ไอกรนในเด็ก
หน้าแรก
โรคไอกรนในเด็ก อันตรายถึงตาย อาการคล้ายโรคหวัดธรรมดา
โรคไอกรนในเด็ก อันตรายถึงตาย อาการคล้ายโรคหวัดธรรมดา

โรคไอกรน เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่จะมีความรุนแรงหากเกิดในวัยเด็กและค่อนข้างอันตราย อีกทั้งยังมีอาการคล้ายกับโรคหวัดทั่วไป ทำให้พ่อแม่หลายรายที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจไม่ทันได้ระวังภาวะของโรคดังกล่าว

โรคไอกรนเกิดจาก

เป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นโรคที่ปัจจุบันพบน้อยเพราะมีวัคซีนป้องกันโรค ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวมีจำนวนไม่มากนัก สามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทยจากสถิติปี 2560 ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคไอกรนทั้งหมด 76 ราย คิดเป็น 0.1 รายต่อประชากร 1 แสนราย และประมาณ 50% ของผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุ 1-3 เดือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเลขดังกล่าวยังไม่มีความแม่นยำเท่าที่ควร เนื่องจากตัวโรคมีการวินิจฉัยค่อนข้างยาก

อาการของโรคไอกรน

หากเกิดในผู้ใหญ่ไม่มีความรุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ไม่มีไข้ มีเพียงอาการไอเท่านั้น แต่ถ้าหากโรคไอกรนเกิดกับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ที่พบบ่อยคือไอหนักจนตัวเขียวหรือไอจนหยุดหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจน และอาจเสียชีวิตได้ ส่วนอาการชักสามารถพบได้เช่นกันแต่พบไม่บ่อยนัก

การเกิดไอกรนในวัยเด็กมักเกิดจากการได้รับวัคซีนป้องกันที่ยังไม่ครบหรือบางรายอาจยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย ทำให้เด็กยังขาดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากวัคซีนป้องกันไอกรนเข็มแรกจะได้รับเมื่ออายุ 2 เดือน ส่วนการรับเชื้อส่วนมากมักมีการรับมาจากผู้ใหญ่ที่ป่วยและมีอาการไอ ซึ่งในวัยผู้ใหญ่มักไม่ยอมไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการไม่รุนแรง ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังเด็กที่อยู่ใกล้ชิดในที่สุด

การวินิจฉัยโรคไอกรน

โดยมาตรฐานต้องอาศัยวิธีการเพาะเชื้อ แต่การเพาะเชื้อนั้นทำได้ยาก จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก อีกหนึ่งวิธีคือการตรวจสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค PCR ของตัวเชื้อซึ่งสามารถทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ บางโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น สรุปโดยรวมคือการวินิจฉัยยังคงมีข้อจำกัดอยู่มากพอสมควร

การรักษาโรคไอกรน

คือการให้ยาปฏิชีวนะ โดยยารักษาจะได้ผลดีเมื่อให้ผู้ป่วยในช่วง 2-3 วันแรกที่มีอาการ หากผู้ป่วยได้รับยาหลังจากนั้นการรักษาอาจไม่เป็นผลดีนัก ดังนั้นควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเมื่อมีอาการเริ่มต้น

การป้องกันโรคไอกรน

คือการฉีดวัคซีน กลุ่มแรกเป็นการให้วัคซีนในเด็กทารกแรกเกิด โดยปกติแล้ววัคซีนไอกรนจะบรรจุรวมอยู่ในวัคซีนเข็มรวมป้องกันทั้งหมด 3 โรค ได้แก่ ไอกรน คอตีบ และบาดทะยัก สำหรับวัคซีนไอกรนมี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่มีสเต็มเซลล์และชนิดไร้เซลล์ โดยวัคซีนที่ถูกบรรจุรวมอยู่ในวัคซีนไอกรน คอตีบและบาดทะยักจะเป็นชนิดที่มีสเต็มเซลล์ ให้ผลลัพธ์ดีเทียบเท่ากับชนิดไร้เซลล์ แต่มักมีผลข้างเคียงมากกว่าชนิดไร้เซลล์ ได้แก่ ปวดบวมบริเวณที่ฉีดหรือมีไข้ สำหรับวัคซีนชนิดไร้เซลล์จะถูกรวมอยู่ในเข็มเดียวกันกับวัคซีนป้องกันโรคอื่นด้วยเช่นกัน บางยี่ห้อนำไปรวมกับวัคซีนป้องกันตับอักเสบชนิดบี บางยี่ห้อรวมกับวัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด หรือบางยี่ห้อรวมกับวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ เป็นต้น

การให้วัคซีนในวัยเด็ก

เข็มแรกจะให้ตอนอายุ 2 เดือน เข็มที่สองให้ตอนอายุ 4 เดือน เข็มที่สามให้ตอนอายุ 6 เดือน เข็มที่สี่ให้ตอนอายุ 1 ปี 6 เดือน และเข็มที่ห้าให้ตอนอายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นจะให้วัคซีนอีกครั้งตอนอายุ 10-12 ปี แต่ถ้าหากเด็กคนไหนไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนช่วง 10-12 ปี อาจรับช่วงวัยรุ่นอายุ 15-16 ปี และหลังจากนั้นควรได้รับวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี

กลุ่มคนที่ควรได้รับวัคซีนไอกรนอีกหนึ่งกลุ่มคือหญิงตั้งครรภ์

โดยปกติกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักอยู่แล้ว แนะนำให้รับเป็นวัคซีนรวมที่มีไอกรนรวมอยู่ด้วย โดยควรได้รับเมื่ออายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ นอกจากนี้วิธีป้องกันอีกหนึ่งวิธีคือการให้วัคซีนกับผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านที่มีเด็กเล็ก เพื่อป้องกันการเกิดโรคในผู้ใหญ่ที่จะแพร่เชื้อไปยังเด็กได้

ข้อแนะนำ

หากพบว่าเด็กมีอาการไอเรื้อรังนาน 2-3 สัปดาห์ ให้รีบพาไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคไอกรนได้ ที่สำคัญควรป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กเล็ก โดยให้คุณแม่และผู้ใหญ่ในบ้านที่มีเด็กเล็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน

 

ข้อมูลจาก
อ. พญ.โสภิดา บุญสาธร
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “พ่อแม่ต้องรู้ “โรคไอกรน” อันตรายต่อชีวิตลูกน้อย : พบหมอรามา ช่วง Big Story “ ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง เลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง หรือ ความดันเลือด สูง
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจนทำให้หลายคนไม่รับรู้ถึง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นควรศึกษาความรู้เพื่อเลี่ยงการเกิดโรคนี้ในอนาคต
บทความสุขภาพ
27-03-2024

5

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8