การสัมภาษณ์และการตรวจสภาพจิตเด็กและวัยรุ่น

 
เด็กและวัยรุ่นมักไม่มีความต้องมาพบแพทย์เอง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเห็นว่าเด็กหรือวัยรุ่นควรมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยสาเหตุและให้แพทย์ช่วยหาทางแก้ไขปัญหาหรือโรคทางจิตเวช ปัญหาที่เป็นสาเหตุนำมาตรวจอาจเป็นปัญหาทางด้านพัฒนาการ เช่น เด็กยังไม่พูดเมื่อถึงวัยที่ควรพูดได้ เด็กอาจมีปัญหาการเรียนโดยเรียนรู้ช้า ไม่สนใจเรียน หรือมีผลการเรียนตกต่ำลง นอกจากนั้นก็อาจมีปัญหาพฤติกรรมต่างๆ เช่น ก้าวร้าว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ชนมากอยู่ไม่นิ่ง หรือมีพฤติกรรมต่างไปจากเด็กปกติวัยเดียวกัน ฉะนั้นวัตถุประสงค์การตรวจทางจิตเวชจึงมี 2 ประการ คือ เพื่อการวินิจฉัย และเพื่อการวางแผนการรักษา
 
การตรวจทางจิตเวชประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
 
1. ประวัติ
 
2. การตรวจสภาพจิต
 
3. การตรวจร่างกาย

ประวัติ

การตรวจเด็กเล็กอาจให้ผู้ใหญ่อยู่ด้วยก่อนในระยะแรก การตรวจวัยรุ่นควรสัมภาษณ์ประวัติและตรวจวัยรุ่นก่อนผู้ใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นวัยรุ่นอาจไม่ร่วมมือ เนื่องจากคิดว่าแพทย์เป็นพวกเดียวกับผู้ใหญ่ไปแล้ว เช่นเดียวกับการตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาของการแพทย์ด้านอื่นๆ คือประวัติที่ถูกต้องจะช่วยการวินิจฉัยได้อย่างมาก โดยผู้ตรวจต้องมีความรู้มาก่อนว่าอาการที่ผู้ป่วยมาพบนั้นอาจมีสาเหตุจากปัญหาอะไรบ้าง (differential diagnosis ) เพื่อที่จะได้ถามประวัติที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การวินิจฉัย เพราะในทางปฏิบัติแล้วคงไม่สามารถถามประวัติละเอียดทุกด้าน เนื่องจากเสียเวลามาก และบางส่วนก็ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยรายนั้น ยกเว้นผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนจนแพทย์แยกแยะไม่ออก
 
การถามประวัติอย่างละเอียดอาจจะทำให้แพทย์ได้ร่องรอยของต้นเหตุของปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกนักศึกษาควรฝึกสัมภาษณ์ประวัติให้ครบถ้วนเพื่อให้เกิดความชำนาญเสียก่อน เมื่อชำนาญแล้วก็สามารถเลือกใช้ได้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ประวัตินี้อาจได้จากการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเด็กหลายๆคน เช่น พ่อ, แม่, ญาติ, ครู, และตัวเด็กเอง ประวัติที่ละเอียดประกอบไปด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้
 

1.1 ประวัติส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ อายุ เพศ การศึกษา ที่อยู่ ศาสนา

- อาการสำคัญ
 
- ประวัติปัจจุบัน
 
- ประวัติเจ็บป่วยในอดีต
 
- ประวัติพัฒนาการ
 
- ประวัติเจ็บป่วยในครอบครัว

1.2 ประวัติเกี่ยวกับบ้านและครอบครัวของเด็ก

สิ่งที่เราต้องการจะทราบคือ มีปัญหาในครอบครัวหรือไม่ ข้อมูลนี้อาจได้จากทั้งผู้ใหญ่และตัวเด็กเอง แพทย์อาจถามจากกว้างๆ แล้วเจาะจงมากขึ้นตามลำดับ 5 ข้อดังนี้
 
1. ครอบครัวประกอบไปด้วยใครบ้าง
 
2. อาชีพ ระดับการศึกษา ค่านิยมและความคาดหวังของพ่อแม่
 
3. บ้านที่อยู่มีลักษณะเป็นอย่างไร มีความสัมพันธ์อย่างไร เช่น ใครเป็นคนดูแลเด็ก เด็กนอนกับใคร
 
4. ครอบครัวมีปัญหาหรือไม่ เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อมีภรรยาน้อย พ่อติดเหล้า แม่ติดการพนัน แม่มีปัญหากับแม่สามี ครอบครัวมีปัญหาการเงิน มีปัญหาหนี้สิน มีสมาชิกเจ็บป่วยเรื้อรัง หรืออื่นๆ
 
5. เด็กมีปัญหาในบ้านหรือไม่ เช่น อิจฉาน้องมาก ซนมาก ดื้อมากจนถูกทำโทษบ่อย ก้าวร้าว ไม่ยอมทำการบ้าน หรืออื่นๆ แล้วแต่ลักษณะของปัญหา ในกรณีที่เด็กเป็นโรคจิตก็อาจจะมี พฤติกรรมรุนแรงอื่นๆ เช่น ทำร้ายตัวเอง ไม่ยอมนอนกลางคืน กรีดร้องโดยไม่มีสาเหตุ

1.3 ประวัติเกี่ยวกับโรงเรียนและการเรียนของเด็ก

เช่นเดียวกับครอบครัว ก็คือเราต้องการทราบว่าเด็กมีปัญหาที่โรงเรียนหรือไม่ ข้อมูลอาจจะได้จากทางโรงเรียน พ่อแม่ หรือตัวเด็กเอง เมื่อจะขอข้อมูลจากทางโรงเรียน ควรขออนุญาตพ่อแม่เด็กแล้วจึงติดต่อแจ้งกับโรงเรียนทางจดหมาย หรือทางโทรศัพท์ ทางโรงเรียนอาจฝากข้อมูลมากับพ่อแม่ของเด็กถึงแพทย์ก็ได้ สิ่งที่ต้องทราบมี 5 ประการ คือ
 
(1) เด็กชอบไปโรงเรียนไหม
 
(2) มีปัญหาการเรียนหรือไม่
 
(3) มีปัญหากับครูหรือไม่
 
(4) มีปัญหากับเพื่อนหรือไม่ และมีเพื่อนสนิทบ้างไหม
 
(5) สามารถร่วมกิจกรรมของโรงเรียนได้อย่างมีความสุขหรือสนุกไหม

การตรวจสภาพจิต

การตรวจสภาพจิตเด็กเป็นส่วนที่จะไปประกอบกับประวัติที่ได้เพื่อประเมินว่า เด็กมีปัญหาหรือภาวะผิดปกติทางจิตเวชหรือไม่ หากมี การวินิจฉัยคืออะไร เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือ แก้ไข หรือรักษาต่อไปได้
 
นักศึกษาต้องมีความรู้พื้นฐานว่า เด็กปกติแต่ละวัยจะมีลักษณะ อารมณ์ ความคิดและ พฤติกรรมเป็นปกติสมวัย
 
เด็กต้องมีการปรับตัวเหมาะสมกับวัยของเด็ก สิ่งที่ปกติในวัยหนึ่งอาจเป็นสิ่งผิดปกติในอีกวัยหนึ่งได้ เช่น ในวัยเตาะแตะ (Toddler stage) การร้องไห้อาละวาดแผลงฤทธิ์ (temper tantrum) นานๆ ครั้งนับเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเป็นถี่มากหรือมามีอาการตอนอายุมากกว่านี้ก็นับว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ควรแก่การหาสาเหตุเพื่อแก้ไขต่อไป
 
การตรวจสภาพจิตก็เหมือนการสัมภาษณ์ส่วนประวัติของผู้ป่วย คือไม่จำเป็นต้องตรวจทุกหัวข้อ ซึ่งก็เหมือนการตรวจโรคทางกายด้วยคือไม่ตรวจทุกระบบในคนไข้ทุกคน แต่ต้องตรวจได้ครอบคลุมตามการวินิจฉัยแยกโรคที่ควรจะเป็น ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุของโรคได้ การตรวจอย่างละเอียดจะเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้มองข้ามโรคที่พบไม่บ่อยซึ่งทำให้แพทย์คิดถึงน้อยไปในบางครั้ง
 
ฉะนั้นในขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ควรจะฝึกตรวจให้ครบถ้วนจนชำนาญก่อน เมื่อชำนาญแล้วจึงเลือกการตรวจให้เหมาะสมกับปัญหาหรืออาการของผู้ป่วย หรือตรวจให้ละเอียดทั้งหมดถ้าจำเป็นตามหัวข้อการตรวจสภาพจิต ดังนี้
 
1) ลักษณะทั่วไป (General Appearance)
 
ผู้ตรวจต้องสังเกต รูปร่าง หน้าตา กริยา ท่าทาง ว่าผิดปกติหรือไม่
 
2) การพูดและการใช้ภาษา (Speech and language)
 
เด็กปกติควรสามารถพูดและใช้ภาษาได้เหมาะสมกับวัย เช่นอายุ 5-7 ปี เด็กควรพูดได้ชัดเจน
 
3) ความคิด (Thought)
 
ควรดูว่าเด็กมีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาของตน มีความวิตกกังวลเรื่องใดหรือไม่ หรือมีความคิดผิดปกติอื่นๆ หรือไม่ เช่น ความคิดแบบหลงผิด มีความคิดแบบเฟ้อฝันมากไปหรือไม่ ( fantasy) มีความคิดเกี่ยวกับตัวเองอย่างไร (self-concept)
 
4) อารมณ์ (Affect & mood)
 
ตรวจโดยสังเกตว่าเด็กมีอารมณ์เป็นอย่างไร เช่น เครียด โกรธ หงุดหงิด เศร้า ไม่มีอารมณ์ หรืออารมณ์ดีปกติ เหมาะสม และเด็กปกติควรรู้สึกมีอารมณ์ผูกพัน (attachment, object relation) กับผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด เช่น แม่
 
5) การรับรู้ (Orientation & perception)
 
สังเกตว่าเด็กสามารถรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กตามปกติ หรือเด็กไม่สนใจในสถานที่ บุคคล และสิ่งรอบตัวที่เด็กควรสนใจตามวัย เช่น เรียกชื่อก็ไม่ตอบสนอง ไม่ทำตามคำสั่งง่ายๆ และเมื่ออายุ 6-7 ปี ควรแยกแยะความจริงออกจากตามคิดฝันได้ดี
 
6. สมาธิ การเคลื่อนไหว (Attention, motility and coordination)
 
เด็กปกติควรมีความสนใจ หรือมีสมาธิทำอะไรได้นานพอควร ถ้าเด็กมีสมาธิสั้นจะเปลี่ยนความสนใจอย่างเร็วมาก และถ้ามี hyperactivity ด้วยก็จะไม่อยู่นิ่ง ซน เคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา เป็นภาวะที่พบในโรค ADHD (Attention deficit hyperactivity disorder) และมักพบร่วมกับการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อไม่ดีสมวัย ซึ่งเทียบได้ตามตารางพัฒนาการตามอายุที่ควรจะเป็นทั้งของกล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ บางคนก็มีความถนัดซ้ายด้านขวายังไม่แน่นอน เช่น ถนัดมือขวาแต่ถนัดตาซ้ายซึ่งเรียกว่า cross-dominant เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งที่ให้เห็นว่าการพัฒนาของสมองไม่ดีเท่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน
 
7. ความสัมพันธ์กับคนอื่นและการปรับตัว (Interpersonal relationship and coping mechanism)
 
ทั้งจากประวัติและการสังเกตระหว่างตรวจว่า เด็กมีความสัมพันธ์กับพ่อแม่ พี่ น้อง เพื่อน ครู และผู้ตรวจอย่างไร มีความเป็นมิตร ความไว้วางใจ ความร่วมมือ เป็นอย่างไร เวลาเด็กพบปัญหาจะปรับตัวโดยวิธีใด เช่น ปรึกษาผู้ใหญ่ แยกตัว ก้าวร้าว เก็บกด หรือวิธีอื่นๆ
 
8. เชาวน์ปัญญา (Intelligence)
 
ระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหาและการปรับตัวของเด็ก จึงสมควรประเมินทุกครั้งในการตรวจ ในทางคลินิกผู้ตรวจอาจประเมินจากพัฒนาการของเด็กทางด้านภาษาสังคม และ กล้ามเนื้อ เช่น เด็ก 3 ขวบ ควรจะรู้จักสีได้ 3 สี และยังประเมินได้จากผลการเรียน การคำนวณง่ายๆ และถ้าต้องการระดับเชาวน์ปัญญาแน่นอนก็ต้องตรวจวัดระดับเชาวน์ปัญญาด้วยเครื่องมือทางจิตวิทยา
 
การตรวจสภาพจิตในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ผู้ตรวจอาจใช้ของเล่นและการเล่นประกอบการตรวจวินิจฉัยได้ เพราะเด็กอาจแสดงออกด้วยการเล่นได้ดีกว่าการใช้คำพูด การใช้ของเล่นยังทำให้ เด็กรู้สึกผ่อนคลาย และช่วยให้สร้างสัมพันธภาพกับเด็กได้ง่ายขึ้น จึงช่วยให้เด็กให้ความร่วมมือดีขึ้นอีกด้วย
 
การตรวจทางจิตเวชต้องอาศัยความรู้พัฒนาการปกติของแต่ละอายุเพื่อการเปรียบเทียบระหว่างภาวะปกติและภาวะผิดปกติเสมอ ตารางพัฒนาการท้ายบทนี้ สามารถใช้ประกอบในการตรวจ

การตรวจร่างกาย

การตรวจทางจิตเวชจะต้องมีการตรวจร่างกายทั่วไป และในบางครั้งจำเป็นต้องมีการตรวจละเอียดในบางระบบ เช่น ระบบประสาท ทั้งนี้เนื่องจากโรคทางกายจำนวนมากอาจมีอาการและอาการแสดงคล้ายโรคทางจิตเวช และยังอาจพบโรคทางกายร่วมด้วย ในบางครั้งแม้โรคทางกายอาจจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของอาการทางจิตเวชก็ตาม แต่แพทย์อาจพบสิ่งที่ควรแนะนำแก่เด็กและพ่อแม่ เช่น ภาวะทุโภชนาการ ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลรักษาเป็นลักษณะองค์รวม (holistic approach) เสมอๆ
 
บทความโดย: นงพงา ลิ้มสุวรรณ
 
บรรณานุกรม
  1. นงพงา ลิ้มสุวรรณ. วิธีประเมินปัญหาทางจิตเวชในเด็ก ใน: วัณเพ็ญ บุญประกอบ,อัมพล สูอัมพัน, นงพงา ลิ้มสุวรรณ, บรรณาธิการ. จิตเวชเด็กสำหรับกุมารแพทย์(ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2538 : 81-88.
  2. นงพงา ลิ้มสุวรรณ. การตรวจทางจิตเวชในเด็ก. ใน : เกษม ตันติผลาชีวะ,บรรณาธิการ.ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เล่ม 2. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536 : 695-707
  3. วัณเพ็ญ บุญประกอบ. การตรวจสภาพจิตในเด็ก. ใน : วัณเพ็ญ บุญประกอบ,อัมพล สูอำพัน, บรรณาธิการ. จิตเวชเด็กสำหรับกุมารแพทย์. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,2530 : 72-82.
  4. วัณเพ็ญ บุญประกอบ. การตรวจสภาพจิตในเด็ก. ใน : สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา, พูนทรัพย์ บุษปธำรง, นงเยาว์ กูลโฆษะ,ชุทิตย์ ปานปรีชา,บรรณาธิการ. ตำราจิตเวชศาสตร์ ของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2520 : 920-4.
  5. Barker P, Basic child psychiatry. 4th ed. London : Granada Publishing, 1983 : 39-57
  6. Call JD. Child psychiatry : assessment. In : Kaplan H, Sadock B, eds. Comprehensive textbook of psychiatry. 4 th ed. Baltimore : Williams & Wilkins, 1980 : 1614-34.
  7. Goodman JD, Sour JA. The child mental status examination. New York : Basic Books, 1967 :41-85.
  8. Lewis M. Psychiatric assessment of infants, children and adolescents. In : Lewis M, ed. Child and adolescent psychiatry : a comprehensive textbook. Baltimore : Williams & Wilkins, 1983: 447-63.
  9. Simmon JE. Psychiatric examination of children. 2nd ed. Philadelphia : Lea & Feibiger, 1974.