บ้านแตกสาแหรก “ไม่” ขาด

ขัดแย้งถึงจุดไหนควรหย่า ...

·       จุดที่ทนไม่ไหว หรือ จุดที่คุณคิดว่าความสัมพันธ์เชิงสามีภรรยาระหว่างคุณสองคนไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้แล้ว

·       หลายคนมักบอกว่าทนเพื่อลูก อยากให้ลูกมีทั้งพ่อทั้งแม่

แล้วลูกจะแย่ไหม ... ทนอยู่ต่อเพื่อลูกดีไหม?

·       เด็กที่เติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่จะทุกข์มากกว่า เด็กที่พ่อแม่หย่ากันแล้วความขัดแย้งสิ้นสุดลง

·       ลูกจะไม่แย่ ถ้าหย่าแล้วเขายังคงได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อและแม่ของเขาต่อไป

·       สิ่งที่ช่วยลูกคือ ความมั่นคงทางอารมณ์ การที่เด็กไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง การที่เขายังคงได้รับความรัก ความเข้าใจต่อไป และความต้องการทางอารมณ์จิตใจของเขาได้รับการตอบสนองจากทั้งพ่อและแม่

ถ้าตัดสินใจหย่าแล้ว ควรดูแลลูกอย่างไร?

·       เมื่อหย่ากันแล้วความเป็นสามีภรรยาสิ้นสุดลง แต่ความเป็นพ่อแม่ไม่ได้สิ้นสุดด้วย ในชีวิตของลูกเขายังต้องการทั้งคุณพ่อและคุณแม่

·       ทั้งคุณพ่อและคุณแม่สามารถพัฒนาบทบาทใหม่ขึ้นมาได้ คือ การเป็นผู้ร่วมงานกัน งานนี้ก็คือการเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด

·       ให้เด็กรู้ว่าพ่อรักเขา และ แม่ก็รักเขา แต่ผู้ใหญ่มีความจำเป็นของผู้ใหญ่ที่ทำให้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ไม่ได้เป็นความผิดของหนูที่พ่อแม่แยกกันอยู่

·       ยืนยันกับเด็กว่าจะได้พบและใช้เวลากับทั้ง 2 คนแน่นอน มีเวลาชัดเจน เช่น จ.-ศ. อยู่กับแม่ ส.-อ. อยู่กับพ่อตอนเปิดเทอม พอปิดเทอม จ.-ศ. อยู่กับพ่อ ส.-อ. อยู่กับแม่ (เช่นกรณีที่โรงเรียนของลูกใกล้ที่อยู่ของแม่มากกว่า) ตกลงแผนการเลี้ยงดูให้ชัดเจนก่อน จึงแจ้งเด็ก เมื่อแจ้งเด็กแล้วทำตามที่ได้ตกลงไว้อย่างสม่ำเสมอ

·       ตัดสินใจเรื่องๆ ที่สำคัญสำหรับลูกร่วมกัน เช่น ลูกจะได้ไปค่ายตอนปิดเทอมหรือไม่ ลูกควรเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนไหน ลูกไปงานวันเกิดที่บ้านเพื่อนได้ไหม

·       แม้พ่อแม่จะอยู่คนละที่แต่ควรประสานงานเรื่องการเลี้ยงดูลูกตลอด เช่น ขณะที่อยู่กับพ่อลูกมีไข้ไปหาหมอ หมอให้ยาฆ่าเชื้อมากิน 7 วัน พอย้ายมาอยู่กับแม่ ต้องกินยาต่ออีกกี่วัน หมอแจ้งว่าอย่างไรบ้าง พ่อควรประสานงานกับแม่ตอนนำเด็กไปส่งที่บ้านแม่

·       ใช้เวลาร่วมกันพ่อแม่ลูกในโอกาสสำคัญ เช่น วันเกิดลูก วันที่ลูกเรียนจบ วัดหยุดปิดเทอมบางช่วงไปต่างจังหวัดด้วยกัน

·       ไม่ว่าอยู่บ้านไหนอนุญาตให้เด็กเอาของสำคัญบางอย่างของเขาติดตัวไปด้วย เช่น ตุ๊กตาที่เด็กติด

·       อย่าต่อว่า หรือ พูดด้านที่ไม่ดีของอีกฝ่ายให้ลูกฟัง ควรชื่นชมและพูดด้านดีของอีกฝ่ายให้ลูกรับรู้ เพราะลูกก็อยากรู้สึกดีกับพ่อแม่ของตัวเอง

·       ปัญหาของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนจัดการ อย่าเอาไประบายให้เด็กฟัง เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเขา เขายังเล็กเกินกว่าจะแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ได้

 

แม้จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยา แต่ความร่วมมือกันในการเลี้ยงดูลูกเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็ก