นอนละเมอ

 

มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่นอนละเมอ มีทั้งละเมอพูด ละเมอเดิน และละเมอกรีดร้อง เวลาลูกละเมอพูดมักจะไม่เป็นปัญหาและดูน่ารัก แต่หากลูกมีละเมอเดินหรือละเมอกรีดร้อง จะสร้างความหนักใจให้พ่อแม่เป็นอย่างมาก

- ละเมอพูด พบได้มากที่สุดพบได้ประมาณ 50% ของเด็กระหว่างอายุ 3- 13 ปี มักเกิดร่วมกับละเมอเดิน และละเมอกรีดร้อง ละเมอพูดนั้นไม่เป็นอันตรายต่อเด็กแต่อย่างไร แต่อาจทำให้ความลับของคนอื่นรั่วไหลได้

- ละเมอเดิน พบได้ทั้งละเมอเดิน และละเมอทำพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ละเมอไปปัสสาวะในตู้เสื้อผ้า ละเมอเดินออกไปนอกบ้าน

- ละเมอปีนหน้าต่าง หรือเล่นของมีคม เมื่อตื่นขึ้นมาเด็กจะจำไม่ได้ว่าตัวเองได้ทำอะไรไป พ่อแม่บางครอบครัวจัดการกับพฤติกรรมนี้โดยการปลุก ซึ่งจะทำให้เด็กตื่นขึ้นมาด้วยความสับสนและในเด็กบางคนจะมีอาการตื่นตระหนกมากจนควบคุมตัวเองไม่ได้ ก่อให้เกิดอันตรายเพิ่มขึ้นอีก
ละเมอกรีดร้อง เด็กจะกรีดร้องทั้งๆ ที่ยังหลับอยู่ โดยเด็กไม่รู้ตัวและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฝันร้าย บ่อยครั้งที่ทำให้พ่อแม่ตกใจและจัดการเหตุการณ์ไม่ได้

แนวทางสำหรับครอบครัวในการดูแลลูกละเมอ

1 ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องระวัง เช่น การตกจากที่สูง หรือ บาดเจ็บจากของมีคม ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกนอนเตียงชั้นบนในกรณีที่เป็นเตียงสองชั้น หากเป็นไปได้ห้องนอนควรจะอยู่ชั้นล่าง ประตูหน้าต่างควรปิดให้แน่นหนา ของมีคมควรเก็บไว้อย่างมิดชิด
2 ในระหว่างวันอย่าให้ลูกเหนื่อยจนเกินไป หรืออย่าให้อดนอน เป็นไปได้ควรให้เด็กได้มีเวลานอนพักตอนกลางวัน เพราะการอดนอนจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการนอนละเมอมากขึ้น
3 ในกรณีที่การละเมอเกิดขึ้นเป็นประจำ พ่อแม่ควรจดบันทึกเวลาที่เด็กละเมอ แล้วให้ปลุกเด็กตื่นก่อนเกิดอาการประมาณครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นจึงให้เด็กนอนต่อ
4 การใช้ยาควรอยู่ในการพิจารณาของแพทย์เป็นกรณีๆ ไป

สุดท้ายหากไม่มั่นใจและกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกควรปรึกษาแพทย์

ทีมจิตเวชเด็ก รามา