองตัวเองในทางลบอยู่แล้ว อาจจะเกี่ยวกับการเลี้ยงดูมาตั้งแต่วัยเด็กที่อาจจะถูกทอดทิ้ง หรือว่าใช้ความรุนแรง หรือว่ามีความห่างเหินทางด้านจิตใจระหว่างผู้ป่วยกับพ่อแม่ หรือมีการเลี้ยงดูที่ไม่ค่อยถูกต้องต่าง ๆ ไม่ค่อยได้เสริมให้เด็กมีกำลังใจหรือว่าเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือว่าอาจจะมีความเครียดต่อเนื่องกันมานาน ๆ สุดท้ายแล้ว ประสบการณ์ที่เขาเติบโตมา ไม่ว่าจะเป็นจากการเลี้ยงดู หรือว่าปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดความเครียดต่าง ๆ มันก็มีผลต่อการทำงานของสมองที่ควบคุมเรื่องของอารมณ์

ในสมัยก่อนเรารอให้ซึมเศร้าเยอะจนกระทั่งบางคนฆ่าตัวตายแล้วถึงจะมาหาหมอ แต่ปัจจุบันเราไม่ต้องรอให้อาการหนักขนาดนั้น เรามีแบบทดสอบที่จะคัดกรองตัวเอง ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ของรามาธิบดีก็มี ของกรมสุขภาพจิตก็มี เขาจะมีว่าทำอันนี้ได้กี่คะแนน อาการรุนแรงขนาดไหนแล้ว ซึ่งปัจจุบันเราก็จะสามารถเข้าถึงพวกนี้ได้ และใน Line Official ของรามาธิบดีก็มีแบบสอบถามอันนี้อยู่ อันนี้เป็นอันที่สามารถประเมินตัวเองได้

ถ้าเราประเมินตัวเอง แล้วรู้สึกว่าอารมณ์ของเราเปลี่ยนไปจากเดิม มันมีผลกระทบต่อชีวิตของเราเยอะ จากที่เราเคยมีความสุขในการที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือทำงานตามหน้าที่ได้ตามปกติ มันเริ่มท้อถอยไป แล้วก็รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยว ซึมเศร้า ไม่มีความสุข อาจจะคิดลบต่าง ๆ หรือมีอาการนอนไม่หลับ ความคิดความจำลดลงนั้น ก็ควรจะมาพบแพทย์ได้แล้ว ไม่ต้องรอให้อาการเยอะจนกระทั่งความคิดด้านลบมันอยู่เป็นเวลานาน หรือจนกระทั่งคิดจะทำร้ายตัวเอง

การรักษาด้วยยาทางจิตเวชที่รักษาโรคซึมเศร้า

จะไม่ใช่ยาที่รับประทานแล้วจะดีขึ้นมาในวันสองวัน ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเป็นสัปดาห์ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปถึงจะดีขึ้น หากถามว่ามีผลข้างเคียงอย่างไร โดยทั่วไป ถ้าเป็นยารักษาโรคซึมเศร้ารุ่นเก่า ๆ ก็จะมีผลข้างเคียงเยอะตั้งแต่ปากแห้ง ท้องผูก ใจสั่น แต่ยารักษาโรคซึมเศร้ารุ่นหลัง ๆ ผลข้างเคียงต่าง ๆ จะน้อยกว่ายารุ่นก่อน แต่ก็จะยังมีอยู่ เช่น อาจจะมีความรู้สึกคลื่นไส้ พะอืดพะอม บางคนก็จะเวียนหัว อาจจะมีใจสั่นมือสั่นบ้าง แต่โดยทั่วไป ผลข้างเคียงมันก็จะค่อย ๆ ลดลงเหมือนเราทนกับยาได้มากขึ้น

ถ้าหมอไม่ได้อธิบายไว้ก่อน คนไข้ก็จะไม่ค่อยอยากกินยาเพราะว่าการกินยาช่วงแรก ผลของมันจะยังไม่เห็น แต่ว่าผลข้างเคียงจะมาก่อน เพราะฉะนั้นคนไข้ก็จะต้องเข้าใจเหมือนกันว่า ช่วงแรกอาจจะต้องทนกับผลข้างเคียงนิดหนึ่ง แล้วมันก็จะลดลง ส่วนเรื่องอารมณ์มันจะใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ที่จะเริ่มเห็นผลได้ชัดเจน

การรักษาโรคซึมเศร้าต้องมีการบำบัดทางด้านจิตใจร่วมด้วย และยารักษาโรคซึมเศร้าตัวหนึ่ง ไม่ใช่ได้ผลกับทุกคน บางคนก็อาจจะได้ผลดีกับตัวนี้ บางคนก็อาจะได้ผลดีกับอีกตัว เพราะฉะนั้น เวลาเริ่มรักษา ถ้ารักษาไประยะหนึ่ง เช่น 4 สัปดาห์ หรือ 6 สัปดาห์ แล้วดูอาการยังไม่ค่อยดีขึ้น หมอก็อาจจะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน

คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารักษาด้วยยาอย่างเดียวไม่พอ มันมีวิธีอื่น ๆ อีก

อันดับแรกก็คือ ถ้าพอไหว พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด อาจจะต้องฝืนไปบ้าง บางคนออกไปข้างนอก ไปพบปะผู้คน บางทีทำได้ แต่เขาบอกว่ากลับมาบางทีเหมือนมันดูดพลังไปหมดทั้งวันเลย กลับมานอน แต่ว่าก็ต้องพยายามทำนิดหนึ่ง คือพยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติเข้าไว้ แล้วก็อาจจะต้องใช้วิธีอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกาย การผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีทั่ว ๆ ไป เช่น ฟังเพลงหรืออะไรทำนองนี้ ถ้ามีความพร้อมที่จะสนใจทางธรรมะ ก็เป็นสิ่งที่ดีอันหนึ่ง แต่โดยทั่วไปคนที่ซึมเศร้าช่วงแรก ๆ ใจจะยังไม่พร้อมที่จะไปทางฝึกสมาธิ ไปทางเรียนรู้ธรรมะ แต่ถ้าพร้อมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วย

สิ่งที่ช่วยอีกอันหนึ่งคือ

มนุษย์มีพื้นฐานก็คือต้องการสังคม ต้องการความผูกพันกับผู้อื่น ก็พยายามที่จะเข้าหาเพื่อนหรือว่าคนที่เราคุ้นเคย ไว้วางใจ แล้วก็อาจจะพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ปัญหาต่าง ๆ บางทีปัญหาของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจจะไม่เยอะนัก แต่ว่าพอเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว มันจะทำให้เราขยายคือทำให้เรามองว่ามันคงจะแย่ไป แต่ว่าถ้ามีคนอื่นที่เขาคอยให้คำปรึกษาและคอยรับฟังเรา บางทีเขาอาจจะมองเห็นวิธีแก้ที่ไม่ยากนักได้

การมาพบจิตแพทย์ก็ไม่ต้องรอให้เป็นโรคทุกอย่างที่มีอาการหนักแล้ว

แต่ก็คือ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าจิตใจเราไม่เป็นปกติสุข ไม่เหมือนที่เราเคยเป็น หรือมีความทุกข์เยอะ มีความลำบากใจ หรือแม้แต่บางทีเราอาจจะจัดการกับอะไรบางอย่างไม่ได้ แล้วมันมีผลกระทบต่ออาการทางกายหรือทางใจบางอย่าง ก็สามารถที่จะมาปรึกษาจิตแพทย์ได้ การเข้าหาจิตแพทย์ตั้งแต่อาการน้อย ๆ ปัญหาต่าง ๆ เหมือนกัน ถ้าเราแก้ตั้งแต่น้อย ๆ มันจะแก้ได้ง่ายกว่า คือถ้ามันเป็นเยอะไปแล้ว มันก็ต้องใช้เวลา และยิ่งถ้าเป็นซึมเศร้าไปแล้ว แล้วเป็นหลายครั้ง มันก็จะยิ่งทำให้การรักษายากขึ้น

 

ข้อมูลโดย
รศ. นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “พบหมอรามาฯ : “โรคซึมเศร้า” หายได้ถ้ารักษา : Rama Health Talk (ช่วงที่ 2)” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะขาดน้ำ ที่ผู้สูงอายุต้องระวัง ยิ่งในช่วงหน้าร้อน อากาศแห้งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจเพื่อนำไปป้องกันก่อนจะเกิดภาวะนี้กับร่างกาย
บทความสุขภาพ
24-04-2024

5

บทความ เรื่อง ไส้ติ่งอักเสบ อาการเริ่มต้น จะมีอาการ ปวดท้องข้างขวา แบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการเริ่มต้นคือปวดท้องข้างขวาแบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
บทความสุขภาพ
18-04-2024

2

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

3

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

3